เชียงราย- กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชียงแสน รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้าง และดำเนินกิจการของโรงงานแต่งแร่ดีบุก ใกล้เขตชุมชน ในตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน โดยอ้างเหตุผลว่าชาวบ้านในพื้นที่ และใกล้เคียงเกรงจะได้รับผลกระทบทางมลพิษซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการของโรงงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานวันที่ 9 ตุลาคม 2561 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชียงแสนประมาณ 70 คน นำโดยนายอิ่นคำ แสนศักดิ์หาญ อายุ 81 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านแม่คำหนองบัว ต.ป่าสัก , นายประยุทธ แสนศักดิ์หาญและนางกัญญาณัฐ มะโน ถือป้ายคัดค้าน การก่อสร้างโรงงานคัดแยก-ถลุงแร่ดีบุก บริเวณพื้นที่บ้านสันมะเค็ด ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน ขอเข้าพบนายอำเภอเชียงแสน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน และแสดงจุดยืนผ่านหน่วยงานปกครองในท้องที่ ไปถึงผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน
ขณะทิ่นายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสน เปิดห้องประชุม รับฟังปัญหารวมทั้งข้อเรียกร้องจากชาวบ้าน และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจ นายอิ่นคำ แสนศักดิ์หาญ ตัวแทนชาวบ้านแสดงความเห็นว่าโรงงานแต่งแร่ดีบุกจะมาตั้งที่อยู่ต้นน้ำใกล้หนองบัวหลวง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอเชียงแสนจึงวิตกว่า สิ่งตกค้างจากโรงแต่งแร่จะส่งผลกระทบกับหนองบัวหลวง และระบบนิเวศรวมถึงพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านใน ต.ป่าสัก อีกหลายหมู่บ้าน
ขณะเดียวกันนางกัญญาณัฐ มะโน กล่าวถึงการทำประชาคม โรงงานแต่งแร่ดีบุกได้ส่งคนมา เรียกชาวบ้านกว่า 200เข้ารับฟัง ยื่นข้อเสนอให้เงินชาวบ้าน 10 ล้าน ให้ตั้งสหกรณ์ภายในชุมชน ให้บริหารกันเอง แต่ชาวบ้านไม่รับข้อเสนอ นางกัญญาณัฐ บอกอีกว่า การดำเนินการโรงงานแต่งแร่ จะส่งผลกระทบโดยตรง 4 หมู่บ้าน บ้านสันมะเค็ด ม.9 แม่คำเกษตร ม.1 แม่คำหลวง ม.2 แม่คำใต้ ม.11 ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด การตั้งโรงงานแต่งแร่ดีบุกซึ่งจะผลิตแร่ออกวันละ 320 ตัน นับว่าเป็นปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศภายในชุมชนจากการปล่อยน้ำเสียที่ทำการชะล้างแร่ 3 ชนิด เช่นสารปรอท สารตะกั่ว และแคลเซียมออกมา หากเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดโรคต่างๆที่ตามมา อย่างโรคมะเร็ง
ด้านนายภาณุวัฒน์ ศรีสุข อดีตผู้ใหญ่บ้านจอมกิตติ ม.6 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวย้ำถึงปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือการใช้น้ำในการแต่งแร่ วันละ 720 ลูกบาศก์เมตร น้ำปริมาณมากจำนวนนั้นจะเอามาจากไหน แม้จะใช้น้ำระบบหมุนเวียนก็ตาม การถ่ายเทน้ำแร่ของโรงงานออกไปทางไหน คงจะหนีไม่พ้นต้องปล่อยน้ำลงภายในชุมชนจะกระทบหนองบัวหลวงแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชียงแสน และชาวบ้านส่วนหนึ่งที่รวมตัวกันเข้าพบนายอำเภอเชียงแสน เพื่อแสดงจุดยืน และความวิตกจากผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะตามมา จึงเรียกร้องให้อำเภอเชียงแสนระงับการก่อสร้างโรงงานนี้
ด้านนายพินิจ นายอำเภอเชียงแสน กล่าวว่าเพิ่งจะรู้เรื่องของโรงงานแต่งแร่ดีบุก โดนให้เหตุผลว่าเบื้องต้นทางบริษัทเอกชนเข้ามาปรึกษาและจะทำการศึกษาพื้นที่ โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยข่อนแก่น มาทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ตนจึงได้ให้ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงไปร่วมประชุม โดยตอบกลับผู้ประกอบการว่า การขอตั้งโรงงานแต่งแร่ดีบุกเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย ต้องผ่านขั้นตอน อีกหลายหน่วยงาน และที่สำคัญ ต้องทำ EIA (Environmental Impact Assessment Report) หรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบ ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี หากมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ตนจะสั่งการให้ทำครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และตำบลที่ใกล้กับตำบลเวียง จะจัดให้ที่หอประชุมของอำเภอเชียงแสน ทั้งนี้ พื้นที่อำเภอเชียงแสน จ.เชียงรายรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งตนได้กำหนดลงไปว่า อุตสาหกรรมที่จะมาลงในอำเภอเชียงแสน ต้องเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
หลังการแสดงความคิดเห็นชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับนายพินิจ แล้วเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ผบ.นรข.เขตเชียงราย ที่ นรข.เขตเชียงราย ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. พลตรีสัชฌาการ คุณยศยิ่ง ผบ.มทบ.37 เชียงราย และ พลตรีคณเดช พงศบางโพธิ์ รอง ผอ.รมน.จ.เชียงราย ได้เดินมาพบกับกลุ่มผู้คัดค้าน ที่ห้องประชุมบนที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ซึ่งนายพินิจได้เสนอข้อมูล และ ตัวแทนของกลุ่มผู้คัดค้านได้ชี้แจงเรื่องเกิดขึ้นให้พลตรีสัชฌากร ได้รับฟังพร้อมยื่นหนังสือร้องคัดค้าน จากนั้นพลตรีสัชฌากร ได้เดินทางไปดูพื้นที่สร้างโรงงาน ในเขตบ้านสันมะเค็ด
พลตรีสัชฌาการ กล่าวว่า หลังทราบว่าชาวบ้านเดือดร้อน เกรงว่าโรงงานจะเริ่มก่อสร้างขอให้พี่น้องชาวบ้านสันมะเค็ด และหมู่บ้านพื้นที่ใกล้เคียง อย่าได้วิตกกังวลกับการก่อสร้างโรงงานแต่งแร่ เพราะขั้นตอนที่จะได้รับอนุญาตยังมีอีกหลายขั้นตอน และจะจัดการประชาคมขึ้นอีกครั้ง โดยจะมีแบบฟอร์มให้ชาวบ้านลงความเห็น เอาหรือ ไม่เอาอีกครั้ง หากการลงประชาคมครั้งต่อไปชาวบ้านไม่เอา ก็จะไม่สามารถก่อสร้างโรงงานแต่งแร่ดีบุกได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: