เชียงราย-การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเกษตรกรผุด 4 โครงการปูพรมถนนยางพาราเชียงราย
วันที่ 12 ก.ย.2564 นายไสว นารีผล ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคเหนือ เดินทางไปตรวจดูการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ระยะทางยาวประมาณ 900 เมตร พื้นที่หมู่ 9 ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หลังจากที่การยางแห่งประเทศ จ.เชียงราย ได้ดำเนินโครงการประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 4 โครงการ โดยโครงการแรกคือการสร้างถนนสายดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สัญจรไปมาได้โดยสะดวก
นายไสว นารีพล ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคเหนือ กล่าวว่า โครงการแรกเป็นความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทย จ.เชียงราย กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า องค์การบริหารส่วนตำบลสันสลี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยใช้งบประมาณ 790,700 บาท ใช้ยางพาราที่ค่าเนื้อยางแห้งหรือ DRC ไม่ต่ำกว่า 10% น้ำหนักรวมประมาณ 10,800 กิโลกรัม ดำเนินการก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ระยะทางยาวประมาณ 900 เมตร โครงการที่ 2 เป็นการผลิตกระชังบกเลี้ยงปลาโดยร่วมกับสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงราย โครงการที่ 3 เป็นการผลิตกระชังบกเลี้ยงปลาเพื่อจัดทำอาหารกลางวัน โดยร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จ.เชียงราย ใช้น้ำยางเครือบผ้า
สำหรับโครงการสุดท้ายเป็นโครงการลู่วิ่งสนามฟุตบอลของกลุ่มเกษตรกรบ้านแม่แอบ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน โดยร่วมกับ อบจ.เชียงราย และกลุ่มชุมชนโรงเรียนแม่แอบวิทยาคม ทั้งนี้ทั้ง 4 โครงการใช้งบประมาณรวมกันประมาณ 1.7 ล้านบาท สามารถดูดซับน้ำยางออกจากตลาดมาได้รวมกันประมาณ 26 ตัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในการเก็บน้ำยางออกจำหน่ายในราคาที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมกิโลกรัมละ 2 บาทด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและการยางแห่งประเทศไทย ในการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราอันจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
ด้านนายนรินทร์ หล้าตัน ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำนักช่าง อบจ.เชียงราย กล่าวว่า การทำถนนยางพาราได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 หลังจากเกิดปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งต่อมาทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้คิดค้นเทคโนโลยีการนำเอายางพาราผสมกับซีเมนต์เพื่อใช้ในการก่อสร้างถนนได้สำเร็จ ทาง อบจ.เชียงราย จึงได้ทำการศึกษาเพื่อนำเอามาปรับใช้กับพื้นที่ จ.เชียงราย โดยเริ่มดำเนินการถนนเส้นแรกเมื่อเดือน มี.ค.2561 ณ วัดห้วยปลากั้ง ต.ริมกก หมู่ที่ 14 บ้านเหล่าพัฒนา เมือผ่านมา 3 ปีพบว่า สภาพถนนแข็งแรงและใช้การได้ดี จึงได้ต่อยอดด้วยการปูพื้นผิวต่อด้วยแอสฟัลติกคอนกรีต ปัจจุบัน อบจ.เชียงราย มีเครือข่ายคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ และการยางแห่งประเทศไทยที่ช่วยประสานและตรวจคุณภาพน้ำยางพารา รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงรายเป็นหน่วยงานทดสอบวิศวกรรมให้ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในจังหวัดอย่าง อบต.บัวสลี หรือที่ จ.เชียงใหม่ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปขยายผลก่อสร้างถนนได้ กว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นเครือข่ายต้นแบบที่จะมีประโยชน์อย่างมากในอนาคต สำหรับข้อดีคือการแก้ปัญหาเรื่องราคายางและคุณภาพยางพารา เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเกษตรกรมักผลิตยางก้อนถ้วย ซึ่งมีกลิ่นเหม็นแต่หากผลิตเป็นน้ำยางพาราและมีโครงการจากเครือข่ายเข้าไปก็จะช่วยทำให้เกษตรกรผลิตน้ำยางที่ได้คุณภาพและราคาดีต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
- เปิดบริการแล้ว MFU Wellness Center มฟล. ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
- ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เชิญส่วนราชการ เอกชน สื่อมวลชน 50 คน เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนกระตุ้นการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจในชุมชน อย่างยั่งยืน
- บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยเชียงราย เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมกับนำทีมผู้สมัคร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
- รวบสาวใหญ่ซิ่งมอไซค์ขนยาบ้า 516,000 เม็ด
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: