เชียงราย-จ.เชียงราย จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น การพัฒนาคมนาคมเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
เวลา 09.00 น. วันที่ 25 ก.ย. 66 นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง โครงการศึกษาการจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยได้รับเกียรติจากนายกฤชเพชร เพชรบูรนินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วย จ.เชียงราย จ.พะยา จ.แพร่ และ จ.น่าน ร่วมในกิจกรรมการสัมมนา ณ ห้องประชุมเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย
โดยมีนายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและการจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นผู้กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ และมีผู้ร่วมสัมมนาหลักประกอบด้วย น.ส.จริยา ทองจันทึก ผ้จัดการโครงการ นำเสนอรายละเอียดภาพรวมของโครงการ ดร.สุทธิพงษ์ มีใย ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ความต้องการเดินทางและขนส่ง ผศ.ดร.เกรียงไกร อรุโณทยานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และ ผศ.ดร.ฆนิศา รุ่งแจ้ง ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์และการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคมนาคม ร่วมนำเสนอการพัฒนาศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของกลุ่มจังหวัด
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและการจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจโลก โครงสร้างประชากร เทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่องเนื่อง โดยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบ เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในภาคการเษตร อุตสาหกรรม บริการ และการท่องเที่ยว มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในด้านโครงข่ายคมนาคม ในพื้นที่เขตเมืองและเชื่อมโยง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการขนส่ง
ข่าวน่าสนใจ:
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ปัจจันมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีโครงข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกับประเทศเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และสามารถเชื่อโยงต่อไปเวียดนาม และจีนตอนใต้ ได้อย่างสะดวก โดยผ่านแนวระเบียงเศรษฐกิจการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekhog Subregion, GMS) แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor, EWEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor, NSEC) ตามแนวเส้นทาง R9, R12, R3A, R3B ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเสมือนประตูเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวของประเทศ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งในภาพรวมของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการบริหารจัดการ รวมถึงกฏระเบียบและการอำนวยความสะดวก เพื่อเสริมศักยภาพรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เชื่อมต่อกับระบบหลักของประเทศและอนุภูมิภาคตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก รวมทั้งการจัดทำแผนการพัฒนาด้านการคมนาคมในพื้นที่เพื่อสนับสนุนภาคการผลิต การบริการ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบโลจิสติกส์ รวมถึงสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ชาติ
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ มีด่านศุลกากร 5 แห่ง และมีด่านชายแดน 19 แห่งใน 3 จังหวัด ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม GMS ทำให้มีการดำเนินการกิจกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวร่วมกัน แต่ในช่วงฤดูแล้งก่อนเตรียมการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ จะพบปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ภาวะเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสานความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันในอนาคต
“วันนี้ทาง สนข. ได้มานำเสนอโครงการและรับฟังความเห็นเบื้องต้นของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อศึกษาการจัดทำแผนเกี่ยวกับโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องของถนน รถไฟต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่ง ที่จะช่วยในการเชื่อมโยงแผนงานหลักของการคมนาคม ซึ่งจากข้อคิดเห็นที่ได้รับฟังจากทั้งมุมมองของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งทางทีมที่ปรึกษาก็จะได้นำไปวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติการ การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ อย่างเช่นในกรณีที่ทางประเทศเพื่อนบ้านได้ทำเส้นทางเชื่อมโยงเข้ามาแล้ว เราจะต้องไปดูว่าเราจำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานอย่างไรบ้างที่จะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้สอดรับกัน เพื่อให้สามารถใช้โครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ต่อไป” นายจิรโรจน์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: