เชียงราย-ทหารเรือ นรข.เขต เชียงราย และผู้เชี่ยวชาญจากกองทัพเรือ เตรียมความพร้อม กู้เรือแม่โขงเดลต้า รวมใจเป็นหนึ่ง ดีเดย์ 18 ส.ค.หากน้ำโขงลดคลื่นลมสงบ จะส่งมนุษย์กบดำน้ำโขงลงไปอัดอากาศในถังอับเฉาท้ายเรือให้ท้ายยก พร้อมตรึงเรือไว้กับเรืออีกลำ แล้วทยอยผูกถังน้ำมันรอบเรือ สูบน้ำและทรายออก น่าจะทำให้เรือเกิดแรงยกลอยตัวขึ้นมาได้อีกครั้ง
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 15 ส.ค.63 นี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อม นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ และคณะ ได้เดินทางมาร่วมดูการเตรียมการจะหาทางกู้เรือ แม่โขงเดลต้า ณ ท่าเรือแม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ บ้านป่าสักหางเวียง ม.3 ต.รอบเวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และดูจุดที่เรือจมหน้าท่า ซึ่งมีฝนตกประปราย โดยมีเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เตรียมการจะกู้เรือตามแผนปฏิบัติ ”รวมใจเป็นหนึ่ง” นั้น
นาวาเอก ไวพจน์ วีระประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง(ผบ.นรข.) เขตเชียงราย เปิดเผยถึงแผน กู้เรือแม่โขงเดลต้า ว่า ขณะนี้จากการประเมินกัน คาดว่าตัวเรือแม่โขงเดลต้า ยังไม่ได้เป็นอันตรายต่อเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง ความเร่งด่วนในการกู้เรือไม่ถึงกับเร่งด่วนมาก ต้องรอให้น้ำและกระแสน้ำลดลงก่อนเพื่อความปลอดภัย โดยประสานกำลังกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เตรียมอุปกรณ์และรอเวลาที่เหมาะสมค่อยจึงลงมือปฏิบัติ คาดว่าจะสำเร็จ โดย นรข.เขตเชียงราย มีกำลังพลและอุปกรณ์ทางน้ำพร้อมสนับสนุนเต็มที่
ทางด้าน นาวาเอก พันธ์ยศ พัฒนะธราพงศ์ รองผู้อำนวยการ กองโครงการและงบประมาณ กรมอู่ทหารเรือ ผู้เชี่ยวชาญจากกองทัพเรือ คาดว่าส่วนประกอบตัวเรือแม่ของเดลต้า ขณะนี้เสียหายเพียงเล็กน้อย ยังรอได้ที่จะค่อยๆกู้ขึ้นมาอย่างปลอดภัยที่สุด ต้องรอระดับน้ำโขง ที่ขณะนี้หน้าท่าลึกกว่า 4 เมตร ลดลงก่อน เพราะหากกู้เรือตอนน้ำเชี่ยวจะไม่ปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติ เรือแม่โขงเดลต้าจมอยู่ในน้ำขณะนี้จะหนักประมาณ 1,000 ตัน เพราะมีน้ำและดินทรายในเรือจากการจม การยกเรือขึ้นมาโดยใช้เครื่องจักรกลโดยตรงไม่สามารถทำได้ ต้องใช้กำลังสำรองในการลอยตัวของเรือโดยจะหาทางส่งมนุษย์กบและอุปกรณ์ไปปิดผนึกห้องอับเฉาท้ายเรือ และอัดอากาศในเข้าไปในช่องอับเฉา มีช่องทางอากาศเข้าและออก แล้วอุดด้วยวอเตอร์ปลั๊ก จะทำให้เรือเกิดจุดหมุนท้ายเรือจะยกขึ้น หัวเรือจะกดลง ให้เรือมีกำลังยกตัวเองขึ้นมา มีแรงดึงยกประมาณ 95,000 กิโลนิวตัน
เมื่อท้ายเรือยกขึ้น จะตรึงผูกเรือไว้กับเรือสินค้าอีกลำหนึ่ง(เรือตงหลง) ไม่ให้เรือพลิกแล้วใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตรที่เตรียมไว้กว่า 20 ใบ ผูกติดด้านข้าง กาบลำเรือ และดาดฟ้าของเรือเพื่อประคองเรือ จะทำให้มีกำลังลอยตัวอีกประมาณ 28,000 กิโลนิวตัน จึงจะต่อด้วยการใช้เครื่องสูบกำลังสูงสูบน้ำและทรายออกจากเรือ หากเรือไม่เสียหายมากนัก ก็จะทำให้เรือกลับมาลอยตัวได้เหมือนเดิม โดยแบ่งการทำงานของเจ้าหน้าที่ออกเป็นสามส่วนหลักก็คือ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติงาน และส่วนสนับสนุน ระหว่างที่รอเวลานี้ส่วนสนับสนุนก็กำลังเตรียมความพร้อม จัดหาอุปกรณ์กู้เรือทั้งจากในพื้นที่และต่างพื้นที่ อุปกรณ์บางชิ้นอาจจะใช้เวลาในการจัดหามาสองวัน ซึ่งภายในวันอังคารที่ 18 สิงหาคม 63 จะพิจารณาว่าจะสามารถปฏิบัติงานกู้เรือ โดยประเมินสถานการณ์ว่าสภาพคลื่นลมและระดับน้ำในแม่น้ำโขงเอื้ออำนวยต่อการกู้เรือหรือไม่ หากฟ้าฝนเป็นใจก็จะลงมือปฏิบัติตามแผนได้ ช่วงนี้ขอฝากเตือนให้ผู้ประกอบการที่มีเรืออยู่ในแม่น้ำโขงซึ่งช่วงนี้มีกระแสน้ำเชี่ยวแรงให้ยึดเรือไว้กับท่าขณะจอดให้แน่นหนามั่นคงตามมาตรฐานของกรมเจ้าท่า พร้อมตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆให้ใช้งานได้อย่างดีเพื่อความปลอดภัยด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: