X

คปภ. ธ.ก.ส. และ บมจ.ทิพยประกันภัย ขานรับมติ ครม.เดินหน้าโครงการประกันข้าวนาปี สู้ภัยธรรมชาติและฝ่าวิกฤการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19

เชียงราย-คปภ. ธ.ก.ส. และ บมจ.ทิพยประกันภัย ขานรับมติ ครม.เดินหน้าโครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สู้ภัยธรรมชาติ และฝ่าวิกฤการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานหารือข้อราชการเกี่ยวกับนโยบายและโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่ห้องรับรองสำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ถนนแม่ฟ้าหลวง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้มีการปรับปรุงกรมธรรม์ 4 แบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้เป็นไปตามรูปแบบ และหลักเกณฑ์การรับประกันภัยในปี 2563 ได้ทันที ภายหลัง ค.ร.ม.ได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2563 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการในภาพรวม และเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายดุสิต เหลี่ยมวัฒนา ผอ.ธ.ก.ส.สาขาเชียงราย พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ชีวประวัติงาม ผู้จัดการ บมจ.ทิพยประกันภัย และนางพัชรา สุภาวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการในตำแหน่ง ผอ.สนง.คปภ.จังหวัดเชียงราย ร่วมหารือ โดยทางสำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมความพร้อมและเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประกันภัยนาข้าว ปีการผลิต 2563 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว

โดยปีนี้ได้มีการปรับปรุงกรมธรรม์ข้าวนาปีให้มีความพิเศษและเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 4 แบบกรมธรรม์ดังนี้
1. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เพื่อกลุ่มเกษตกรพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ
3. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
4. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม

โดยมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 จำนวน 17 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจพีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ชมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยไพบูลย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตซุยสุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทแอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอลเอ็มจีประกันภัย จำกัด (มหาชน)

โดยเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2563 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ และวันสิ้นสุดการขายจะแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ คือวันที่ 30 เมษายน 2563 วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 และวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในส่วนความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 97 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนอีก 39 บาทต่อไร่ ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มเอง และเกษตรกรทั่วไปจะจ่ายตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ถ้าเป็นพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายเอง 172 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจ่ายเอง 152 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย โดยถ้าเป็นพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 101 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลือง มีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 24 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วม หรือ ฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือ น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า สำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดตามความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 630 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ โดยภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 บวกส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกันจะได้รับความคุ้มครอง อยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่

ในการนี้ สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวนาไทยให้มีความมั่นคงเนื่องจากอาชีพทำนามีความเสี่ยงสูงเพราะต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติจึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรชาวนาทุกคน ให้ความสำคัญ กับการทำประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งปีนี้มีกรมธรรม์ให้เลือกถึง 4 แบบ ทั้งแบบกรมทัณฑ์ที่รัฐบาลให้การอุดหนุนเบี้ยประกันภัย และแบบกรมธรรม์ที่เกษตรกรชาวนาสามารถซื้อเพื่อเพิ่มความคุ้มครองด้วยตัวเอง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ.1186

ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ.จังหวัดเชียงราย ยังได้มอบหมวกนิรภัย จำนวนทั้งสิ้น 50 ใบ ให้กับจังหวัดเชียงราย โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ นายอรุณ ปินตา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย รับมอบหมวกนิรภัยเพื่อใช้ในการรณรงค์เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

ข่าวโดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881