เชียงราย-ชาวเชียงแสนสำรวจพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ 980 ไร่ ที่มีพื้นที่บางส่วนใช้เลี้ยงกระบือ กว่า 1,000 ตัว เป็นอาชีพ พร้อมเดินหน้า หวั่นการตั้งสถานศึกษาทับที่เลี้ยงสัตว์และบ่อขยะเชียงแสน วอนภาครัฐพิจารณาใช้พื้นที่ให้รอบคอบ และใกล้กันยังมีปัญหาการบุกรุกป่า ชุมชนห้วยห้อม ป่าผืนสุดท้าย
หลังจากที่ ชาวบ้าน 200 คน จากบ้านเวียงเหนือ หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้รับทราบข้อมูลการนำเสนอตั้ง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 วิทยาเขตห้วยเกี๋ยง และวิทยาลัยเทคนิคเชียงแสน ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเลี้ยงสัตว์และบ่อขยะเชียงแสน บ้านห้วยเกี๋ยง ตำบลเวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่ชาวบ้านยังไม่มีมติ เพราะข้อมูลไม่ชัดเจนนั้น และเกรงผลกระทบต่อชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์อยู่ และผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียนหากมาอยู่ใกล้บ่อขยะ สุ่มเสี่ยงต่อการเสียงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์สูงสุดในวันที่ 30 มิ.ย.63 แกนนำกลุ่มชาวบ้าน และคนสูงอายุที่เกิดและโตที่บ้านห้วยเกี๋ยง ราว 20 คน ได้รวมตัวกันพาสื่อมวลชนสำรวจพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ไปทาง สามเหลี่ยมทองคำ ราว 6 กิโลเมตร ใกล้วัดห้วยเกี๋ยง ต.เวียง อ.เชียงแสน พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสร.) ราว 980 ไร่ ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการหลายหน่วยเช่น ตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช การประปา และ บ่อขยะเทศบาลเชียงแสน และพบว่า ชาวบ้านได้ทำคอกปศุสัตว์เลี้ยงกระบือ ราว 1,000 ตัว แต่ไม่ให้มีการสร้างบ้านพักบนพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านยังยืนยันว่าเกรงจะเสียสิทธิ์ในการทำกินหากมีการตั้งสถานศึกษาที่นี่
นายบุตร ไชยกุล อายุ 82 ปี คนเก่าแก่ซึ่งเกิดที่บ้านห้วยเกี๋ยง เล่าว่าแต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้ ตั้งแต่กำแพงเมืองเชียงแสน ถึง สามเหลี่ยมทองคำ ถือเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์มานานต่อมาความเจริญมากขึ้น พื้นที่รอบๆก็มีการเข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำให้ชาวบ้านเหลือพื้นที่เลี้ยงสัตว์และทำการเกษตรเท่านี้ อยากให้ราชการพิจารณาข้อมูลการตั้งสถานศึกษาให้ถี่ถ้วนเพราะมีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน นายหลง คำหงส์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านห้วยเกี๋ยง ซึ่งขณะนี้เลี้ยงกระบือ 20 ตัว บนพื้นที่นี้มานาน กว่า 15 ปี กล่าวว่า คนเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันก็เริ่มมีผลกระทบ ต้องระวังกระบือไม่ให้ไปทำเสียงและกลิ่นไปรบกวนคน หากมีการตั้งสถานศึกษาเพิ่มในพื้นที่จะมีผลกระทบแน่นอน เพราะมีนักเรียนเข้ามาเยอะพวกตนคงจะตกงาน ไม่รู้ไปอยู่ไหน วอนให้ทุกฝ่ายพิจารณาให้ถ้วนถี่ด้วย
นายวุฒิชัย ยานะ แกนนำชาวบ้าน หมู่ 2 บ้านเวียงเหนือ กล่าวว่า นอกจากนี้ ใกล้พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ เหลือผืนป่าสุดท้ายของตำบลเวียง อ.เชียงแสน เรียกว่า ป่าห้วยห้อมเป็นป่าต้นน้ำ มีไม้ประดู่ ไม้สัก และไม้เนื้อแข็งและสัตว์ป่า เช่นไก่ป่า อีเห็น อาศัยอยู่ มีอ่างเก็บน้ำคึกฤทธิ์ ซึ่งสร้างสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็น นายกรัฐมนตรี แล้วให้งบสร้างมาราวปี 2518-2519 และชาวบ้านได้ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับนาไร่และให้กระบือได้มาดื่มกินและลงแช่ ซึ่งป่าห้วยห้อม มีเนื้อที่วัดจากจีพีเอส ราว 2,167 ไร่ แต่ต่อมามีการเดินสำรวจรังวัด กลับเหลือพื้นที่เพียง 1,874 ไร่ มีการเสนอให้เป็นป่าชุมชน เมื่อ 6 สิงหาคม 2562 แต่ติดปัญหาที่ผู้นำชุมชนไม่ยอมนำเอกสารมาประกาศ เพื่อตั้งคณะกรรมการเสนอทางจังหวัดและอธิบดีกรมป่าไม้ลงนามรับรอง เกรงว่าอาจจะเสียโอกาสแล้วทำให้ไม่ได้เป็นป่าชุมชน แต่จะกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมแทนและอาจถูกบุกยึดจากนายทุน ตนขอย้ำว่าอยากอนุรักษ์ป่าชุมชนห้วยห้อม เพื่อให้รุ่นลูกหลานเพราะหากไม่อนุรักษ์หรือล่าช้าอาจจะทำให้เสียสิทธิ์การเป็นป่าชุมชนและพื้นที่ป่าจะหายไปอีกมาก
มีบันทึกเป็นเอกสารว่าที่ผ่านมา มีกรณี เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก.จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 156 ไร่ ของกลุ่มทุนที่ออกโดยมิชอบ เพราะกรมที่ดินเคยเรียกสอบเจ้าของแต่ไม่สามารถชี้เขตของตนเองได้ ที่จึงตกอยู่ในเขตป่าชุมชนห้วยห้อม แต่หากป่าชุมชนไม่สามารถสานต่อตั้งขึ้นให้สมบูรณ์อาจจะทำให้มีการบุกยึดพื้นที่อีก เพราะที่ดินแถบนี้กำลังมีราคาพุ่งจากราคาไร่หลักแสนบาท เป็นไร่ละ 2 ล้านบาท เพราะชายแดนติดน้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ตรงข้ามเขตเศรษฐกิจพิเศษดอกงิ้วคำ สปป.ลาว ที่นักลงทุนจีนมาเช่า 99 ปี กำลังสร้างเมืองขนาดใหญ่สังเกตุเห็นได้ชัดเจนจากฝั่งไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
- หนาวนี้ไปแอ่วเมืองเจียงฮายกั๋นเต๊อะ! ส่อง 7 อีเวนต์ไฮไลต์ใน “เทศกาลสีสันกาสะลอง 2024”
- สจ.เปี๊ยกไม่ปลื้ม นายกไก่เปลี่ยนใจยอมสยบฉายแสง สุดท้ายกลายเป็นมาให้กำลังใจ
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
- สุราษฎร์ ฯ อ่วม ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน จนท.เร่งช่วยเหลือประกาศภัยพิบัติเพิ่มเป็น 8 อำเภอ เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: