เชียงราย-ฉลิมชัย ทุ่ม 10 ล้าน ภาพเขียน-รูปหล่อ-พิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง ขอทำด้วยตนเองกับน้องๆศิลปิน ไม่รับงบจากรัฐบาลเด็ดขาด
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ก.ค.2561 ที่ลานหน้าขัวศิลปะเชียงราย อ.เมืองเชียงราย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย นำศิลปินน้อยใหญ่ของจังหวัดเชียงรายร่วมกันวาดภาพชื่อ The Hero บนผืนผ้าใบกว้าง 3 เมตร ยาว 13 เมตร ด้วยสีซีเปีย บอกเล่าเรื่องราวการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีม “หมูป่า อะคาเดมี” ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อ.แม่สายจังหวัดเชียงราย นานกว่า 17 วัน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากจิตอาสาและหน่วยงานต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอ.เฉลิมชัยเป็นผู้จรดปลายพู่กันเป็นคนแรก ควงลูกชาย “น้องแทน” นายนภัส โฆษิตพิพัฒน์ มาช่วยกันร่วมวาดภาพด้วยอ.เฉลิมชัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย มีผู้เข้ามาช่วยเหลืออยู่ในเหตุการณ์จำนวนมาก มาจากหลายที่หลายองค์กร บางคนได้เสียสละชีวิตเช่น “จ่าแซม” (น.ต.สมาน กุนัน) ทำให้ปฏิบัติการสำเร็จอย่างดี ทั้งคนไทยและคนต่างชาติรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี กลุ่มศิลปินเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก จึงคิดเขียนภาพจิตกรรม ทำรูปปั้นประติมากรรม และสร้างศาลาพิพิธภัณฑ์เป็นสถาปัตยกรรม ให้เป็นอนุสรณ์เตือนความจำกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเชิดชูความดีของผู้เสียสละอย่าง “จ่าแซม” อ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า งานภาพจิตกรรมเป็นภาพเหตุการณ์ต่างๆในการช่วยเหลือคนทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำหลวงด้วยความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกประเทศ และทุกคน บนผืนผ้าใบ กว้าง 3 เมตร ยาว 13 เมตร (เท่ากับจำนวนผู้ติดในถ้ำ 13 คน) วาดด้วยสีซีเปีย เป็นสีโทนน้ำตาลแดง เป็นสีที่ใช้วาดถ่ายทอดความเป็นประวัติศาสตร์ ใช้เวลาวาดเสร็จสิ้นภายใน 2 วัน และใช้เวลาเก็บงานอีกไม่เกิน 7 วัน ก่อนนำไปตั้งแสดงอยู่หน้าสมาคมขัวศิลปะเชียงรายระยะหนึ่ง แล้วนำไปจัดแสดงที่วัดร่องขุ่น และจะนำไปตั้งเป็นการถาวรที่ศาลาพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างรูปหล่อสัมฤทธิ์จ่าแซม-น.ต.สมาน กุนัน หน่วยซีลนอกราชการที่สละชีพในปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของตัวจริง สูงประมาณ 2.40 เมตร มีรูปหมู 13 ตัวอยู่ด้านล่างของฐาน ซึ่งจะนำไปตั้งไว้ด้านหน้าศาลาพิพิธภัณฑ์ฯ ใช้เวลาสร้างประมาณ 6 เดือนอ.เฉลิมชัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับศาลาพิพิธภัณฑ์มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นศาลาทรงล้านนาประยุกต์ ทำจากไม้ยุ้งข้าวเก่าที่มีความแข็งแรงและคงทน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของถ้ำหลวง ซึ่งไม้สามารถอยู่ได้นานไม่ต่ำกว่า 50 ปี มอบหมายให้ อ.สมลักษณ์ ปันติบุญ เป็นคนออกแบบและดำเนินการสร้าง ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน สรุปทั้ง 3 กิจกรรมจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งอ.เฉลิมชัยยืนยันว่า ตนตั้งใจลงทุนด้วยงบประมาณตนเองทั้งหมดกว่า 10 ล้านบาท โดยไม่ขอรับงบจากภาครัฐอย่างเด็ดขาด เพราะต้องการทำกันเองกับกลุ่มพี่น้องศิลปินเชียงราย
ข่าวโดย : หัสดินทร์ธร สองสมุทร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: