เชียงราย-เผ่าอาข่าเป็นชนกลุ่มที่มีบรรพบุรุษดังเดิม อยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ในประเทศจีนเรียกว่า “ฮานี หรือ โวน” ทีการอพยพมาเส้นทาง 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก เข้าประเทศพม่าเขตเชียงตุง และเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง มาตั้งหลักปักฐานเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง และเส้นทางที่สอง อพยเข้าบริเวณตะเข็บชายแดนอำเภอแม่สาย
1 ม.ค.2562 ปัจจุบันชนเผ่าอาข่าได้กระจ่ายอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ 5 จังหวัดภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก แพร่ มีอาข่าบางส่วนได้อพยพไปอยู่จังหวัดน่าน พิษณุโลก และหลายจังหวัดของประเทศไทย เพราะไปใช้แรงงานตามจังหวัด
ประเทศไทยแบ่งชนเผ่าอาข่าได้เป็น 8 กลุ่ม
กลุ่มอู่โล้อาข่า
เป็นกลุ่มอาข่าที่เข้ามาประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก โดยเข้ามาทางภาคเหนือของประเทศไทย อาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดเชียงราย และกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดตาก กลุ่มอู่โล้อาข่าส่วนมากยังนับถือประเพณีดั้งเดิมอยู่ กราบเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และบางส่วนได้หันไปนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม
กลุ่มลอมี้อาข่า
เป็นกลุ่มอาข่าที่เคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านม่อนดอยหมี จากสำเนียงและการเรียกม่อนดอยหมีไม่ชัดเจน จึงทำให้เกิดการเรียกเพี้ยนมาเป็น ดอยลอมี้ ต่อมาอาข่ากลุ่มนี้ได้เข้ามาในเมืองไทย เขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และได้ตั้งชุมชนหมู่บ้านพญาไพรเล่ามา (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย) เมื่อได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยอาข่ากลุ่มอื่นๆ เช่น เปี๊ยะอาข่า อู่โล้อาข่า มักเรียกอาข่ากลุ่มนี้ว่า ลอมี้อาข่า ซึ่งเรียกตามถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมตอนอยู่ในประเทศพม่า
กลุ่มผะหมี๊อาข่า
การเรียกชื่อกลุ่มผะหมี้อาข่ามีความเป็นมาที่น่าสนใจ เพราะมีตำราหรือหนังสือบางเล่มได้เขียนไว้ว่า ชื่อกลุ่มผะหมี้อาข่าเกิดจากการเรียกชื่อดอยภูเขาหิน มีหน้าผากว้างเป็นที่อยู่อาศัยของหมี ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แต่ความเป็นจริงการเรียกชื่อผะหมี้อาข่าไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ของกลุ่มคนผะหมี้เอง ชื่อกลุ่มผะหมี้อาข่านั้นเกิดจากชนเผ่าอาข่ากลุ่มนี้ที่อพยพจากประเทศจีนเข้ามาประเทศพม่า แล้วเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นถ้ำหมี เมื่อไปอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นจึงถูกขนานนามว่าอาข่าถ้ำหมี แต่ถูกเรียกเพี้ยนไปเป็นผะหมี้
ในประเทศไทยมีชื่อเรียกอาข่ากลุ่มนี้หลายชื่อ เช่น หละบื่ออาข่า หรืออาข่าจีน แต่ในประเทศจีนและประเทศพม่า อาข่ากลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “อู่เบี่ยะอาข่า” แปลเป็นไทยว่ากลุ่มอาข่าที่ใส่หมวกแบน เพราะลักษณะการใส่หมวกแบนออกสองข้างหัว ในประเทศจีนเรียกกลุ่มอาข่านี้ว่า “หม่อโป๊ะกู่” แปลว่า อาข่ากลุ่มที่มีตระกูลหม่อโป๊ะ บรรดากลุ่มอาข่าด้วยกันยอมรับอาข่ากลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการค้าขาย ด้วยลักษณะนิสัยชอบค้าขาย ทำงานขยันขันแข็ง หนักเบาเอาสู้ อาข่ากลุ่มนี้จึงนิยมส่งลูกหลานเรียนภาษาจีนและไปทำงานในประเทศไต้หวัน ผะหมี้อาข่าที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นชุมชนใหม่ มีเพียงจังหวัดเชียงรายและบางส่วนอพยพกระจายไปอยู่ที่จังหวัดตาก ในจังหวัดเชียงรายประกอบไปด้วย ชุมชนบ้านผาหมี บ้านผาฮี้ บ้านกิ่วสะไตเหนือและใต้ บ้านหล่อชา และบ้านแม่จันใต้ ส่วนที่จังหวัดตากอยู่ที่บ้านร่มเกล้าสหมิตร
กลุ่มหน่าค๊าอาข่า
ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกลุ่มอู่โล้อาข่าที่ใส่หมวกแหลมๆ ตั้งฉากลักษณะตรง เพราะกลุ่มอาข่านี้มีจำนวนมากและมักพบได้ทั่วไปในเขตภาคเหนือของประเทศไทย แต่ยังมีกลุ่มอาข่าอีกหลายกลุ่มยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป อาจด้วยจำนวนประชากรน้อย ลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ขี้อาย หรือแม้กระทั่งการปกปิดตัว นั่นคือ หน่าค๊าอาข่า เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาข่า ที่อาศัยอยู่ในประไทย ทั้งหมดอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ที่มาของการเรียกชื่ออาข่ากลุ่มนี้ว่า “หน่าค๊าอาข่า” เนื่องจากชื่อนี้เป็นชื่อแม่น้ำเดิมที่เคยอาศัยตอนอยู่ในประเทศพม่าในบริเวณลุ่มแม่น้ำหน่าค๊า เมื่ออาข่ากลุ่มนี้ไปอาศัยในบริเวณนั้น ก็ได้ชื่อว่า หน่าค๊าอาข่าตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มเปี๊ยะอาข่า
การที่อาข่ากลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเปี๊ยะอาข่า เพราะผู้นำที่นำชนกลุ่มนี้ มีตำแหน่งสมัยอยู่ในดินแดนไทยใหญ่เป็น “เปี๊ยะ หรือพญา” อาข่าที่เข้ามาในเมืองไทย เกือบทั้งหมดมาทางสายเจ่อเหว่ย จะมีเพียงอ้าจ้าอาข่าเท่านั้นที่มาทางเจ่อจ้อ ปกติอาข่ากลุ่มนี้เรียกตนเองว่าอู่โล้ด้วย เพราะการแต่งกายมีหมวกแหลม ลักษณะตั้งฉากตรง และเป็นหนึ่งในสามกลุ่มอาข่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่มีลักษณะการใส่หมวกแหลม นอกเหนือจากอ้าจ้อและอู่โล้ โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอู่โล้อาข่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการเย็บผ้า ลายเย็บผ้า คำพูด สำเนียง การประกอบพิธีกรรม ฯลฯ แต่อาจมีความแตกต่างในบางจุด เช่น หมวกที่สั้นกว่ากลุ่มอู่โล้อาข่า เป็นต้น
กลุ่มอ้าเค้ออาข่า
เป็นกลุ่มอาข่าหนึ่งที่เดินทางมาจากประเทศจีนบริเวณสิบสองปันนา ก่อนเข้าสู่ประเทศพม่าในบริเวณเมืองลา และอพยพกระจายไปอยู่ในเชียงตุง ท่าขี้เหล็กและเข้ามาในเขตไทย ปัจจุบันอ้าเค้ออาข่ามีจำนวนมากที่ประเทศพม่า บริเวณตั้งแต่เมืองลาลงไปเมืองว้า เมืองยอง และมีจำนวนหนึ่งหนีเข้ามาประเทศไทย การที่กลุ่มอ้าเค้ออาข่ามีชื่อกลุ่มแบบนี้ เพราะการถูกรุกไล่จากชนชาติอื่นๆ จากการบอกเล่าของพิ้มาเน่วส่อ ก๊อคือ แห่งบ้านอ้าเค้อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พิ้มาเล่าว่า อ้าเค้อเป็นกลุ่มคนอาข่ากลุ่มเดียวที่เข้ามาและมีอยู่ในประเทศไทย แต่เดิมอ้าเค้อใช้ชื่อเรียกตนเองว่า “อ่อเจยอก๊อคื้อ” หรือ “ก๊อคื้ออาข่า” จากการศึกษาการขนานนามของกลุ่มอาข่าต่างๆ มักใช้ว่า “หญ่า ญี่” ยกเว้นกลุ่มอ้าเค้ออาข่าที่ใช้เรียกว่า “อ่อเจยอก๊อคื้อ” และชื่ออ้าเค้อมาเกิดขึ้นที่สิบสองปันนา จากการถูกรุกไล่จากชนชาติจีน ไล่อาข่ากลุ่มนี้เป็นภาษาจีนว่า “เขอ” ซึ่งแปลว่าไป และชนชาติไทยลื้อได้ถามคนอาข่ากลุ่มนี้ว่าไปไหน และอาข่ากลุ่มนี้ได้ตอบว่า กลุ่มจีนไล่ว่าเขอจึงหนีมา ชนชาติไทยลื้อจึงเรียกอาข่ากลุ่มนี้ว่า อาข่า “เขอ”
กลุ่มอ้าจ้ออาข่า
การเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่าเป็น “กลุ่มอ้าจ้อ” เพราะว่าตามหลักการนับชื่อบรรพชนอาข่า หรือที่เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “จึ” เป็นลูกหลานของ “จ้อเปอะ” การเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า “อ้าจ้อ” เป็นคำเก่าแก่ที่เรียกตั้งแต่สมัยอยู่ประเทศจีน ปัจจุบันทั้งในประเทศจีน พม่า ไทย ลาว และเวียดนามก็เรียกกลุ่มนี้ว่า “อ้าจ้อ” ด้วยเหมือนกัน การที่มีคนเข้าใจว่าการเรียกขนานนามกลุ่มอาข่านี้ย่อมาจากคำว่า “อ้ามาจากอาข่า” จ้อมาจากย่อจ้อ ซึ่งแปลว่ากลุ่มอาข่าที่กลายพันธุ์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิด ไม่เป็นความจริง การนับถือบรรพชนของคนอาข่ากลุ่มนี้ สามารถนับได้ เจ้อเจ่อ, เจ่อจ้อ, จ้อเปอะ, เปอะจื่อ, จื่อลุ่ม, ลุ่มแอ เป็นต้น เมื่อมาถึงลุ่มแอ มีพี่น้องอีกคน นั้นคือลุ่มแต วันนี้กลุ่มอาข่ากลุ่มนี้จึงมีนามสกุลเป็นลุ่มแอ กับลุ่มแต ซึ่งลุ่มแอกับลุ่มแตเป็นพี่น้องกัน และประชากรที่อยู่ในเมืองไทยเป็นเหลนของเจ่อจ้อ สืบต่อๆ กันมาเป็นรุ่นที่ห้า
กลุ่มอูพีอาข่า
การแบ่งกลุ่มประเภทของคนอาข่าเกิดจากหลายสาเหตุ และหนึ่งในเหตุผลหลักก็คือ การแต่งกายของผู้หญิง โดยดูจากเครื่องประดับ ความสวยงามและลักษณะทรงหมวก ซึ่งเป็นที่มาของการแบ่งกลุ่มที่หลากหลายในปัจจุบัน อู่พีอาข่า เป็นกลุ่มอาข่าที่ถูกแบ่งเพราะการแต่งกายต่างจากกลุ่มอาข่าอื่น หากมองเพียงข้างหน้าหมวกที่ผู้หญิงอาข่ากลุ่มนี้ประดับ ก็อาจเข้าใจว่าเป็นลอเมี๊ยะอาข่า เพราะมีความเหมือนกับการแต่งกายของคนอาข่าลอเมี๊ยะมาก กล่าวคือ มีลูกต้มกลมห้อยเรียงลงมาเหมือนกัน แต่หากมองและสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่า มีหลายจุดที่ต่างกัน เช่น หมวกด้านหลังของกลุ่มลอเมี๊ยะมีแผ่นเงิน ในลักษณะตรง ขณะที่กลุ่มอู่พีอาข่ามีหมวกแหลมกลมข้างหลังห้อยลงบริเวณคอ นอกจากการเรียกชื่อกลุ่มว่า “อู่พี” ก็ถูกจำแนกจากลักษณะการแต่งกายตรงหมวก นั่นคือ คำว่า “อู่” มาจากคำเต็มว่า “อู่ตู่” แปลว่าหัว และ” พี” เป็นคำโดด ที่มีความหมายว่าแบก เมื่อมารวมกันคำว่า “อู่พี” จึงหมายถึงกลุ่มอาข่าที่มีการแต่งกาย (หมวกผู้หญิง) ในลักษณะการแบก
ภาษาที่ใช้
ภาษาของเผ่าอาข่าจัดอยู่ในสาจา ยิ (โลโล) ของตระกูลพม่า-ธิเบต มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาษา และต้นกำเนิดที่แน่ชัดเป็นการพูดสืบทอดต่อๆกันมา
ภาษาของกลุ่มอู่โล้อาข่า
ภาษาอาข่าของกลุ่มอู่โล้อาข่าถือว่าเป็นภาษากลางของทุกกลุ่มอาข่า ด้วยการออกเสียงระดับเดียวกัน ฟังออกจะแข็งๆ การออกเสียงไม่ค่อยมีความสลับซับซ้อน กล่าวคือ พูดเป็นธรรมชาติ ไม่มีการปิดลมจมูก หรือใช้ลิ้นในการบังคับเสียง และเสียงที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดจากลำคอ จากความง่ายในการพูด ออกเสียง จึงทำให้ภาษาอู่โล้เป็นภาษากลางในการสื่อสารไปโดยปริยาย และสามารถพบเห็นกลุ่มอาข่าต่างๆมาใช้ภาษาอู่โล้ในการสื่อสารทั่วไป
ภาษากลุ่มผะหมี๊อาข่า
ภาษาพูดของกลุ่มผะหมี้อาข่า จะไม่พูดดัง เสียงจะมีความนุ่มนวล ไพเราะและมีสำเนียงการพูดเหมือนกับลอมี้อาข่าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียกชื่อสัตว์ สิ่งของ น้ำหนักเสียง จุดเกิดเสียง ซึ่งสายสัมพันธ์ด้านภาษาและคำพูด ตลอดถึงวัฒนธรรมความเป็นมาของกลุ่มลอมี้และผะหมี้ มีส่วนทำให้สองกลุ่มอาข่ามีความคล้ายคลึงกัน
ภาษากลุ่มหน่าค๊าอาข่า
อาข่ากลุ่มนี้มีภาษาของตนเอง จัดอยู่ในสาขาพม่า-โลโล กลุ่มตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า มีความสัมพันธ์ทางภาษากับพวกมูเซอและชาวลีซอ มีบางคำที่ยืมมาจากภาษาจีน และถึงแม้ว่ากลุ่มหน่าค๊าอาข่านี้จะมีภาษาเป็นของตนเอง แต่ไม่มีตัวอักษรใช้
ภาษากลุ่มเปี๊ยะอาข่า
ภาษาพูดของเปี๊ยะอาข่ากลุ่มนี้ มีลักษณะการพูดเร็ว เสียงสั้น และดัง การพูดคุยสำเนียงจะเหมือนกับกลุ่มอู่โล้อาข่าทั่วไป น้ำเสียงมาจากลำคอ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ามีสำเนียงการพูดจาเหมือนกับกลุ่มอู่โล้ทั่วไป แต่มีคำพูดหลายคำที่มีการใช้คำหมายไม่เหมือนกัน เช่นคำว่า ตัด กัด เป็นต้น
ภาษากลุ่มอ้าเค้ออาข่า
กลุ่มอ่าเค้ออาข่ามีภาษาต่างจากคนอาข่าทั่วไปอย่างสิ้นเชิง จนไม่สามารถสื่อสารกันได้ สายสัมพันธ์ของอ้าเค้อไปทาง เท่อ เพอะโซว้ะ, เท่อ เพอะ หมื่อ ต่างจากอาข่ากลุ่มอื่นๆ ที่มาทาง เท่อ เพอะ เม้อง ทำให้สายสัมพันธ์ห่างเกินกว่า 50 ชั่วอายุคน อย่างไรก็ตามอ้าเค้ออาข่ามีลักษณะคำพูดคล้ายกับกลุ่มอาข่า ที่อาศัยอยู่ที่หงเหอ ในประเทศจีน การสื่อสารกันระหว่างกลุ่มคนอ้าเค้อ มักพูดภาษาอู่โล้ได้ ซึ่งเป็นภาษากลาง แต่อาข่ากลุ่มอื่นๆ ในเมืองไทยไม่สามารถพูดภาษาอ้าเค้อได้เลย
ภาษากลุ่มอ้าจ้ออาข่า
กลุ่มอ้าจ้ออาข่า นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาข่าที่มีทั้งประวัติศาสตร์และตำนาน ภาษาของอาข่ากลุ่มนี้ หากไม่คุ้นเคยมักงงและไม่เข้าใจ เพราะกลุ่มอาข่ากลุ่มนี้มักพูดเร็ว รวนและดูเหมือนพูดภาษาอาข่าไม่ชัด หากไม่ตั้งใจฟังอาจจะฟังไม่ออก อ้าจ้ออาข่าได้รับอิทธิพลทางด้านภาษาไทใหญ่ ตอนอยู่ประเทศพม่า จะสังเกตได้ว่ามักพูดภาษาไทใหญ่ได้ดี การออกเสียงโดยมากมักต่างกันกับกลุ่มอาข่าอื่นๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มเยาวชน และเด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะเด็กที่ผ่านการศึกษาในสถานศึกษา มักปรับเปลี่ยนภาษาพูดแบบอู่โล้อาข่าเพราะได้ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอาข่ากลุ่มนี้ และมีแนวโน้มที่ภาษาอ้าจ้ออาจหายเพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยพูดคุยกัน
ภาษากลุ่มอูพีอาข่า
กลุ่มอู่พีอาข่ามีประวัติศาสตร์ทั้งในด้านพื้นที่อยู่อาศัย (ตอนอยู่ในประเทศพม่า) การอพยพเข้ามาสู่เมืองไทย ไปสัมพันธ์กับลอเมี๊ยะอาข่า ซึ่งเข้ามาพร้อมกับกลุ่มลอเมี๊ยะที่เข้ามาทาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เช่น ลอเมี๊ยะอาข่าบ้านป่ากล้วย จึงมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น ภาษาพูด กลุ่มอู่พีอาข่ารุ่นหลังเข้าใจว่าตนเองเป็นกลุ่มลอเมี๊ยะเพราะได้รับอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษาพูด หรือความใกล้เคียง ในด้านสายบรรพชน จนในที่สุดถูกดูดกลืนไป ภาษาพูดอาข่ากลุ่มนี้มักพูดเสียงนุ่ม แต่ดัง แต่สำเนียงจะเหมือนกับล่อเมี๊ยะอาข่าทุกประการ มีการออกเสียงเหมือนกับไม่ชัด มีความต่างในด้านการออกเสียง เช่น เรียกชื่อไก่ เสาบ้าน เป็นต้น
วิถีชีวิต-ลักษณะบ้านเรือน-การละเล่น-ชีวิตครอบครัว
วิถีชีวิตด้านครอบครัวอาข่าใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย หาเช้ากินค่ำ เวลาไปทำไร่หลังจากที่พ้นจากประตูหมู่บ้าน ก็จะมีการร้องเพลงไปด้วยผู้ชายจะร้องว่า โอ้เรา เวลาไปไร่ หรือไปทำอะไรก็รู้สึกเหงาเหลือเกิน เราอยากได้คนๆหนึ่ง มาอยู่กับเรา จะได้หายเหงา และเมื่อไปถึงไร่ของตนเองก็จะร้องเพลงโต้ตอบกับฝ่ายผู้หญิง โดยฝ่ายหญิงอาจทำไร่อยู่คนละฝั่งกับฝ่ายชาย เวลาจะกลับก็ล่ำลากันด้วยเสียงเพลง แล้วจะนัดกันตอนกลางคืน ที่ลานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นชีวิตที่มีสีสันมากแต่สมัยนี้การใช้ชีวิตแบบนี้เริ่มหาดูได้ยาก เนื่องจากการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา สิ่งเหล่านี้ก็เลยถูกกลืนไป เหลือเพียงแต่คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน การละเล่นของเผ่าอาข่าแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
การละเล่นในพิธีกรรม
ลูกข่าง (ฉ่อง) เป็นการละเล่นของอาข่าที่เล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น มีปีละครั้ง เป็นการละเล่นของผู้ชาย ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยเมื่อถึงวันที่มีพิธีกรรมผู้ชายจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า เพื่อจะไปตัดไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นลูกข่าง เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะเริ่มทำลูกข่างโดยเหลาปลายไม้ให้ปลายแหลมๆ บางคนจะใส่เหล็กตรงปลาย เพื่อให้ลูกข่างหมุนได้นาน จากนั้นก็จะมาเล่นแข่งกันโดยแบ่งเป็นสองฝ่ายๆ ละกี่คนก็ได้
โล้ชิงช้า (หล่าเฉ่อบี่เออ) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปี หลังจากที่ทำการเพาะปลูกข้าว หรือข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยชิงช้าที่ทำจะมี 3 ลักษณะ คือ ชิงช้าใหญ่ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น (หล่าเฉ่อ), ชิงช้าหมุน (ก่าลาหล่าเฉ่อ), และชิงช้าขนาดเล็กที่สร้างไว้หน้าบ้านของแต่ละครอบครัว (เออเลอ) นอกจากให้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการโล้เพื่อเร่งผลผลิตต่างๆ ที่เพาะปลูกให้เจริญงอกงามอีกด้วย
การเต้นรำ (บ่อฉ่องตูเออ) เป็นการละเล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น โดยทั้งชายและหญิงจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าที่งดงาม แล้วมารวมตัวกันที่ลานหมู่บ้านหรือที่ที่มีพื้นที่กว้างขวาง โดยจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเต้นรำ ดังนี้ กลองที่ทำมาจากไม้ หนังวัว-กวาง (ถ่อง), ฆ้อง (โบวโล), ฉิ่ง (แจและ), และกระบอกไม้ (บ่อฉ่อง) สำหรับลักษณะการเต้นก็มีหลายแบบด้วยกัน ดังนี้
– เต้นเป็นวงกลม โดยทุกคนจะเต้นเป็นจังหวะตามเสียงกลอง โดยจะเต้นจากด้านซ้ายไปยังด้านขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน
– เต้นแบบราวกระทบไม้ เป็นการเต้นที่เน้นในเนื่องของจังหวะ โดยผู้หญิงจะมีกระบอกไม้ไผ่สำหรับกระทบไม้แล้วให้ เกิดเสียงดัง และผู้ชายก็อาจเต้นเป็นวงกลมล้อมรอบผู้หญิงก็ได้
สะบ้า(อ๊ะเบอฉ่อเออ) เป็นการละเล่นของผู้หญิง นิยมเล่นกันในช่วงที่มีงานประเพณี หรืออยู่กรรม เพราะชาวบ้านจะมีเวลาว่าง โดยจะเก็บผลสะบ้าจากป่ามาแล้วเล่นกันเป็นทีม
การละเล่นทั่วไป
สามล้อ (ลาหล่อ) เป็นการละเล่นที่เด็กชนเผ่าอาข่านิยมเล่นกันมาก ค่อนข้างอันตราย เพราะถ้าเด็กทำหรือประดิษฐ์สิ่งของไม่แน่น อาจทำให้เกิดอันตรายได้ในการทำจะไปหาตัดท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควรมา จากนั้นก็ตัดไม้มามัดหรือตอกให้แน่น โดยข้างหน้าจะมีเพียงล้อเดียว และข้างหลังมี 2 ล้อ ในเรื่องของความเร็ว เด็กๆ จะใช้เปลือกไม้ชนิดหนึ่ง นำเปลือกไม้มาแล้วทุบ หรือตำให้ละเอียดแล้วทาบริเวณล้อ เพราะเปลือกไม้ชนิดนี้จะเหนียว และลื่น ซึ่งจะทำให้สามล้อวิ่งได้เร็ว อีกทั้งยังเอาเปลือกไม้เหล่านี้มาดองเก็บไว้ในขวดพลาสติก เพื่อเอาไว้ใช้ในคราวต่อๆ ไป อีกทั้งเด็กอาข่าชอบไปกัดเปลือกไม้แล้วเคี้ยวๆ ให้ละเอียด จากนั้นเอามาแปะที่ล้อ ไม้โกงกาง (หม่อหน่อ) เป็นของเล่นที่ค่อนข้างหวาดเสียวสำหรับบุคคลที่ยังไม่เคยเล่น เพราะจะต้องจัดทรงให้ได้ก่อน และก็สูงอีกด้วย
ลานวัฒนธรรม ลานชุมชน การละเล่นในลานวัฒนธรรมเป็นการละเล่นในเวลาค่ำคืนใต้แสงพระจันทร์ที่สวยงาม โดยหลังจากกลับมาจากการทำไร่ทำสวนทั้งหนุ่มสาวก็จะเตรียมตัวจะมาที่ลานวัฒนธรรม (แดข่อง) โดยแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า เพื่อร้องรำทำเพลง และมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้อาวุโสเรื่องประเพณีวัฒนธรรม
การแข่งขันสูบยา (ห่อฉี่ห่อถ่าเออ) เป็นการละเล่นของผู้อาวุโสในยามว่างๆ โดยผู้อาวุโสจะมารวมตัวกันแล้วสูบยาขื่นให้แดงที่สุด จากนั้นก็มีการทายปัญหาเล่น หลังจากทายปัญหาเสร็จแล้ว มาลองสูบดูว่าของใครยังดับ ถ้าดับถือว่าคนนั้นแพ้ แต่ถ้าของใครยังไม่ดับก็จะถือว่าชนะ
ปั้นถ้วย (อู่หม่าแตเออ) เป็นการเล่นของเด็กที่ต้องใช้ในพิธีกรรม คือ จะต้องสวดคาถาเวลาที่คนแก่เสียชีวิตลง ฉะนั้นถือเป็นการละเล่น ที่มีความสำคัญมากของอาข่า โดยเด็กจะขุดดินเหนียวมาแล้วเอาศอกตำลงตรงกลางดินเหนียวให้เป็นรู และลักษณะคล้ายๆ กับถ้วย แล้วเด็กก็จะใส่น้ำลงไป
วิถีชีวิตด้านครอบครัว
โครงสร้างครอบครัวของชนเผ่าอาข่า มีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะเป็นผู้สืบสายวงศ์ตระกูล มีการนับลำดับชื่อบรรพบุรุษ เรียกว่า “จึ” ทำให้การขยายครอบครัวของอาข่าเป็นการขยายออกทางบิดา ฉะนั้นผู้ชายในครอบครัวอาข่า จึงมีความจำเป็นทีต้องเรียนรู้ลำดับชื่อของบรรพบุรุษ ตลอดจนพิธีกรรมประเพณีของครอบครัว เพื่อจะได้สืบสานและถ่ายทอดให้กับน้องหรือลูกหลานต่อไป ความสำคัญในการถือสายโลหิตของชนเผ่าอาข่านั้น เมื่อตายแล้วทุกคนต้องไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือเป็นข้อกำหนด ห้ามแต่งงานในตระกูลที่เหมือนกัน (สายโลหิตที่ใกล้กัน) กล่าวคือ สายโลหิตต้องห่างกัน 7 ชั่วโคตร ถึงจะแต่งงานกันได้ แต่ในกรณีที่สามีภรรยาแต่งงานแล้ว ไม่มีบุตรชายในการสืบสายตระกูล ก็มีความจำเป็นที่ต้องแต่งงานใหม่ เพื่อให้กำเนิดบุตรชายในการสืบสายตระกูลต่อไป
วิถีชีวิตด้านสังคมและการปกครอง
ชนเผ่าอาข่าจะให้เกียรติกับผู้อาวุโลกว่า เพราะถือว่ามีอำนาจในการตัดสินใจ การเข้าสังคมต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะคอยเป็นผู้ช่วยเหลือ สนับสนุน และเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ
ระบบโครงสร้างทางสังคมของอาข่า
เจ่วมา เป็นผู้นำศาสนาของชุมชน มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างชุมชน จึงเป็นผู้นำหลักในการ บริหาร ตามโครงสร้างชุมชนอาข่าแบบดั้งเดิม ตำแหน่งเจ่วมา นี้ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือการสืบสายโลหิต ก็ได้ เจ่วหย่า เป็นตำแหน่งที่รองลงมาจาก “เจ่วมา” ซึ่งตำแหน่งนี้ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็น “เจ่วมา” มาก่อน
จิบ่า-บาจี่ เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกกับช่างตีเหล็กของหมู่บ้าน เนื่องจากตำแหน่งนี้ต้องมีการผลิต หรือซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตรของชุมชนทุกชนิด
พิมา เบ้วหม่อ เป็นตำแหน่งของหมอสวดพิธีกรรมทางศาสนา ทำหน้าที่ในการสวดพิธีตาม งานต่างๆ ตำแหน่งนี้เปรียบเสมือน พระ ในสังคมของคนไทย
หน่าเหง่อ มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ และเป็นไกล่เกลี่ยคู่กรณี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในชุมชนอาข่า
ยี้ผ่า เป็นตำแหน่งหมอทรง มีหน้าที่ในการรักษาคนไข้ คนไม่สบายในชุมชน โดยใช้ยาสมุนไพร และการเข้าทรง
ขะมา หละจ่า เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ทำหน้าที่ประสานงานกับบุคคลภายนอก ปัจจุบันเปรียบเสมือน ผู้ใหญ่บ้านทางการ อย่างไรก็ตามโครงสร้างการปกครองของอาข่าในประเทศไทย หลายหมู่บ้านยังมีการใช้รูปแบบการปกครองนี้อยู่
วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ
ชนเผ่าอาข่าเป็นกลุ่มชนที่มีความขยันเป็นอย่างมาก ทำอาชีพทางกสิกรรม เช่น การปลูกพืชไร่ เป็นการทำเพื่อยังชีพ กล่าวคือ เป็นการผลิตเพื่อบริโภคเอง แต่หากปีไหนได้ผลผลิตเยอะ ก็จะนำไปแบ่งขาย ในพื้นที่ไร่จะมีการปลูกพืชนาๆ ชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ และพืชผักเพื่อการบริโภค เป็นต้น เทคนิคในการปลูก คือ จะผสมเมล็ดพันธ์ต่างๆ คลุกเคล้า และปลูกพร้อมข้าวในไร่ของตนผืนเดียว ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ชนเผ่าอาข่ายังนิยมเลี้ยงสัตว์จำพวก หมู เป็ด ไก่ แพะ สุนัข เป็นต้น เพื่อใช้บริโภคและใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งาน ได้แก่ วัว ควาย ม้า เป็นต้น
ลักษณะบ้านเรือน
ชนเผ่าอาข่า เป็นชนเผ่าที่นิยมอาศัยอยู่บนที่สูง การตั้งชุมชนของอาข่าจะมีการเลือกทำเล พร้อมทั้งมีการเสี่ยงทาย โดยการใช้ไข่ไก่ เรียกว่า “จ้ออูแจเออ” ซึ่งการเสี่ยงทายนี้จะทำโดยการโยนไข่ หากไข่แตก จะไม่สามารถตั้งชุมชนได้ แต่ถ้าไข่ไม่แตกก็ไม่สามารถจะตั้งชุมชนในบริเวณนั้นได้ เนื่องจากอาข่ามีความเชื่อว่าเจ้าที่เจ้าทางไม่อนุญาต นอกจากนี้ชนเผ่าอาข่า ยังมีการนำหลักความเชื่อตามธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง สถานที่ในการตั้งชุมชนต้อง อยู่ห่างจากแม่น้ำ หรือหนองน้ำ หรือพื้นที่ราบ ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย เป็นเหตุสำคัญที่ชุมชนต้องอยู่ห่างจากแม่น้ำ และอีกประการหนึ่งชาวอาข่ากลัวว่า เมื่อฝนตกลงมาอาจทำให้บ้านเรือนถูกน้ำท่วม และทำให้เกิดความเสียหาย
การตั้งชุมชนของอาข่ามักนิยมตั้งในพื้นที่ลาดเท หรือตามสันเขา ปากทางเข้าหมู่บ้านจะมีการสร้างประตูหมู่บ้านไว้ เรียกว่า “ล้อข่อง” เพื่อไว้ป้องกันสิ่งเลวร้ายต่างๆ ไม่ให้ เข้ามาในชุมชน นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม อาทิเช่น ศาลพระภูมิชุมชน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ลานวัฒนธรรม เป็นต้น
ลักษณะบ้านของชนเผ่าอาข่า จะยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีบันได 3 – 5 ขั้น บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่มีเสาเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่คลุมยาวลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน ไม่มีหน้าต่าง มีเตาไฟ 2 เตา สำหรับปรุงอาหาร และสำหรับต้มน้ำชาไว้เลี้ยงแขก
วัฒนธรรมประเพณี
ประเพณีโล้ชิงช้า (แย้ขู่อ่าเผ่ว)
ประเพณีโล้ชิงช้า (แย้ขู่อ่าเผ่ว)ครอบครัวอาข่าเป็นแบบครอบครัวขยาย อยู่รวมกันหลายครอบครัว หนุ่มสาวอาข่ามีอิสระในการเกี้ยวพาราสีและการเลือกคู่ครอง หากแต่งงานแล้ว ผู้หญิงจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของผู้ชาย และมานับถือผีฝ่ายสามี ทุกหมู่บ้านจะมีลานโล่งกลางหมู่บ้านเพื่อกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน เป็นลานดินเรียกว่า “ลานสาวกอด” หรือ “แดห่อง” เป็นลานที่ดินที่หนุ่มสาวชาวอาข่ามาพลอดรักกัน และเด็กๆ มาร้องรำทำเพลงกัน
ประเพณีไข่แดง (ขึ่มสึ ขึ่มมี๊อ่าเผ่ว)
มีขึ้นภายหลังจากที่มีการอยู่กรรมจากการเผาไฟในไร่ช่วงกลางเดือนเมษายน ตรงกับเดือนอาข่า “ขึ่มสึ บาลา”อาข่าจะประกอบพิธี “ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว” เป็นประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีปีใหม่ชนไข่ เนื่องจากประเพณีนี้มีการนำไข่มาใช้ประกอบพิธี เด็กๆ จะมีการเล่นชนไข่ โดยการย้อมเปลือกไข่ให้เป็นสีแดง และใส่ตะกร้าห้อยไปมา เป็นประเพณีที่มีมาช้านาน
พิธีกรรมวันแรกจะเริ่มเมื่อเห็นข้างขึ้น 1 ค่ำ ชนเผ่าอาข่าเรียกว่า “ลาเด๊ะ ถี่หยะ” ก็จะมีการเริ่มประกอบพิธีใหม่ที่เรียกว่า “ขึ่มสึ อาเผ่ว” หมายถึง พิธีต้อนรับปีใหม่ อาข่าให้ความหมายรวมถึง การต้อนรับสิ่งมีชีวิตที่เกิดใหม่ทุกชนิดบนโลกในของช่วงเดือนเมษายน เมื่อประกอบพิธีนี้เสร็จก็จะมีการทำพิธีต่ออีกที่เรียกว่า “ขึ่มมี่ อาเผ่ว” เป็นพิธีที่เกิดขึ้นเพื่อฉลองปีใหม่ และฉลองตำแหน่งผู้นำทางวัฒนธรรม และการปกครองชุมชน “โจ่วมา” โดยผู้นำมีการประกอบพิธีของตำแหน่งที่เรียกว่า “โจ่ว หละ หยะ เออ” เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจของพิธีกรรม
ประเพณีโล้ชิงช้า (แย้ขู่อ่าเผ่ว)
จะมีการจัดขึ้นทุกๆ ปี ประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งจะตรงกับช่วงที่ผลผลิตกำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อาข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ชนเผ่าอาข่าถือว่าประเพณีนี้เป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของชนเผ่าอาข่าอีกมากมาย ทั้งยังเป็นประเพณีทีให้ความสำคัญกับผู้หญิง ผู้หญิงอาข่าจะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามเป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ เพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลงทั้งลักษณะเดี่ยวและคู่ ในการจัดประเพณีโล้ชิงช้าแต่ละปีของอาข่า จะต้องมีฝนตกลงมา ถ้าปีไหนเกิดฝนไม่ตก อาข่าถือว่าไม่ดี ผลผลิตที่ออกมาจะไม่งอกงาม มีระยะเวลาในการจัดรวม 4 วันด้วยกัน ดังนี้
วันที่ 1 จ่าแบ: เป็นวันแรกของพิธีกรรม ผู้หญิงอาข่าจะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อาข่าเรียกว่า “อี๊จุอี๊ซ้อ” และในวันนี้ก็มีการตำข้าวปุ๊ก “ห่อถ่อง” ข้าวปุ๊ก หรือห่อถ่อง คือ ข้าวที่ได้จากการตำอย่าง ละเอียด โดยก่อนที่จะตำก็จะนำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) แช่ไว้ประมาณ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็นำมานึ่ง หลังจากนึ่งเสร็จหรือได้ที่แล้ว ก็จะมีการโปรยด้วยน้ำอีกรอบหนึ่งแล้วก็นึ่งต่อ ระหว่างที่รอข้าวสุกจะมีการตำงาดำผสมเกลือไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือเวลานำมาปั้นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำพิธีเช่นกัน
วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า: เป็นวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านของผู้นำศาสนา “โจว่มา” เพื่อจะปรึกษาและแบ่งงานในการจะปลูกสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชน หรือเรียกว่า “หล่าเฉ่อ” ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์ก็จะไม่ฆ่า หลังจากที่สร้างเสร็จจะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดย “โจว่มา” จะเป็นผู้เปิดโล้ก่อน จากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้ นอกจากนี้ทุกครัวเรือนจะต้องสร้างชิงช้าเล็กไว้ที่หน้าบ้านของตนเองอีกด้วย เพื่อให้ลูกหลานของตนเล่นด้วย เพราะถือว่าเป็นพิธี
วันที่ 3 วัน ล้อดา อ่าเผ่ว: ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือน พร้อมทั้งมีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน
วันที่ 4 จ่าส่า: เป็นวันสุดท้ายของพิธีกรรม สำหรับในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้า เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะได้โล้ในปีนี้ แต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น. ผู้นำศาสนาก็จะทำการเก็บเชือกของชิงช้า โดยการมามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลังอาหารค่ำก็จะทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ เข้าไว้ที่เดิม ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรม
ประเพณีเชิดชูตำแหน่งรองผู้นำศาสนา (ยอลาอ่าเผ่ว)
หลังจากเทศกาลโล้ชิงช้าผ่านไป 13 วัน หรือ 1 รอบสัปดาห์ จะมีประเพณียอลาอ่าเผ่ว จัดขึ้นประมาณเดือน กันยายนของทุกปี ตรงกับเดือนอาข่า คือ “ยอลาบาลา” โดยจะประกอบพิธีกรรมเป็นระยะเวลา 2 วัน ประเพณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในชุมชนอาข่านอกจากจะมีผู้นำศาสนาแล้ว ในชุมชนอาข่าก็ยังมีรองผู้นำศาสนา เป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำศาสนาในอดีต ดังนั้นประเพณีนี้จึงจัดขึ้นมาเพื่อเชิดชูอดีตผู้นำศาสนา ฉะนั้นประเพณีนี้ถือเป็นประเพณีของอดีต ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้นำศาสนามาก่อนก็ว่าได้ ดังนั้นบรรดาผู้เป็นรองผู้นำศาสนาก็จะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อไหว้ครูและมีการเลี้ยงอาหาร เรียกว่า “โจ่วยองล้อเออ”
เทศกาลค๊องแย๊อ่าเผ่ว
เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งจะตรงกับช่วงที่พืชพันธุ์ที่ปลูกลงไปในไร่มีผลผลิต และเริ่มที่จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว อาทิเช่น แตงโม แตงกวา พืชผักต่างๆ เป็นต้น เทศกาลนี้จัดขึ้นมาเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากชุมชน เช่น ภูตผีปีศาจที่มาอาศัยอยู่ในชุมชน อาข่าเรียกว่า “แหนะ” รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยมีการแกะสลักไม้เนื้ออ่อนเป็นดาบ หอก ปืน อาข่าเรียกอุปกรณ์เหล่านี้ว่า “เตาะมา” เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากชุมชน มีการตะโกนร้องดังๆ โดยเด็กๆ ในหมู่บ้านจะมีการแต่งหน้าโดยใช้สีให้ดูน่ากลัวที่สุด ส่วนในมือนั้นถือดาบ หรือหอกที่ทำจากไม้ที่มีลวดลาย การตบแต่งอย่างละเอียด เด็กๆ ก็จะรวมกันเป็นกลุ่มหลายๆ คน เดินเข้าไปในแต่ละบ้าน โดยจะเข้าทางประตูหน้าและตะโกนร้องเสียงดังว่า “โช้ โช้ลิโลๆ” เพื่อให้สิ่งไม่ดีต่างๆ ที่อยู่ในบ้านหวาดกลัวและออกไปจากบ้าน ขณะที่เด็กเข้าไปในบ้าน เด็กสามารถที่จะค้นหาผลไม้ต่างๆ มารับประทานได้ บางครอบครัวก็จะนำแตงกวามาวางไว้ให้เด็กได้ลิ้มลอง จากนั้นเด็กก็จะเดินออกทางหลังบ้าน ระหว่างที่ออกไปก็จะมีการจุดปะทัดและยิงปืน เทศกาลนี้อาจถือเป็นเทศกาลที่นำไปสู่ฤดูกาลใหม่อีกฤดูกาลหนึ่ง คือจะเริ่มเข้าหน้าหนาว และหลังจากเทศกาลนี้เสร็จก็ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย ได้แก่ การแต่งงาน การละเล่นเป่าแคน การออกไปล่าสัตว์ เสมือนการออกพรรษาของไทย
ประเพณีกินข้าวใหม่ (ยอพูนองหมื่อเช้เออ)
พิธีเลือกฤกษ์วันดีและกินข้าวใหม่ของอาข่า ถือเป็นพิธีที่สำคัญอีกพิธีหนึ่งที่ชนเผ่าอาข่าที่สืบทอดและปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พิธียอพูนองหมื่อเช้เออนี้หมายถึง การกำหนดฤกษ์วันดีของชุมชนเพื่อจะให้สมาชิกในชุมชน สามารถที่จะประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่ หรือเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว ชนเผ่าอาข่า เรียกว่า “แช้นึ่มจึเออ” พิธีนี้จะมีส่วนสำคัญของกิจกรรมอยู่ 2 รูปแบบคือ การเก็บเชื้อข้าวพันธุ์ใหม่ “แช้นึ้มยู้เออ” และการกินข้าวใหม่ “แช้นึ้มจึจ่าเออ” อนึ่งประเพณีนี้จะใช้ระยะเวลาในการประกอบพิธีเพียง 1 วัน ซึ่งการเลือกฤกษ์วันดีของชุมชนนั้น จะให้ผู้นำศาสนาหรืออาข่าเรียกว่า “เจ่วมา” ดูตับหมูเกี่ยวกับผลผลิตของชุมชน อาข่าเรียกการดูตับนี้ว่า “หยะผี่ท้องเออ” เมื่อทราบว่าในวันรุ่งขึ้น จะมีการอยู่กรรมเพื่อถือเป็นวันฤกษ์ดีของชุมชนแล้ว ในตอนกลางคืนก็จะมีการประกาศที่เรียกว่า “ลองกู้กู้เออ” ซึ่งจะประกาศให้คนในชุมชนหยุดการทำงาน อย่าเก็บของป่า อย่ายุ่งเรื่องเพศ และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นคนในชุมชนก็จะอยู่บ้าน ไม่ออกไปทำงาน แต่บรรดาสตรีก็อาจมีการเย็บผ้า ปักผ้าบ้าง ตอนเย็นก็จะมีการละเล่นสะบ้าได้
ปีใหม่ลูกข่าง (ค๊าท้องอ่าเผ่ว)
เป็นประเพณีเปลี่ยนฤดูกาลทำมาเลี้ยงชีพ จัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี ตรงกับเดือนอาข่า คือ “ท้องลาบาลา” คนทั่วไปนิยมเรียกประเพณีนี้ว่า ปีใหม่ลูกข่าง ประเพณีนี้มีประวัติเล่ากันมาว่า เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลทำมาหากิน ซึ่งภายหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์จากท้องไร่นา เสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ฤดูแห่งการพักผ่อน ถือเป็นประเพณีของผู้ชาย โดยผู้ชายทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ จะมีการทำ ลูกข่าง “ฉ่อง” แล้วมีการละเล่นแข่งตีกัน เพื่อฉลองการเปลี่ยนแปลงวัยที่มีอายุมากขึ้น พร้อมทั้งชุมชนแต่ละครัวเรือน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนดื่มเหล้ากันในชุมชน ดังสุภาษิตที่ว่า “ค๊าท้องจี้ฉี่” แปลว่า ประเพณียกเหล้า ฉะนั้น หากประเพณีนี้ถ้ามีคนเมาเหล้าก็ถือว่า เป็นเรื่องปกติ และเป็นการเริ่มต้นกินข้าวที่เก็บไว้ในฉางข้าว ส่วนผู้หญิงก็จะมีการเล่นสะบ้าในลานชุมชน
ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
ชนเผ่าอาข่าไม่มีคำว่า “ศาสนา” แต่มีคำว่า “บัญญัติอาข่า” ซึ่งครอบคลุมไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีการทุกอย่างในการดำเนินชีวิต มีความเชื่อในเรื่องผี โชคลาง และการเสี่ยงทายเป็นที่สุด ผีหรือ “แหนะ” ได้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวอาข่า ชนเผ่าอาข่ามีความเชื่อถือผี และสิ่งเร้นลับในธรรมชาติ จึงต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิ่งดังกล่าว ดังนั้นก่อนทำสิ่งใดอีก้อจะตรวจดูโชคลางเสียงก่อน บางทีก็มีการเสี่ยงทาย บางทีก็ถือเอาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติว่าเป็นการบอกลางดีลางร้าย นอกจากนี้ยังพบว่าชนเผ่าอาข่านับถือผีบรรพบุรุษ โดยทุกครัวเรือนจะมีหิ้งผีบรรพบุรุษไว้เซ่นไหว้ปีละ 9 ครั้ง รองลงมาได้แก่ผีใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าผีทั้งปวง และเป็นตนเดียวที่อยู่บนสวรรค์มีหน้าที่ดูแลความทุกข์สุข ผีตามความเชื่อของอาข่า มีดังนี้
ความเชื่อเกี่ยวกับผี
ผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษ ชาวอาข่าถือว่าเป็นผีที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองดูแลครอบครัวมาโดยตลอดหลายชั่วอายุคน
ผีหมู่บ้าน คือ ผีที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านคอยปกป้องรักษาคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข จะสถิตย์อยู่ที่ศาลผีประจำหมู่บ้าน บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งศาลนี้จะต้องสร้างก่อนที่จะตั้งหมู่บ้าน
ผีทั่วไป เป็นผีที่สิงอยู่ประจำที่ต่างๆ ทั่วไปนอกจากผีที่บอกมาในเบื้องต้นแล้วก็ยังมี ผีไฟ ผีดิน ผีน้ำ ผีดอย ผีฟ้าผ่า ผีจอมปลวก เป็นต้น
ผีเร่ร่อน คือ ผีตายทั้งกลมกับผีตายโหง ตามความเชื่อของอาข่าถือว่าทั้งสองประเภทนี้เป็นผีที่ไม่ดี เป็นผีที่ไม่มีที่อยู่ ร่อนเร่ไปทั่ว บางครั้งคอยหลอกหลอนคนที่จิตใจไม่เข้มแข็ง
ความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดของสรรพสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่บนโลก
ชนเผ่าอาข่ามีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดของสรรพสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่บนโลก ซึ่งสามารถแบ่งแยก ออกเป็นตอนใหญ่ๆ ได้ 3 ตอน ดังนี้
1-การเกิดของสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต เรียกว่า “ปรึ่มกา” หมายถึงขั้นตอนของการเกิดสิ่งต่างๆ อาทิ ดิน น้ำ อากาศ มนุษย์ ฯลฯ และสิ่งอื่นๆ ที่มีอยู่บนปฐพี ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต
2-การเกิดกฎระเบียบ พิธีกรรม ประเพณี เรียกว่า “ย้องกา” เป็นขั้นตอนของการเกิดของสัตว์ที่อาข่าเชื่อว่าไม่ดี และไม่นำมาเลี้ยงเด็ดขาด หรือถ้ามีก็ต้องนำมาฆ่ากิน และเซ่นไหว้ผีเสีย หมูที่เกิดลูกน้อยกว่า 3 ตัว อาข่าเชื่อว่าธรรมชาติของหมูต้องเกิดลูกมากกว่า
3-ขั้นตอนการเกิดดินแดนที่อยู่อาศัย เรียกว่า “จ้อกา”
ปัจจุบันอาข่าที่นับถือดั้งเดิม ยังมีการใช้หลักความเชื่อในการดำรงชีวิตอยู่ แต่ชนเผ่าอาข่าบางส่วนก็หันไปนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม เนื่องจากความซับซ้อนและความหลากหลายของพิธีกรรม บวกกับสภาพเศรษฐกิจของปัจจุบันที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เพราะการนับถือดั้งเดิมจะต้องเคร่ง ในการ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะขาด หรือ ผิดพลาดไม่ได้ ในขณะเดียวกันต้องใช้สัตว์ต่างๆ ในการทำพิธีเซ่นไหว้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้หลาย หมู่บ้านต้องทิ้งความเป็นดั้งเดิม แล้วหันไปนับถือศาสนาอื่น
พิธีถวายทานให้ผีเปรต
ชนเผ่าอาข่าเป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อในเรื่องวิญญาณ ภูตผี ปีศาจ ไสยศาสตร์สิ่งเร้นลับ พิธีกรรม และคำสอนที่ได้รับการปลูกฝังมาจาก บรรพบุรุษที่สืบทอดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การประกอบพิธีกรรมนี้ทำเพื่อเชื้อเชิญวิญญาณเจ้าเมือง ทาส ผีเปรต ของเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนออกจากชุมชนไป รวมทั้งสิ่งเลวร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสัตว์ ไม่ให้มารังควานในชุมชนอีกต่อไป พิธีกรรมนี้จะทำก็ต่อเมื่อมีโรคระบาดในชุมชน ไม่ว่าโรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งถ้าหากมีโรคมาระบาดในชุมชน ชุมชนนั้นๆ ก็จะประกอบพิธีถวายทานให้ผีเปรต โดยใช้เวลาในการประกอบพิธีเพียง 1 วัน ดังนั้นเมื่อถึงวันกำหนดจะประกอบพิธีถวายทานให้ผีเปรต “ค๊าด่าฉี่เออ” ชุมชนจะเลือกวันฤกษ์ดีขึ้นมา จากนั้นก็จะทำการประกอบพิธี ซึ่งในการประกอบพิธีจะแบ่งได้ 3 รอบดังนี้ คือ รอบแรก “ถี่ข่า” จะเริ่มประกอบพิธีหลังจากปลูกสร้างประตูหมู่บ้านแล้ว ช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงตุลาคม รอบที่ 2 “หยี่ข่า” ประกอบพิธีหลังจากประเพณีไล่ผี “ค้องแย๊ะแย๊ะเออ” หรือออกพรรษาอาข่า ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม รอบที่ 3 “ซึ้มข่า” ประกอบพิธีหลังประเพณีปีใหม่ลูกข่าง “ค๊าท้องพ๊าเออ” ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม
พิธีบูชาศาลพระภูมิเจ้าที่
ศาลพระภูมิเจ้าที่เป็นศาสนสถานที่สำคัญของชุมชนอาข่า เป็นที่กราบไหว้บูชาของชุมชนอาข่า ศาลพระภูมิเจ้าที่จะมีการสร้างประมาณเดือนเมษายนของทุกปี หลังจากปลูกสร้างประตูหมู่บ้านแล้ว และจะมีการบูชาทุกปี ปีละครั้ง หรือถ้าปีไหนมีโรคระบาดเยอะ หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมาเยือนชุมชนบ่อยๆ ก็อาจประกอบพิธี 2 ครั้งใน 1 ปี สร้างไว้ทางทิศเหนือของชุมชน ห่างจากชุมชนประมาณ 500 เมตร ทำเลในการจะสร้างศาลพระภูมิเจ้าที่จะต้องอยู่สูงกว่าระดับ การตั้งของชุมชน สามารถมองเห็นชุมชนได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ตามความเชื่อของอาข่า เพื่อให้เจ้าที่สามารถดูแลและปกปักรักษาคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง ในการประกอบพิธีกรรมที่ศาลพระภูมิเจ้าที่จะใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยก่อนที่จะมีการทำพิธี หัวหน้าครัวเรือนทุกครัวเรือนจะต้องไปรวมตัวกันที่บ้านของผู้นำศาสนา มีการเตรียมเครื่องหรืออุปกรณ์ในการเซ่นไหว้ต่างๆ ให้พร้อม จากนั้นก็จะเดินทางไปบริเวณที่ก่อตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ ผู้หญิงหรือแม่บ้านจะไม่เข้าร่วม เพราะว่าตามประเพณีของอาข่า นอกจากผู้หญิงที่ได้ผ่านการยกตำแหน่งเทียบเท่าผู้ชายแล้วเท่านั้น จึงสามารถที่จะประกอบพิธีได้ แต่เด็กตัวเล็กๆ สามารถไปร่วมรับประทานอาหารได้ เมื่อไปถึงบริเวณศาลทุกคนก็จะช่วยกัน ทำความสะอาดบริเวณศาล แล้วเลือกต้นไม้ต้นหนึ่งที่ไม่โต หรือไม่เล็กเกินไป เพื่อจะทำเป็นที่บูชา เมื่อเลือกต้นไม้ได้แล้วก็จะมีการแบ่งงานกัน มีกลุ่มที่ต้องไปตัดไม้ไผ่ เพื่อจะนำมาตบแต่งบริเวณศาล โดยทำเป็นเครื่องประดับ อาข่าเรียกว่า “หน่าชิหน่าจะ” และมี ตาแหลว “ด๊าแล้” ทุกคนก็จะช่วยกันสร้างศาลขึ้นมา เมื่อสร้างศาลเสร็จ ก็จะมีการบูชาเซ่นไหว้ ขอพรเจ้าที่เจ้าป่า ให้ดูแลพื้นที่ทำกิน ให้ได้ผลผลิตที่งอกงาม ปลอดแมลงต่างๆ ที่จะมารบกวนในพื้นที่ทำกิน หลังจากทำพิธีและขอพรเสร็จ ทุกคนก็จะร่วมรับประทานอาหารในบริเวณศาล หลังจากรับประทานอาหารแล้วก็จะช่วยกันทำความสะอาด แล้วทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรม
พิธีปลูกข้าวเริ่มแรก (แช้คาอ่าเผ่ว) เป็นพิธีกรรมที่ประกอบการมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พิธีนี้จะทำประมาณเดือนพฤษภาคม ก่อนปลูกข้าวไร่ของทุกปี
พิธีทำบุญในไร่ข้าว (อึ่มผี่ล้อเออ)
พิธีนี้จะทำหลังจากทำพิธีปลูกข้าวเริ่มแรกประมาณ 1 เดือน หรือ ประมาณ 3 อาทิตย์ของอาข่า (สุ่มนองจ๊อง) ทำเพื่อให้ผลผลิตในไร่ข้าวเจริญงอกงาม ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น ตั๊กแตน ปลวก ฯลฯ ในการทำพิธีนี้ต้องนับวันฤกษ์วันดีของครอบครัว (เป็นวันเกิดของคนในครอบครัว แต่ไม่ตรงกับวันตายโหงของคนในครอบครัว) การประกอบพิธี แบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ การประกอบพิธีแบบธรรมดาโดยใช้ไก่ และการประกอบพิธีขนาดใหญ่โดยใช้หมู
พิธีถอนขนไก่ (ยาจิจิอ่าเผ่ว)
เป็นพิธีที่สำคัญของอาข่า โดยใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมเพียง 1 วัน เริ่มพิธิเมื่อถึงวันแกะ “ย้อ” ตามการนับวันรอบสัปดาห์ของอาข่า เนื่องจากวันแกะหรือวันย้อ ถือเป็นวันเกิดของเทพเจ้า “อ่าเผ่วหมี่แย๊” ผู้ให้กำเนิดชีวิตมนุษย์ ดังนั้นเทพเจ้าของอาข่าจึงได้บัญชาให้เหล่าบรรดาปู่ย่าตายายของตระกูลต่างๆ ที่ล่วงลับไปแล้วและอาศัยอยู่กับเทพเจ้าเป็นจำนวน 7 ชั่วโครต อาข่าเรียกว่า “สิจึอ่าเผ่ว” ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อมาสำรวจสมาชิกในโลกมนุษย์ของแต่ละตระกูลว่า เกิด แก่ เจ็บตาย เท่าใด ในวันนี้อาข่าจึงมีการประกอบพิธีถอนขนไก่ ฉะนั้นสมาชิกครอบครัวจะต้องกลับมาที่บ้านเพื่อมาร่วมพิธีกรรมนี้
พิธีเรียกขวัญ
เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเรียกขวัญ เมื่อประชาชนอาข่าไปในป่าหรือสถานที่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วไปสะดุ้งกลัวและเกิดความไม่สบายขึ้นมา เช่น ตัวร้อน ปวดหัว ฯลฯ เมื่อผู้ประสบเหตุกลับมาถึงบ้านก็บอกสมาชิกในครัวครอบให้ประกอบพิธีกรรมนี้ การคัดเลือกฤกษ์ยามในการทำพิธี ต้องไม่ตรงกับวันเกิดและวันตายของสมาชิกในครอบครัว จึงนับว่าเป็นวันดี แต่ถ้าเป็นวันเกิดของผู้ที่ประสบเหตุสะดุ้งนั้นได้ และถือว่าเป็นฤกษ์ยามที่ดีมาก สามารถทำได้ 3 รูปแบบ ดังนี้ การเรียกขวัญโดยใช้ไข่ “ลา คู คู – เออ ลา แย่ มา เด๊า”, การเรียกขวัญโดย ใช้ไก่ “ยา จี ลา คู คู – เออ”, และการเรียกขวัญโดยใช้หมู “อ่าหยะ ลา คู คู – เออ”
การแต่งกาย
ผู้หญิงชนเผ่าอาข่าเมื่อแต่งตัวครบเครื่องนั้นมีความสวยงามเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ส่วนเครื่องแต่งกายของผู้ชายชนเผ่าอาข่า จะไม่เยอะเท่าของผู้หญิง แต่ก็มีความเฉียบและเรียบ อาข่าใช้ผ้าฝ้ายทอเนื้อแน่น ย้อมเป็นสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ ซึ่งแต่ก่อนนี้จะปลูกฝ้ายมาปั่นใช้เอง ปัจจุบันซื้อฝ้ายดิบจากคนไทย นำมาอัดเป็นก้อนใหญ่ยาว 20 เซนติเมตร บรรจุในปล้องหรือกล้องไม้ไผ่ เวลากรอด้ายผู้หญิงจะผูกกล่องฝ้ายไว้กับเอว เกี่ยวใยเข้ากับตะขอกง ซึ่งเกาะไว้กับต้นขาแล้ว ปั่นอย่างรวดเร็วออกมาเป็นฝ้ายหนา และเหนียวทนทาน หญิงอาข่าสอนให้ปั่นด้ายตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ เพราะมารดาคนเดียวปั่นด้ายไม่ทัน มาทอผ้าให้ใช้กันทั้งครอบครัว ผู้หญิงชนเผ่าอาข่าทุกวัยปั่นด้ายกันตลอดเวลาที่มือว่างจากงานอื่น เช่น ระหว่างเดินทางไปไร่ ขณะแบกฟืน หรือหาบน้ำ จนกระทั้งขณะที่นั่งผิงไฟอยู่ในบ้าน ยามค่ำ สาวชนเผ่าอาข่ามักแข่งขันกันว่า ใครจะปั่นด้ายได้มากที่สุดในแต่ละวัน นำไปทอผ้าเนื้อแน่นหน้ากว้าง 17-20 เซนติเมตร จากนั้นก็นำไปย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตผลพื้นบ้าน ใช้เวลาย้อมร่วมเดือนจึงจะได้สีน้ำเงินเข้มที่ต้องการ เพราะต้องย้อมซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกวัน ผู้หญิงชนเผ่าอาข่าในเมืองไทยมีแบบแผนการแต่งกาย ดังนี้
การแต่งกายของกลุ่มอู่โล้อาข่า
การแต่งกายของกลุ่มอู่โล้อาข่าผู้ชาย: อู่โล้อาข่านิยมโกนผมและไว้เปีย มีผ้าพันรอบหัว ที่เรียกว่า “อู่ จึ่ง” การใส่อู่จึง มีความแตกต่างกันไปตามวัย ได้แก่ เมื่อเป็นหนุ่มใส่ผ้าสีดำ มีความกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร มาพันรอบหัวและใส่ขนสัตว์ที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น ขนไก่ประดับแซมไว้กลางผ้าพันหัว นอกจากมีขนสัตว์ แล้วยังมีดอกไม้มาประดับเพื่อให้มีสีสันและงามตา หากมีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป มีการเปลี่ยนสีผ้าเป็นสีแดง และไม่มีขนไก่หรือดอกไม้ประดับ ลักษณะการพันผ้าก็เปลี่ยนไปจากเดิมพันรอบหัวมาเป็นการพันแล้วมัดแทน
เสื้อผู้ชายมีลักษณะแขนยาว มีคอปกเสื้อ ยาวถึงสะโพก มีการเย็บลวดลายไว้ตรงปลายเสื้อ บริเวณหน้าท้องมีการเย็บด้วยเส้นด้ายเป็นเส้นโค้งงอไปมา จำนวน 3 แถว และข้างหลังเสื้อมีการประดับไว้อย่างสวยงาม แต่ไม่ประดับทั้งแผ่นหลัง และไม่นิยมเย็บลวดลายตรงปลายแขนเสื้อหรือบริเวณหน้าอก อย่างไรก็ตามเสื้อของอู่โล้อาข่าในปัจจุบันได้ถูกดัดแปลงไปมากจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม เพราะถูกปรับให้เข้ากับกาลสมัยและความนิยมของสมัยนี้ ทำให้เสื้อผ้าใหม่ๆ ที่กลุ่มอนุชนใส่ ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นของกลุ่มใด
กางเกง เป็นสีดำ มีลักษณะหลวมๆ เมื่อมีการใส่ครั้งใดก็มีการมัดเข้าหากันเหมือนกับใส่กางเกงสะดอของคนพื้นเมืองและของคนอาข่า มีเชือกที่ทำมาจากเส้นด้าย มามัดรวมกัน ปลายเส้นด้ายสีดำมีเหรียญเงินแถบที่มีรู เอาเชือกสอดใส่รู มามัดกางเกงไม่ให้หลุด กางเกงผู้ชายของอู่โล้อาข่ามีความยาวถึงตาตุ่ม
ผู้หญิง: ในกลุ่มอาข่าที่มีการใส่หมวกแหลม ซึ่งประกอบไปด้วยเปี๊ยะอาข่า อ้าจ้อ และอู่โล้ ถือว่ากลุ่มอู่โล้อาข่ามีการแต่งกายที่โดดเด่นสะดุดตา โดยในแต่ละ ช่วงวัยมีการแต่งกายที่บ่งบอกถึงสถานะของผู้ใส่ ได้แก่ หญิงที่เข้าสู่วัยสาวตั้งแต่อายุ 13-18 ปี ซึ่งช่วงนี้ยังไม่แต่งงาน จะมีการใส่หมวกคลุมหัว และมีช่อไหมพรม ลูกเดือย มีการประดับด้วยขนสัตว์ เช่น ไก่ และขนสัตว์ย้อมสี เช่น ลิง ตลอดถึงเครื่องเงินดังกรุ๊งกริ่ง การประดับเครื่องเงินของอู่โล้อาข่า เป็นการบ่งบอกถึงสถานะทางครอบครัวเป็นอย่างดี หากประดับไปด้วย “แต่ก่า” เงินแถบจำนวนมาก นั่นหมายถึง เป็นลูกผู้ดีมีเงิน
เสื้อของอู่โล้อาข่า เป็นสีดำที่ผ่ากลางด้านหน้า มีแขนยาว และเสื้อยาวถึงบริเวณสะโพก เสื้อผู้หญิงนิยมใส่ลวดลายมากกว่าผู้ชาย และการปักเย็บถือว่า เป็นการอวดถือฝีมือในการเย็บผ้าด้วย ในบริเวณด้านหน้าตรงปลายเสื้อ มีการประดับไปด้วยลวดลายอย่างสวยงาม เช่น อ้า ลู แหม่ ล้า แปลว่าลิ้นผีเสื้อ และปลายเสื้อด้านหลังมีการประดับไปด้วยลวดลายและเครื่องเงิน ลูกปัด หรือ “จู้มา” และลูกเดือย ไม่นิยมปักเป็นรูปสัตว์หรือต้นไม้
ตั้งแต่ส่วนเอวลงไป ก็จะมีกระโปรงสีดำ หรือที่เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “พีตี” ลักษณะเป็นกระโปรงฮาวาย ทำลายหยักด้านหลัง ยาวถึงบริเวณหัวเข่า บนกระโปรงหน้ามีผ้าปิดระหว่างต้นขาสองข้าง เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “โจ่ว จึ่ง” เป็นผ้าแผ่นยาว มีเชือกมัดตรงหัวเพื่อผูกติดเอว และตรงปลายมีลูกปัดและลูกเดือย ผ้าผืนนี้เป็นผ้าผืนหนึ่งที่มีการประดับประดาอย่างสวยงาม มีเหรียญและเครื่องประดับทั้งลูกปัด เปลือกหอย แซมไว้ และเต็มไปด้วยลวดลายเย็บผ้า ในส่วนของน่องและขา จะมีผ้ามาปิดรอบๆ อู่โล้อาข่าเรียกว่า “คื้บบ่อง” มีลูกปัด ลูกเดือย และลวดลายเป็นแผ่นเล็กๆ มาติดแนวนอน และกลางแซมไปด้วยลูกเดือย ลูกปัด
การแต่งกายของกลุ่มลอมี้อาข่า
การแต่งกายของกลุ่มลอมี้อาข่าผู้ชาย: การแต่งกายของผู้ชายอาข่ากลุ่มนี้ ไม่ได้ต่างจากกลุ่มอาข่าอื่นๆ โดยมีผ้าโพกสีดำมาพันรอบหัว และมีสร้อยเงินมัดห้อยบริเวณหน้าผาก มีดอกไม้ปักแซมกับขนไก่รอบผ้าโพกหัว นิยมย้อมฟันสีดำเมื่ออายุได้ 15 ปี ลักษณะเสื้อ เป็นปกคอจีน ใช้เชือกเปิดปิดด้านหน้า ใส่เสื้อแขนยาวที่มีลวดลายปักอย่างสวยงาม ชายเสื้อมีการเย็บลวดลายข้างหลังเน้นสีฉูดฉาด มีเครื่องประดับห้อยแซมข้างหลัง ส่วนกางเกงเป็นขายาวโปร่ง หลวม ใช้เชือกเป็นเข็มขัดพับรัดบริเวณเอว
ผู้หญิง: หากไม่ได้สังเกตอย่างละเอียด จะแยกไม่ออกระหว่างกลุ่มลอมี้กับอู่พี้อาข่า เพราะมีลักษณะการจัดวางของเครื่องประดับคล้ายคลึงกัน ทั้งลูกเดือย ลูกปัด ลูกตุ้ม และเหรียญ แต่หากมองการแต่งกายอย่างละเอียดจะพบถึงความแตกต่างและมีจุดเด่นความต่างอีกหลายจุด โดยเฉพาะในด้านหลังหมวกมีความต่างอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเงินบางตั้ง เครื่องเงินรูประจันทร์ครึ่งเสิ้ยว เป็นต้น
ในส่วนหัวมีเครื่องประดับคืออู่โชว้ะหรือหมวก ซึ่งของกลุ่มลอมี้จะมีลูกตุ้มห้อยสองข้างของหมวก ตรงระหว่างลูกตุ้มจะมีแผ่นโลหะเล็กๆ วงกลมเจาะรูสองข้างเย็บติดจนกลายเป็นแผ่นใหญ่ และบริเวณที่มัดลูกตุ้มมักมีลูกปัดเน้นสีเหลือง แดง และขาวทั้งสองข้าง บริเวณคางมีลูกปัดห้อยเป็นจำนวนมากและมัดติดข้างๆ หู มีเหรียญห้อยลงมาจากหมวกข้างละ 4-5 เหรียญ และปลายเหรียญจะมีรูปพระจันทร์ครึ่งเสิ้ยว นอกจากนั้นอาข่ากลุ่มนี้นิยมห้อยลูกปัดเป็นจำนวนมากจากคอปล่อยมาบนเสื้อบริเวณหน้าอก
เสื้อของลอมี้อาข่าได้รับการยอมรับจากคนอาข่าทั่วไปว่า เป็นกลุ่มที่มีการเย็บผ้าและลวดลายที่สวยที่สุด ในรอยต่อแขนเสื้อกับตัวเสื้อบริเวณหัวไหล่นิยมปักเป็นรอยเส้นสีต่างๆ ดูแล้วสะดุดตา ส่วนปลายแขนมีการเอาแผ่นผ้าที่เย็บลวดลายไว้มาเย็บติดทั้งสองข้างและข้างหลังเสื้อมีลวดลายเย็บขึ้นมาประมาณ 10 เซนติเมตร มีเหรียญและไหมพรมที่มัดเป็นช่อเน้นสีสัน เครื่องแต่งกายส่วนที่ลงจากบริเวณเอวลงไปมีกระโปรงแบบฮาวายที่มีรอยกลีบหยักหน้า ความยาวของกระโปรงถึงหัวเข่า กระโปรงเน้นสีดำ การถอดหรือใส่กระโปรงใช้เชือกในการรัดหรือคลาย บนกระโปรงมีแผ่นผ้าที่เย็บลวดลายไว้ มีการห้อยลูกเดือยไว้ท้าย และมีการใส่ถุงน่องหรือ “คื้อบ่อง” ที่เหมือนกลุ่มอาข่าทั่วไป
การแต่งกายของกลุ่มผะหมี๊อาข่า
การแต่งกายของกลุ่มผะหมี๊อาข่าผู้ชาย: มีการแต่งกายเหมือนอาข่าทั่วไป มีการเอาผ้าโพกหัวในลักษณะวงกลม เอาดอกไม้และขนไก่ตลอดถึงเครื่องเงินมาประดับ เสื้อเป็นแบบปกคอจีน มีลักษณะแขนยาว มีการประดับลวดลายที่สวยงามทั้งข้างหน้าและข้างหลังของเสื้อ กางเกงเป็นแบบหลวม ใช้เชือกเป็นเข็มขัดรัด กางเกงมีความยาวถึงถึงตาตุ่มขาและไม่มีลวดลายใดๆ ในกางเกง
ผู้หญิง: นิยมแต่งกายด้วยเครื่องเงินจำนวนมาก ทั้งเหรียญเงินแถบ รูปสัตว์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งการประดับตกแต่งทุกส่วนของร่างกาย หมวกของผะหมี้อาข่ามีเสน่ห์ตรงแบน และคลุมแบบจั่วบ้าน ทำให้บริเวณใบหน้ายื่นออกมา มองเห็นสัดส่วนของใบหน้าอย่างชัดเจน หมวกที่มีลักษณะโค้งงอ ดูมีความอ่อนช้อย เครื่องเงินและลวดลายผสมกันดูมีคุณค่า ทำให้อาข่ากลุ่มอื่น ขนานนามว่า “หมวกผะหมี้คือหมวกคนรวย” บนหมวกที่สวมใส่หัว นอกจากมีเครื่องเงินซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเงินแท้แล้วยังประกอบแผ่นเงินที่มาตัดเป็นวงกลม และนูนตรงกลาง เรียกเป็นภาษาอาข่าว่ “โซว้ะ เขาะ” มาเย็บติดเต็มหมวก ทำให้ทุกส่วนของหมวกเต็มไปด้วยเครื่องตกแต่งและสะท้อนแสงเมื่ออยู่กลางแจ้ง
ในคอนิยมห้อยลูกปัด เน้นสีฉุดฉาด บางคนก็ใส่เครื่องเงิน ที่เป็นห้อยระย้าลงจากคอ อาข่ากลุ่มนี้มีลวดลายการเย็บคล้ายๆ กับกลุ่มลอมี้อาข่า ทั้งลวดลาย การจัดวาง มีการเย็บผ้าเป็นแผ่นแล้วมาเย็บติดเสื้ออีกทีตรงปลายเสื้อข้างหน้าและข้างหลัง ทำให้ดูมีความสวยยิ่ง นอกจากมีลวดลายแล้วยังนิยมประดับเหรียญแซมทั้งข้างหน้า และข้างหลังเสื้อ เวลาเดินเสียงกระทบจากเหรียญจะดัง กระโปรงของอาข่ากลุ่มนี้ จะมีรอบกลีบหยักด้านหลัง และไม่มีการเย็บด้วยลวดลายใดๆ บนกระโปรงมีโจ่วจึ่ง ที่มีการห้อยลูกปัดขนาดเล็ก โจ่วจึ่งของอาข่ากลุ่มนี้ มีสองผืนมาเย็บติดกันเป็นแผ่นใหญ่ และไม่นิยมประดับลวดลายมากนักในโจ่วจึ่ง นอกจากเหรียญและเครื่องเงิน
การแต่งกายของกลุ่มหน่าค๊าอาข่า
ผู้ชาย: มีการแต่งกายคล้ายกับผู้ชายอาข่าทั่วไป ในบริเวณหัวมีผ้าโพกหัว แต่มีหลายจุดที่ต่างกัน อาข่ากลุ่มนี้นิยมเอาเหรียญมาประดับบนหัวซึ่งเย็บติดกับผ้าโพกหัว ระหว่างเหรียญที่เย็บติดไว้มีการเอาสร้อยมาห้อยติดกัน ใต้เหรียญเงินแถบที่ห้อยไว้ มีแผ่นโลหะกลมมาเย็บติดกันหลายอันลักษณะสามเหลี่ยม ระหว่างเหรียญ มีเส้นไหมพรมซึ่งเน้นสีอ่อนๆ เช่น เขียว ขาว ชมพู มาเย็บติดเป็นช่อ และผ้าโพกบนหัวมีการย้อมขนไก่มาเสียบไว้เป็นจุด
เสื้อเป็นแบบปกคอจีน เสื้อของอาข่ากลุ่มนี้ไม่ค่อยเน้นลวดลายสักเท่าใด และมีทั้งแขนยาวและแขนกุด มีการเย็บเป็นเส้นรอบเสื้อ และเสื้อบริเวณสะดือมีแผ่นผ้ามาเย็บติดกับ ตัวเสื้อ ซึ่งแผ่นผ้านี้เป็นจุดเด่นของผู้ชายอาข่ากลุ่มนี้ ลวดลายส่วนมากมีลักษณะสามเหลี่ยมสองอันปลายเหลี่ยมชนกัน การเปิดและปิดเสื้อของอาข่ากลุ่มนี้ ต่างจากอาข่าทั่วไป ที่ใช้เส้นด้ายเป็นกระดุม อาข่ากลุ่มนี้มีการใช้เหรียญเงินแถบเป็นกระดุม มีเหรียญประดับลงมาข้างขวามือจากบริเวณคอลงมาถึงปลายเสื้อ และปลายแขนสองข้างมีลวดลายสวยงาม
ผู้หญิง: อาข่ากลุ่มนี้ได้ชื่อว่า “เจ้าแม่เครื่องเงิน” เพราะมีการประดับเครื่องแต่งกายที่เป็นเครื่องเงิน ดังกรุงกริ่งตลอดเวลาเดิน ในบรรดากลุ่มอาข่า อาข่ากลุ่มนี้มีการแต่งกายที่แปลกไปจากอาข่ากลุ่มอื่นอย่างสิ้นเชิง ที่กล่าวว่าแปลกเพราะอาข่ากลุ่มนี้มีการใช้ หมวกหรืออู่โซว้ะคลุมทั้งหัว อย่างไรก็ตาม เครื่องแต่งกายของหน่าค๊าอาข่ามีจุดเด่นอยู่ที่เครื่องเงิน หมวกทั้งใบประดับไปด้วยแผ่นเหล็กที่ตัดเป็นวงกลุม ทำให้นูนตรงกลาง มาเจาะรูซ้าย ขวา มาเย็บติดเต็มหมวก บนหมวกมีการเย็บเครื่องเงินทั้งที่เป็นเหรียญและอื่นๆ ซึ่งมีรูปสัตว์เช่นปลา ผูกติดไว้ การประดับเครื่องเงินมีจุดสังเกตตรงที่มี การประดับข้างๆ และเว้นไว้เหนือหน้าผากขึ้นไป ซึ่งทำให้มองดูหมวกดูสวยงามและเป็นระเบียบ ในบริเวณคางมีเครื่องเงินเป็นแผ่นดูคล้ายสร้อย มัดติดกับหมวกทั้งสองข้าง และจุดที่มีมีการห้อยลูกปัดไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นสีที่เด่น เช่น แดง เหลือง น้ำเงิน เป็นต้น
เสื้ออาข่ากลุ่มนี้ไม่ค่อยมีลวดลายเหมือนกลุ่มอื่น นิยมเย็บลวดลายติดที่แขนทั้งสองข้าง และไม่มีลวดลายใดๆ ข้างหน้า แต่จะมีลวดลายปักเย็บข้างหลังเสื้อ แต่ไม่เยอะ นิยมเอาเข็มขัดมาคาดบริเวณเอว ซึ่งการประดับเครื่องเงินเป็นจำนวนมากเป็นการวัดฐานะทางครอบครัวของผู้ใส่เป็นอย่างดี
กระโปรง เป็นสีดำแบบฮาวาย มีการทำกลีบเป็นรอยหยักข้างหลัง ใช้เชื่อกเป็นเข็มขัดในการถอด -ใส่ มีความยาวเพียงปกปิดหัวเข่า และบนกระโปรงมีโจ่วจึ่ง มัดที่เอวและ ห้อยทับกระโปรง โจ่วจึ่งของอาข่ากลุ่มนี้ปลายจะเป็นลูกปัดล้วน และมีการเย็บเหรียญกับโจ่วเขาะติดไว้ การเย็บมีการเว้นช่องไว้ และช่องตรงกลางมีลวดลายสวยงาม คื้อ บ่อง หรือผ้าใส่น่อง ปักเย็บด้วยลวดลายหลายอย่าง แต่ไม่เน้นสีฉุดฉาด มักเน้นสีอ่อนๆ เช่น สีเขียว และให้แผ่นผ้าที่มีลวดลายมาอยู่ข้างหน้าตรงหน้าแข้ง
การแต่งกายของกลุ่มเปี๊ยะอาข่า
ผู้ชาย: เปี๊ยะอาข่ามีการแต่งกายเหมือนอาข่าทั่วไป กล่าวคือ ชอบไว้จุกบนหัวและยาว มีการเปียจุกและมัดปลาย ใส่เสื้อสีดำ แขนยาว ปกคอจีน ใช้เส้นด้ายในการเปิดปิดเสื้อ บริเวณเอวลงไปใส่กางเกงสีดำที่ปั่นจากฝ้าย และมาทอเป็นผืนผ้า ย้อมด้วยเปลือกไม้หรือใบไม้ ซึ่งการย้อมจะย้อมเพียงสีดำเท่านั้น กางเกงหรือที่เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “หละตี” ยาวถึงตาตุ่ม
ผู้หญิง: การแต่งกายจะมีลักษณะคล้ายกับอู่โล้อาข่ามาก และมีจุดต่างอยู่ 2 จุด คือ หมวกและโจ่วจึ่ง ในส่วนหมวกเปี๊ยะอาข่าเป็นอาข่า 1 ใน 2 กลุ่มอาข่า ที่มีการแต่งกาย (หมวก) แหลมตั้งฉากตรง ซึ่งของอ้าจ้ออาข่าจะยาวที่สุด รองลงมาอู่โล้ และตามด้วยเปี๊ยะอาข่า ฉะนั้นเปี๊ยะอาข่าสามารถดูได้จากการแต่งกายตรง บริเวณหมวกที่สั้นกว่า และปลายหมวกจะมีลักษณะคล้ายๆ ปากหมู บนหมวกมีการประดับด้วยขนสัตว์ หนังสัตว์ ตอกย้อมสี ลูกเดือย เหรียญ และลูกปัด เหมือนกับกลุ่มอู่โล้อาข่า แต่อาข่ากลุ่มนี้จะชอบประดับสีแดงเป็นพิเศษ ทำให้การมองเห็นในระยะไกลได้ดี
โจ่วจึ่งของคนอาข่ากลุ่มนี้จะมีอยู่ 2 แฉก ห้อยไว้ข้างหน้าบนกระโปรง ปลายโจ่วจึงมีการประดับไปด้วยลูกเดือยและลูกปัด ปลายเส้นลูกปัดมีเหรียญเล็กๆ เจาะรูมัดติดผ้า 2 แฉก มีลวดลายการถักทอที่สวยงาม และเน้นสีแดงส่วนใหญ่ ความต่างโจ่วจึ่งของเปี๊ยะอาข่าจากอาข่ากลุ่มอื่นๆ คือความยาว ซึ่งโดยทั่วๆ ไปจะยาวถึงแค่บริเวณหัวเขา แต่ของเปี๊ยะอาข่ายาวถึงหน้าแข้ง ซึ่งความยาวนี้เมื่อเวลาข้ามน้ำหรือต้องกระโดดจะมีการมาพาดใส่ไหล่ อาข่ากลุ่มนี้นิยม เย็บเสื้อประดับที่แขนอย่างมาก ซึ่งทั้งสองข้างมีแผ่นผ้าที่เย็บเป็นผืนแล้วมาเย็บติดที่แขนเสื้อบริเวณปลาย มีการประดับลูกปัดและเหล็กที่คอ ใส่กระโปรงที่มีกลีบหยักด้านหลัง
การแต่งกายของกลุ่มอ้าเค้ออาข่า
ผู้ชาย: การแต่งกายของผู้ชายอ้าเค้ออาข่า ก็เหมือนกับอาข่าทั่วไป มีการใส่ผ้าพันหัว แต่ไม่นิยมใส่ขนสัตว์ อาจพบบ้างที่มีการเอาดอกไม้มาใส่โดยเฉพาะ ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ในส่วนเสื้อเป็นแบบปกคอจีน แขนยาว มีการปักลวดลายที่ปลายเสื้อข้างหลัง
กางเกงผู้ชายอ้าเค้อเป็นสีดำ ย้อมมาจากสีธรรมชาติ เช่นเปลือกไม้ ใบไม้ ทำให้แผ่นผ้าที่ทำมาจากการปั่นด้าย สีดำเข้ม แต่สีที่นำมาย้อมมีข้อเสียตรงที่สีตกง่าย
ผู้หญิง: อ้าเค้ออาข่ามีการแต่งกายที่ต่างไปจากอาข่ากลุ่มอื่นๆ มาก ไม่ว่าจะเป็นกระโปรง ลวดลายการเย็บหมวก เครื่องประดับ ปกติจุดเด่นของคนอาข่า อยู่ที่หมวกและเครื่องประดับบนหมวก เช่น ขนสัตว์ เครื่องเงิน ความต่างของอ้าเค้ออาข่าจากอาข่ากลุ่มอื่น ปกติผู้หญิงอาข่าส่วนใหญ่จะมีหมวก แต่อ้าเค้อไม่มีหมวก มีเพียงผ้าพันบนหัวเหมือนกับการแต่งกาย ของผู้ชายของอาข่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากไม่มีหมวกแล้วยังไม่มีการประดับด้วยสีสันฉุดฉาดใดๆ จึงไม่พบรอยปัก ลูกเดือย ลูกปัดหรือการย้อมตอกบนหัว แต่อ้าเค้ออาข่านิยมใส่ต่างหูใหญ่ๆ และในคอมีการห้อยไปด้วยเหล็กสีเงิน และลูกปัดขนาดใหญ่สีแดง น้ำเงินและเหลือง
การแต่งกายของกลุ่มอ้าจ้ออาข่า
ผู้ชาย: การแต่งกายของอ้าจ้ออาข่า เหมือนกับอาข่ากลุ่มทั่วไป แต่ในด้านการดำรงรักษาไว้ต่างกัน อาข่ากลุ่มอื่นๆ ในปัจจุบันหาคนที่ไว้จุกบนหัวได้ยาก เพราะได้ถูกปรับเปลี่ยนเข้ากับกาลสมัย แต่กลุ่มอ้าจ้ออาข่าตั้งแต่เด็กโกนผมไว้จุกทั้งชุมชน ซึ่งมีชาวบ้านทุกบ้านที่ไว้จุกเป็นแบบอย่าง อย่างไรก็ตามใน กลุ่มผู้ชายอ้าจ้อที่เข้าโรงเรียนหรือออกไปทำงานในเมือง มักจะเอาจุกออกเสมอ ตามความเชื่อของอ้าจ้ออาข่าเชื่อว่าการเอาจุกไว้เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้เด็ก ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และเชื่อว่าหากเอาจุกออกขวัญในตัวเด็กจะออกไปด้วยทำให้เด็กไม่สบาย
ผู้หญิง: มีความโดดเด่นในการแต่งกาย ในบรรดากลุ่มอาข่าต่างๆ ที่แต่งกายใส่หมวกแหลม มีด้วยกัน 3 กลุ่ม นั้นคือกลุ่ม เปี๊ยะอาข่า อู่โล้อาข่า และอ้าจ้ออาข่า ซึ่งกลุ่มอ้าจ้อเป็นกลุ่มที่มีหมวกแหลมที่สุด หากมองจากที่ไกลๆ กลุ่มนี้จะเด่น เนื่องจากมีลักษณะทรงตั้งแหลม จึงสามารถมองเห็น ได้ในระยะไกลๆ ความยาวหมวกที่ผู้หญิงสวมใส่ ประมาณ 30 เซนติเมตร คนอ้าจ้อมีความภาคภูมิใจในการแต่งกายอย่างมาก ยังมีการใส่หมวก และเสื้อผ้าแบบดั้งเดิม ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลง การแต่งกายส่วนหัวหรือหมวกของอ้าจ้ออาข่าจะเน้นสีแดงเป็นหลัก มีการเอาเส้นไหมพรมมาตัดเป็นช่อมัดติด มีลูกเดือยและลูกปัด ไม่มีขนไก่ หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ มาติด ติดแผ่นเหล็กวงหรือที่เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “โซว้ย เฮาะ” เต็มทั่ว บริเวณคอมีเหล็กห้อยไว้ และมีลูกปัดห้อยสองข้างหู อ้าจ้ออาข่านิยมห้อยลูกปัดจากบนไหล่ข้างขวา ห้อยมาใต้แขนซ้าย กระโปรงของอ้าจ้ออาข่าเป็นแบบฮาวาย มีรอยกลีบหยักด้านหลัง ยาวถึงหัวเขา บนกระโปรงต้นขาหน้ามีโจ่วจึ่งเหมือนกับอาข่ากลุ่มอื่นๆ
การแต่งกายของกลุ่มอูพีอาข่า
ผู้ชาย: มีการแต่งกายที่ต่างจากอาข่ากลุ่มอื่นอยู่ 2 จุด นั่นคือ เสื้อ ซึ่งจะสั้นกว่า สวมใส่ยาวถึงสะดือหรือขอบกางเกงบริเวณเอว ต่างจากอาข่ากลุ่มอื่นที่ใส่ยาวถึงสะโพก แต่รูปร่างลักษณะเสื้อ ไม่ต่างกัน คือ มีแขน ปกคอ และตรงปลายแขนเสื้อนิยมใส่ผ้าแถบสีขาว ซึ่งอาข่ากลุ่มอื่นๆ ไม่มี นอกจากมีความยาวของเสื้อที่ต่างจากกลุ่มอื่นแล้ว อีกจุดหนึ่ง คือ ผ้าพันหัว มีลักษณะเป็นกลีบ และกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อจะใส่ก็มีการพันรอบหัว จนยืดออกมาใหญ่ และมีการประดับขนไก่ย้อมสีบนผ้าพันหัวที่เป็นกลีบ การใช้ผ้าพันหัวของอาข่ากลุ่มนี้มีความแตกต่างจากอาข่าทั่วไป ที่มีการบ่งบอกสถานะของผู้ใส่ว่าโสด หรือแต่งงานแล้ว หากใส่ผ้าพันหัวที่ไม่ได้ทำเป็นกลีบ และผ้ามีขนาดใหญ่ นั่นหมายถึง ยังไม่ได้แต่งงาน แต่หากแต่งงานแล้ว ก็จะใส่ผ้าพันหัวที่มีขนาดเล็กกว่า และทำเป็นรอยกลีบทั้งผืนผ้า
ผู้หญิง: การแต่งกายของผู้หญิงอู่พีอาข่ามีจุดเด่นที่หมวกหรือ “อู่โชว้ะ” และมีความแตกต่างจากกลุ่มอาข่าอื่นๆ ปกติผู้หญิงนิยมใส่ลูกตุ้มเรียงห้อยมาจาก หัวมาถึงหน้าผากทั้งซ้ายและขวา ซึ่งการใส่ลูกตุ้มในลักษณะนี้จะดูคล้ายกับกลุ่มลอเมี๊ยะอาข่า ตรงกลางระหว่างลูกตุ้มอาข่ากลุ่มนี้ประดับไปด้วยแผ่นเงิน มาตัดเป็นวงกลมเจาะรูในแผ่นเหล็กมาเย็บติดตั้งแต่บริเวณหน้าผากยาวขึ้นหัวลงมาถึงท้ายทอย และตรงท้ายทอยมีแผ่นเงินม้วนกลมมัดติด ยื่นลงไป ลักษณะแบกแตะหลัง ตรงบริเวณลำคอด้านหลัง มีการร้อยลูกปัดสีแดง เขียว เหลือง ขาว ซึ่งเป็นสีที่ฉูดฉาดห้อยลงมาทั้งสองข้าง และบริเวณตรงกลางใบหน้า มีการร้อยลูกปัดมัดไว้สองข้างหูห้อยลงมาผสมกับเงินเแถบ ส่วนเสื้อของผู้หญิงอู่พีอาข่าก็คล้ายกับเสื้อของอาข่าทั่วไป คือ ใส่เสื้อสีดำ มีแขนยาว เสื้อยาวถึงบริเวณสะโพก เสื้อบริเวณหลังมีการเย็บลวดสายและตกแต่ง อย่างสวยงาม อาข่ากลุ่มนี้ไม่มีซิบหรือกระดุมเปิด-ปิดเสื้อ แต่จะใช้เชือกสีขาวที่เป็นด้ายมาเปิด-ปิดแทน นอกจากมีเสื้อข้างนอกแล้ว ข้างในมีเสื้อชั้นใน ลักษณะคล้ายเสื้อสายเดี่ยวปัจจุบัน ข้างหน้าจะเย็บผ้าสามเหลี่ยมสีขาว แดง เขียว และอื่นๆ ติดไว้ ส่วนข้างหลังจะมีเส้นด้ายสีดำที่มัดมาจาก ข้างหน้าเหนือนมมามัดติดหลัง กระโปร่งของอู่พีอาข่า เป็นกระโปร่งสีดำแบบฮาวาย มีรอยกลีบหยักด้านหน้า หัวกระโปร่งมีเส้นด้ายที่สอดใส่ เมื่อจะถอดกระโปรงก็มีการคลายเชือกเส้นนี้ เหนือกระโปร่งมีการใส่ผ้าแผ่นใหญ่ยาวบริเวณหน้าต้นขาลงมาถึงบริเวณหัวเข่า ในกระโปรงจะไม่มีการเย็บลวดลายหรือตกแต่งใดๆ จากบริเวณหัวเข่าลงถึงตาตุ่ม จะมีผ้าแผ่นมาห่อหุ้มน่องในบริเวณหน้าแข็ง มีการเย็บแผ่นผ้าที่ตกแต่งด้วยลวดลาย ซึ่งอาข่ากลุ่มนี้เน้นสีแดงและสีที่ฉูดฉาดเป็นพิเศษ
เครื่องดนตรี
สมัยก่อนคนอาข่ามีความเชื่อกันว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างคนขึ้นมา แต่จะสร้างขึ้นมาเพียงเผ่าละ 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลานั้นยังไม่มีประเพณีพิธีกรรม หรือกฎเกณฑ์ใดๆ มากนัก เพราะมีคนจำนวนน้อย ต่อมาได้มีเลขาของพระเจ้าได้ชี้แนะแนวทาง และสอนการทำเครื่องดนตรีให้กับชาวอาข่า และเมื่อคนอยู่ด้วยกันก็ได้เกิดลูกเกิดหลานมากขึ้น ทำให้เกิดประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จึงได้คิดสร้างเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เมื่อเวลาที่ลูกหลานอยู่ห่างไกลกัน ก็จะใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อเพื่อแสดงความคิดถึงต่อกัน จนทำให้เครื่องดนตรีเป็นที่นิยม และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เครื่องดนตรีของอาข่ามีดังนี้
เครื่องดนตรีประเภทดีด
จิ๊งหน่อง (จ๊ะเอว่): การเล่นติ้งหน่องจะใช้วิธีการดีด และจะใช้ลมที่ปาก ช่วยในการทำให้เกิดเสียง ส่วนใหญ่เล่นในเวลาที่ว่างจากการทำงาน หรือระหว่างทางเดินไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่หนุ่มๆ ในหมู่บ้านจะเล่นกัน เพื่อเป็นสื่อในการเกี้ยวสาว โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคนทำ และสอนวิธีการเล่นให้กับหนุ่มๆ ซึ่งพวกเขาจะไม่นิยมเล่นกันต่อหน้าพ่อแม่ เนื่องจากเพลงที่เล่นส่วนใหญ่เป็นเพลงเกี่ยวกับเพลงจีบสาว จึงอาย และไม่กล้าเล่นต่อหน้าพ่อแม่
ซึง (ดรื้ม): ซึงของอาข่าจะมี 3 สาย ซึ่งเป็นเครื่องเล่นของผู้ชายและจะเล่นกันในเวลาที่ว่างจากการทำงาน เพื่อเป็นสื่อการเกี้ยวสาว โดยมีคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านเป็นคนทำให้ และจะสอนวิธีการเล่นให้ด้วย
เครื่องดนตรีประเภทตี
กลอง (ถ่อง): สมัยก่อนกลองจะสามารถทำขึ้นมาได้เอง แต่คนที่สามารถทำกลองได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีบารมีสูง เช่น หมอผี ผู้นำศาสนา ช่างตีเหล็ก หรือผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นต้น คนอาข่าจะเชื่อกันว่า ถ้าผู้ชายคนใดมีภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ห้ามไม่ให้ผู้ชายคนนั้นตีกลอง เพราะเขาถือกันว่า ถ้าหากตีกลองก็เหมือนกับตีลูกของตัวเอง
ฆ้อง (โบวโล): ฆ้องถือเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกครอบครัวในหมู่บ้านจะต้องมี เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมหรือประเพณีที่สำคัญๆของหมู่บ้าน ถ้าครอบครัวใดไม่มีฆ้อง ครอบครัวนั้นก็จะเข้าร่วมในประเพณีหรือพิธีกรรมนั้นไม่ได้ สมัยก่อนฆ้องจะต้องซื้อมาจากเมืองจีน แต่ปัจจุบันในท้องตลาดของบ้านเราก็มีขาย
ฉิ่ง (แจเล้): สมัยก่อนฉิ่งก็ต้องซื้อมาจากเมืองจีนเหมือนกัน เพื่อนำมาใช้ในประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ ที่สำคัญภายในหมู่บ้าน ฆ้อง กลอง ฉิ่ง เครื่องดนตรีทั้งสามชนิดนี้จะต้องเล่นร่วมกันและจะใช้ในพิธีที่สำคัญๆ เท่านั้น และพิธีนั้นก็จะต้องเป็นพิธีเกี่ยวกับส่วนรวมด้วย จะนำมาเล่นภายในครอบครัวไม่ได้ กระทุ้งไม้ไผ่ (บ่อฉ่องตูเออ): การละเล่นกระทุ้งไม่ไผ่หรือ “บ่อฉ่องตูเออ” เป็นการละเล่นที่ใช้เครื่องดนตรีประกอบด้วย การละเล่นประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง หรือกลุ่มแม่บ้าน และจะมีท่าเต้นประกอบด้วย จะเล่นกันในช่วงเทศกาลประเพณีที่สำคัญในหมู่บ้าน เช่น ประเพณีโล้ชิงช้า ไล่ผี และเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะมีการเต้นเป็นวงกลมตามจังหวะของกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ อย่างพร้อมเพรียงกัน
เครื่องดนตรีประเภทเป่า
แคน (หละเจ่): เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่นกันของผู้ชายอาข่า ซึ่งจะเล่นในเวลาที่ว่างหรือช่วงประเพณีต่างๆ โดยใช้บริเวณลานวัฒนธรรมชุมชน เป็นสถานที่เล่น หรือเล่นระหว่างทางไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน เพื่อส่งเสียงให้ผู้คนได้ยิน เครื่องแคนของอาข่ายังไม่พบว่าเกิดขึ้นในช่วงใด หรือมีตำนานกล่าวว่าอย่างไร จากที่ได้สอบถามข้อมูลกับผู้เฒ่าผู้แก่ของอาข่าได้ความว่า เมื่อก่อนชาวอาข่าทำแคนขึ้นมาเอง แต่ไม่สามารถที่จะเล่นได้เพราะไม่รู้จังหวะ และวิธีการเป่า แต่เนื่องจากคนอาข่าสื่อสารกับผีได้ ซึ่งผีสามารถที่จะเป่าแคนได้ ชาวอาข่าจึงเรียนรู้จังหวะ และวิธีการเป่าคนมาจากผี ซึ่งความรู้นั้นจึงตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน คนอาข่าเชื่อกันว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้าง ผี หรือ “แหนะ” ขึ้นมา เช่น ผีแม่น้ำ ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับคนและจะอยู่ร่วมกันกับคน แต่จะมองเห็นได้ในช่วงที่มีเทศกาลหรือพิธีกรรมต่างๆ ชาวอาข่าจะเป่าแคนหลังจากพิธีไล่ผีจนถึงเทศกาลกินข้าวใหม่ ซึ่งจะไม่เป่าในเดือนพฤศจิกายน เพราะว่าในเดือนนี้ผีจะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงไม่กล้าที่จะเป่าแคนในช่วงนี้ เพราะว่าอายและกลัวว่าผีจะลงโทษ เนื่องจากชาวบ้านเรียนรู้จังหวะ และวิธีการเป่าแคนมาจากผีนั่นเอง
ขลุ่ย (ชิวลิ่ว): ขลุ่ยของอาข่าจะเป็นขลุ่ย 3 รู จะเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่นในหมู่ผู้ชายอาข่า ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีขลุ่ยอยู่แต่คนที่สามารถเป่าได้ มีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังเป่ากันอยู่ ในระหว่างเดินทางไปทำไร่ทำสวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานแต่เด็กๆ และเยาวชนในหมู่บ้านจะไม่นิยมเป่ากันแล้ว
ขลุ่ยต้นข้าว: จะนิยมเป่ากันเฉพาะฤดูเกี่ยวข้าวเท่านั้น พวกเด็กๆ และหนุ่มสาวในหมู่บ้านจะนิยมเป่ากัน แต่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยนิยมเป่า และกระชับไม่ให้เด็กเป่ากัน เนื่องจากเชื่อกันว่า ถ้าเป่าแล้วจะเป็นลางร้ายทำให้ฝนตกข้าวในไร่นาเสียหายได้ แต่เด็กมีนิสัยดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟังเท่าไหร่นัก เมื่อเห็นใครทำขึ้นมา เล่นกัน เด็กก็จะเอาไปเล่น การเป่าขลุ่ยต้นข้าวจึงมีมาจนถึงปัจจุบัน เป่าใบไม้ (อะปะบอเออ): ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนิยมเป่าในระหว่างทางไปทำไร่ ทำสวนหรือระหว่างทางไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน เขาจะห้ามเป่าในบริเวณหมู่บ้าน เพราะเชื่อกันว่าใบไม้เป็นของดิบใช้ได้ครั้งเดียว และก็ต้องทิ้งไปถ้าเกิดเอามาเป่าในหมู่บ้าน ก็จะไม่ดีถือเป็นลางร้าย เป่ากระบอกไม้ (บ่อลอบอเออ): มีลักษณะคล้ายกับขลุ่ยต้นข้าว แต่จะทำจากไผ่ลำเล็ก ส่วนมากจะนิยมเป่ากันเป็นกลุ่มหลายๆ คน เวลาจะเดินทางไปไหนมาไหน หรือเข้าป่าลึกคนเดียวจะไม่นิยมเป่ากัน เพราะอาข่ามีความเชื่อว่า เมื่อเราเป่ากระบอกไม้นี้ สัตว์ป่า หรือผีสางในป่าจะมาหาเรา และอาจทำร้ายเราได้ อาข่าจึงไม่นิยมเป่ากระบอกไม้ในป่า จึงเป็นความเชื่อและถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: