เชียงราย-อาคม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย เตรียมยกระดับ‘เชียงราย’เป็น “โลจิสติกส์ ซิตี้” ผลักดันระบบรางเชื่อมเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว
สิ้นสุดการรอคอยกว่า 50 ปี หลัง ครม.ผ่านมติรถไฟรางคู่ เด่นชัย-เชียงราย รมว.คมนาคม ปาฐกถาพิเศษ “กระทรวงคมนาคมกับการขับเคลื่อน จังหวัดเชียงราย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ” พัฒนาด้านคมนาคมขนส่งในภาคเหนือของประเทศไทย ทุกโหมดการเดินทาง เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นผู้เข้าร่วมรับฟังคึกคักวันนี้ (9 สิงหาคม 2561) เวลา 09.00 น. ณ ห้องยูโทเปีย โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เพื่อนำข้อมูลวัตถุประสงค์การก่อสร้างโครงการฯ ประโยชน์ของโครงการฯ และการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการถไฟแห่งประเทศไทย นายสมบูรณ์ ศิริเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “กระทรวงคมนาคมกับการขับเคลื่อน จังหวัดเชียงราย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวนโยบายในการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งในภาคเหนือของประเทศไทย ทุกโหมดการเดินทาง โดยเฉพาะระบบรางที่จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ จากนั้นจึงเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย หัวข้อ“ภาคเหนือเร่งเครื่อง เดินหน้า คว้าโอกาส…รถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ” โดย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการถไฟแห่งประเทศไทย ได้กลาวถึงข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ รวมถึงประโยชน์ของประเทศไทย และที่สำคัญประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนเชียงราย บทบาทของ รฟท. ในการเร่งรัด ผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น นายสมบูรณ์ ศิริเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่มาพูดถึงรถไฟสายประวัติศาสตร์ที่ชาวเชียงรายรอคอยมากว่า 50 ปี ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเชียงราย หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากหลากหลายช่องทาง และวิทยากรอีก 3 ท่าน คือ นายพรเทพ อินทะชัย ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย นายฉัตรชัย พัฒนานุภาพ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และ นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยงจังหวัดเชียงราย ที่กล่าวถึงทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่อเที่ยวของจังหวัดเชียงราย และความต้องการ ตลอดจนเงื่อนไขการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้จังหวัดเชียงราย เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ของภูมิภาค
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นหนึ่งในแผนงานของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จได้ในปี 2566 ด้วยมูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท โดยโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 323.10 กม. มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง โดยมีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ
โครงการนี้ มีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นโครงการที่ก่อสร้างโดยไม่มีจุดตัดทางแยกรถไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทางของการรถไฟฯ และออกแบบสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอดรถไฟ ทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ รวมประมาณ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง และยังมีอุโมงค์คู่ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา รวมระยะทางประมาณ 13.9 กม. เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัยด้วย
ทั้งนี้ เมื่อโครงการนี้ ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,600 คน/วัน และรองรับได้ถึง 9,800 คน/วัน ในปี 2595 สร้างอัตราการเติบโตของผู้โดยสารได้ถึงร้อยละ 1.95 ต่อปี และอัตราการเติบโตของสินค้าประมาณร้อยละ 4.65 ต่อปี นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 413,417 ทีอียูต่อปี ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 951,955 อีทียูต่อปี ในปี 2595 ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก ผ่านด่านเป็นร้อยละ 30-40 ต่อปี โครงการนี้จึงเป็นเส้นทางสำคัญเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่จะมุ่งตรงสู่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และยังสามารถขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลทางท่าเรือแหลมฉบังได้ด้วย รองรับนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (SEZ) เป็นการเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ และเป็นการพลิกโฉมจังหวัดเชียงรายให้เป็น Logistics City ของภูมิภาคในอนาคตอีกด้วยจังหวัดเชียงราย ถือเป็นประตูการค้าชายแดนที่สำคัญของภาคเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับ สหภาพเมียนมา สปป.ลาว และสามารถเดินทางสู่ประเทศจีนตอนใต้ได้อย่างสะดวกตามถนน R3A มีจุดผ่านแดน 3 จุดและ จุดผ่อนปรนรวม 9 จุด มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,314,000 คน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของภาคเหนือ เป็นแหล่งกำเนิดอาหาร/ผลไม้ และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญเช่น ชา กาแฟ ว ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด ยางพารา และปลานิล เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากมาเที่ยว โดยในปี 2559 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวน 3.87 ล้านคน สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดกว่า 32,000 ล้านบาท ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 4.18 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 35,000 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยหากมีการดำเนินการก่อสร้างรถไฟแล้วเสร็จเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว
ข่าวโดย เพทาย บ้านชี
ชมคลิป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: