เชียงราย-อบต.เวียง อ.เทิง ชูโครงการประตูระบายน้ำอิง แก้ปัญหาน้ำแล้ง/น้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมเดินเครื่องใช้งานปี 2568 เชื่อมั่นสามารถควบคุมระดับน้ำอิงได้ตลอดทั้งสาย
นายสวาท สมใจ นายก อบต.เวียง อ.เทิง เผยว่า แม่น้ำอิงเป็นแม่น้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำโขง มีต้นน้ำอยู่ที่ “กว๊านพะเยา” จ.พะเยา ไหลผ่าน อ.จุน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ไหลเข้าจ.เชียงรายผ่าน อ.เทิง อ.พญาเม็งราย อ.ขุนตาล และไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ มีความยาวประมาณ 314 กม. (จากหนองเล็งทรายถึงจุดบรรจบแม่น้ำโขง) แม่น้ำอิงก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับแม่น้ำสายอื่นๆของประเทศไทย คือฤดูฝนน้ำก็ท่วมแต่พอถึงฤดูแล้งกลับแห้งขอดไม่มีน้ำเหลือเก็บ ถึงแม้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ทั้งประเภทโครงการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมประมาณ 608 แห่ง พื้นที่ชลประทาน/รับประโยชน์ทั้งหมดรวม 916,983 ไร่ หรือร้อยละ 38.2 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งลุ่มน้ำอิง แต่ก็สามารถกักเก็บน้ำต้นทุนได้เพียง 236.66 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7.8 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในลุ่มน้ำทั้งปี โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2548 พื้นที่อำเภอเทิงเจอภาวะฝนแล้งรุนแรง น้ำอิงแห้งขอด ไม่พอใช้อุปโภคบริโภค จนผู้บริหารท้องถิ่นต้องขบคิดหาทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว
จากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่ต้องพบเจอในทุกๆปี ทางผู้บริหาร อบต.เวียง ได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งการสร้างฝายกั้นน้ำ การนำรถบรรทุกน้ำไปแจกชุมชนในพื้นที่ รวมไปถึงการช่วยเหลือชาวบ้านเมื่อเกิดอุทกภัย แต่ทั้งหมดที่ดำเนินการก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้
ข่าวน่าสนใจ:
เมื่อเดือนมีนาคม 2551 ทางอบต.เวียงนำโดยนายสวาท สมใจ นายก อบต.เวียง และคณะผู้บริหาร ได้นำเอาปัญหาดังกล่าวไปปรึกษาหารือกับผู้บริหารสำนักงานชลประทานจังหวัดเชียงราย ซึ่งทางสำนักงานชลประทานฯได้แนะนำให้ลองยื่นฎีกาไปถึงสำนักราชเลขานุการ พระบรมมหาราชวัง เพื่อขอพระราชกรุณาขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฝายกั้นลำน้ำอิงเพื่อช่วยเหลือราษฎรตำบลเวียง อ.เทิง ทาง อบต.เวียงจึงได้กลับมาทำหนังสือเพื่อยื่นเรื่องไปที่สำนักราชเลขานุการเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2551 ต่อมาหลังยื่นหนังสือไปถึงสำนักราชเลขานุการได้ประมาณ 1 เดือน ได้มีคณะตัวแทนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ลงพื้นที่ทำการสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำอิงทั้งหมดเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้กับราษฎรในพื้นที่
และในวันที่ 30 มีนาคม 2552 เป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากการยื่นฏีกา ก็เหมือนมีฝนทิพย์หยาดชะโลมลงบนพื้นดินที่แห้งผากของแม่น้ำอิง เพราะได้มีหนังสือตอบรับจากสำนักราชเลขานุการ พระบรมมหาราชวัง ให้รับเอาโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำอิงพร้อมทั้งสถานีควบคุมระดับน้ำไว้เป็นโครงการในพระราชดำริในหลวง ร.9 แต่แม่น้ำอิงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ การจะแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้ได้ผลต้องทำตลอดทั้งลุ่มน้ำ จึงกำหนดให้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำอิงแบ่งเป็น 4 จุด คือ จุดดอยอีสาน-ศรีดอนไชย จุดบ้านร่องริว อ.เทิง จุดบ้านแก่นเจริญและจุดบ้านทุ่งซาง อ.เชียงของ ต่อมากรมชลประทานจึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บ.มหานคร คอนซัลแตนท์ จก. บ.วายพี คอนซัลแตนท์ จก. และบ.พรี ดีเวลลอปเทนท์ คอนซัลแตนท์ จก. เป็นผู้ศึกษาปัญหาผลกระทบตลอดจนแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำอิงตลอดทั้งสาย
ประตูระบายน้ำอิงนี้ใช้งบดำเนินการจากกรมชลประทานเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ได้รับการออกแบบให้เป็นโครงการที่สามารถควบคุมระดับน้ำของแม่น้ำอิงให้คงที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลิ่ง 1.5 เมตรตลอดเวลา เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นจะมีชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำอิงได้รับประโยชน์ทั้งหมด 6 อำเภอตั้งแต่ อ.จุน อ.เชียงคำ จ.พะเยา อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.พญาเม็งราย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ปัจจุบันเริ่มดำเนินการก่อสร้างไปบางจุดแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จทั้งหมดและเริ่มใช้งานในปี พ.ศ.2568 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: