เชียงราย-เผยโฉม 20 ศิลปินโชว์ผลงานสร้างสรรค์ 9 ธ.ค. 2566 ถึง 30 เม.ย. 2567 ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก นับถอยหลังเชิญชมผลงานสร้างสรรค์จากศิลปินทั่วโลก ในงาน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ศกนี้ ณ สถานที่ต่าง เช่น ขัวศิลปะ ,หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ขัวศิลปะ แห่งใหม่,บ้านดำ ฯ
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.30 น. ณ รร.แสนโฮเทล อ.เมือง จ.เชียงราย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัว 20 ศิลปิน ชุดสุดท้ายของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และ ภัณฑารักษ์ พร้อมด้วยศิลปินผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ศาสตรเมธี ดร. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผย การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ได้คัดเลือกศิลปินจากทุกทวีปทั่วโลก 21 ประเทศ จำนวน 60 คน เข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ในวันนี้เป็นการเปิดตัวศิลปิน 20 คนสุดท้าย ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าของการเตรียมงาน และการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการจัดงานมีความพร้อมอย่างมาก ทั้งในด้านสถานที่การจัดงาน และการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปีนที่เริ่มสร้างผลงานไปตามแผนงาน พร้อมที่จะอวดผลงานแก่ทุกคนตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ศกนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า จากแนวคิดหลักของ Thailand Biennale,Chiang Rai 2023 ซึ่งเกิดมาจากการลงพื้นที่ศึกษา และค้นหาบริบทของเชียงรายมีข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางเปิดโลก ที่ประดิษฐาน ณ วัดป่าสัก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพวัฒนธรรม ที่แสดงถึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลากหลายในเอเชียจนเป็นที่มาของแนวคิด The Open World หรือ เปิดโลก ในครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญที่เราจะนำเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมของไทย สอดแทรกไปกับการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน ส่งเสริมให้จังหวัดเชียงรายกลายเป็น “เมืองศิลปะระดับโลก” ‘และเป็นจุดหมายที่นักเดินทางทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชมสร้างกรบูรณาการระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการพัฒนาสินค้าและท่องเที่ยวให้ชุมชนเกิดรายได้ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของเทศกาลศิลปะนานาชาติ เป็นการตอบสนองนโยบายประเทศไทย ที่ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของวธ. และการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย Soft power ให้ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ดังนั้นตลอดระยะเวลา 5 เดือนของการจัดงาน จังหวัดเชียงรายจะเต็มไปด้วยผลงานศิลปะจากผลงานหลักของ 60 ศิลปิน กิจกรรมคู่ขนาน อาทิ การแสดงดนตรีชาติพันธุ์ ศิลปะการแสดงการฉายภาพยนตร์ กิจกรรมการศึกษา พาวิลเลี่ยน 13 พาวิลเลี่ยน และการเปิดบ้านของศิลปีนเชียงรายอีกกว่า 80 หลัง วันนี้จึงเป็นการนับถอยหลังเข้าสู่การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโลกแห่งการรับรู้ทางศิลปะ เปิดประเทศ และเปิดเมืองเชียงราย เชื่อมโยงศิลปะสู่วิถีชีวิต ร่วมกันบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีไปพร้อม ๆ กับพี่น้องชาวเชียงราย
ข่าวน่าสนใจ:
- กลุ่มผู้รับเหมาประกาศกฎเหล็กไม่ดำเนินงานต่อโครงการพลังงานสะอาด หาก UJV ไม่ชำระหนี้เก่าทั้งหมด
- ท่องเที่ยว ประจวบฯ-เพชรบุรี เติบโตต่อเนื่อง คาดคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ ท่องเที่ยวคึกคักส่งท้ายปี
- บินแล้วแรงงานไทยชุดแรก
- ประธานวุฒิฯ-พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานด้าน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส รับฟังปัญหาในพื้นที่เชียงราย
ด้าน นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในฐานะเจ้าบ้าน จังหวัดเชียงรายได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ทุก ๆ กิจกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิศิลปินเชียงราย ขั้วศิลปะ องค์การบริหารส่วนตำบล หอการค้า ห้างร้าน มูลนิธิ สมาคมต่าง ๆ จนทำให้ขณะนี้พร้อมต้อนรับคณะศิลปิน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาชมงานในครั้งนี้ ในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่จัดงานความพร้อมของผู้คนชุมชนโดยมั่นใจว่าหากได้มาเยือนจะหลงรักเชียงราย เพราะนอกจากความสวยงามของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตก ป่าไม้ วัดวาอาราม แหล่งประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีชีวิต จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองสำคัญที่มีความอุดมสมบูรณ์มีศักยภาพด้านทุนทางวัฒนธรรม ที่มีประวัติศาสตร์ อันยาวนาน งดงามด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา มีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และที่น่าภูมิใจยิ่ง คือเป็นถิ่นของปราชญ์ของแผ่นดิน และศิลปีนหลากสาขา เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ล้วนได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงนศิลปะที่มีคุณค่าให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เชียงรายได้รับการยอมรับในฐานะ “เมืองศิลปะ” เมืองศิลปิน ถิ่นทองของศิลปะร่วมสมัยอย่างแท้จริง
ด้านผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) คุณกฤติยา กาวีวงศ์ และภัณฑารักษ์ (Curators) คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ และคุณมนุพร เหลืองอร่าม เน้นย้ำถึงที่มาของแนวคิด The Open World หรือ เปิดโลกว่า เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่และศึกษาข้อมูลของจังหวัดเชียงรายได้พบข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางเปิดโลกซึ่งประดิษฐาน ณ วัดป่าสัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1938 ในสมัยพญาแสนภู ผู้สร้างเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นหลานของพญามังราย โดยพุทธลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปปางเปิดโลก ประทับยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ้าพระหัตถ์ทั้งสองไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลกทั้ง 3 ได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ แสดงให้เห็นถึงปัญญาและการตื่นรู้
จึงกล่าวได้ว่า “เปิดโลก” หรือ The Open world มีความหมายที่ตรงไปตรงมา แต่สามารถตีความได้แบบปลายเปิด ที่สื่อถึงการเปิดโลกการรับรู้ทางศิลปะที่เชื่อมโยงความจริงในสังคมและนำไปสู่การตั้งคำถามด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยว่าเราจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่ดีกว่าอีกครั้งได้หรือไม่นอกจากนี้”เปิดโลก” หรือ The Open World ยังหมายถึง ความสำคัญของการเรียนรู้จากอดีต ทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์อันชับซ้อนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของประเพณีและมรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา ด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องเล่าความเชื่อและมิติอันหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนระบบนิเวศของเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะชุมชนศิลปินเชียงรายซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยมีอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่สำคัญในการกลับมาสร้างสรรค์บ้านเกิดเมืองนอนให้เข้มแข็งและมีศักยภาพความพร้อมในมิติของการเป็นพื้นที่ จัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 อีกด้วย ส่วนพาวิลเลี่ยน ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญที่พัฒนาเพิ่มเติมจากการจัดงาน 2 ครั้งที่ผ่านมาThailand Biennale, Chiang Rai 2023 มีการแสดงผลงานของพาวิลเลี่ยนที่เข้าร่วม 13 พาวิลเลี่ยน 1.กลุ่มศิลปีนแม่ลาว 2.กลุ่มศิลปินสีน้ำนานาชาติ (ขัวศิลปะ) 3.กลุ่มสล่าเมืองพาน 4.เดอะคาโนปี้ โปรเจกต์ 5.โปรดักชัน โซเมีย 6.พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม 7.พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่วอร์ซอร์ 8.พุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ ฟ้าหลวง 9.แม่ญิงอาร์ตติสคอลเลคที่ฟ 10.รูบาน่า 1 1.ศาลาสล่าน 12.Korean pavition และ13.PLUMIOPHILE สำหรับ 20 ศิลปินชุดสุดท้ายใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ได้แก่ 1. อัลมากุล เมนลิ บาเยวา (อัลมาตี/เบอร์ลิน) 2. อริญชย์ รุ่งแจ้ง (กรุงเทพฯ) 3. อัททา ความิ (อักกรา/ลัฟบะระ) 4. ชาไคอา บุคเคอร์ (นิวยอร์ก) 5. เฉิง ชินห้าว (คุนหมิง) 6. กรกฤต อรุณานนท์ชัย (กรุงเทพฯ/นิวยอร์ก) 7. วุธ ลีโน (พนมเปญ) 8. มาเรีย เทเรซา อัลเวช (เบอร์ลิน/เนเปิลส์) 9. พาโบล บาร์โธโลมิว (นิวเดลี) 10. ปีแอร์ ฮุยจ์ (นิวยอร์ก/ซันดิเอโก) 11. ซาราห์ ชี (นิวยอร์ก) 12. ชิมาบุกุ (นาฮะ) 13. สมลักษณ์ ปันติบุญ (เชียงราย) 4 ทรงเดช ทิพย์ทอง (เชียงราย) 15. ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ (เชียงใหม่) 16. โทมัส ซาราเซโน (เบอร์ลิน) 17. เซอริน เชอร์ปา (แคลิฟอร์เนีย/กาฐมาณฑุ) 18. อุบัติสัตย์ (เชียงใหม่) 19. หวัง เหวิน จื้อ (เจียอี้) 20. ชิน หลิว (ลอนดอน)
จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวเชียงราย ตลอดจนนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ศกนี้ ณ สถานที่ต่าง เช่น ขัวศิลปะ ,หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ขัวศิลปะ แห่งใหม่,บ้านดำ,ศูนย์วัฒธนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต.บ้านดู่, ไร่เชิญตะวัน,อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง, บ้านศิลปิน และสถานที่จัดงานอีก 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย
ข่าวโดย : จันทร์ฉาย สมศักดิ์ศรี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: