เชียงราย-หมูป่วยตายจำนวนมากไม่ทราบสาเหตุ คาดเป็นติดเชื่ออหิวาต์แอฟริกา เจ้าหน้าที่เร่งควบคุมพื้นที่ ฆ่าฝังกลบยกเล้าไปแล้วจำนวนมาก ป้องกันแพร่เชื้อ แจ้งคุมการอพยพเคลื่อนย้ายหมูในเขตพื้นที่ ที่เกิดหมูตาย พร้อมสั่งกำชับผู้เลี้ยงปิดปากหวั่นกระทบเศรษฐกิจ พร้อมรับชดเชย 75 เปอร์เซ็นของราคาขาย ยันหมูยังบริโภคได้ปกติ ไม่แพร่เชื่อสู่คน
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีข่าวตามโซเซียลเกิดโรคระบาดในสุกร สงสัยว่าอาจเป็นเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกา ซึ่งได้แพร่ระบาดไปหลายฟื้นที่ของจังหวัดเชียงราย และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้ระบาดยังฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มีการทิ้งสุกรตายลงลำแม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ไหลลงแม่น้ำโขงในวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยไหลผ่าน อ.เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น และล่าสุดพบว่ามีสุกรที่ตายเป็นฟาร์มในพื้นที่ บ้านสันธาตุ หมู่ 9 ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ของนายดวงฤดี ปงกันคำ และนายสมบูรณ์ ทรายหมอหมู มีมีสุกรตาย เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำลายรวมจำนวน 65 ตัว และ ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. มีสุกรล้มตายที่ บ.ใหม่พัฒนา ต.ป่าซาง อ.แม่จัน เกิดจากมีหมูที่ตายในเล้า ทำให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ต้องเข้าควบคุมพื้นที่ และทำลายฝังกลบสุกรที่เลี้ยงทั้งหมดจำนวนหลายเจ้า ประมาณ 200 ตัว และได้สั่งห้ามเจ้าของหรือบุคคลใดเข้าไปยังโรงเลี้ยงเพื่อป้องกันการระบาด และทางปศุสัตว์จังหวัดได้เก็บตัวอย่างไปตรวจสอบพิสูจน์ว่าเป็นเชื้ออหิวาต์แอฟริกา ตามที่หลายฝ่ายหวาดวิตกกันหรือไม่ อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังไม่ได้รับแนะนำหรือแจ้งว่าหมูที่ตายด้วยสาเหตุอะไร และชาวบ้านที่เหลือจะมีวิธีป้องกันอย่างไร
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงตรวจสอบพื้นที่ บ.ใหม่พัฒนา ต.ป่าซาง อ.แม่จัน สอบถามนางระพิน บำรุงสุข อายุ 65 ปี เลขที่ 207 บ.ใหม่พัฒนา ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เล่าว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา หมูที่เลี้ยงไว้ในเล้าเกิดตาย 1 ตัว จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบแต่เป็นเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่จึงมาตรวจช่วงเช้าในวันรุ่งขึ้น ก็พบว่ามีหมูตัวใหญ่ตายเพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว เจ้าหน้าที่จึงฉีดยาให้ตายหมดทั้งเล้า 20 ตัว ก่อนนำไปฝัง และออกไปฉีดยาฆ่าหมูตามฟาร์มที่เลี้ยงอยู่ภายในหมู่บ้านใหม่พัฒนาทั้งหมู่บ้าน บ้านละ 10 – 20ตัว รวมกว่า 200 ตัว เจ้าของบางคนไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ฆ่า จึงถูกสั่งห้ามเคลื่อนย้ายหมูออกนอกพื้นที่เป็นเวลา 6 เดือน หากมีหมูตายทางเจ้าหน้าที่จะไม่รับผิดชอบ ส่วนผู้ที่ให้ทำลายหมูได้รับปากว่าจะจ่ายเงินให้เจ้าของหมูในราคา 75 เปอร์เซ็นต์ ของราคาขาย โดยมีการวัดขนาดประเมินน้ำหนักไว้ก่อนฆ่าฝังกลบ
ส่วนที่บ้านสันธาตุ หมู่ 9 ต.แม่คำ อ.แม่จัน นายดวงฤดี กล่าวว่า หมูในฟาร์มตนตายไป 1 ตัว เลยแจ้งผู้ใหญ่บ้าน และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ส่วนภาพที่ถูกส่งต่อไปตามกลุ่มไลน์ ตนเองไม่ได้ส่งเป็นภาพเป็นการแชร์ของคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้ามาควบคุมตนเองก็ยอมรับการทำลายและฝังกลบทั้งหมดซึ่งตัวเองมีจำนวน 40 ปี โดยใช้รถแบคโฮขุดฝังกลบข้างเล้าหมู
เช่นเดียวกับนายสมบูรณ์ ฟาร์มที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันกล่าวว่า หมูของตนที่มีอยู่ 25 ตัว และเมื่อ 2-3 วันก่อนพ่อพันธุ์ป่วยมีไข้ ตัวเป็นสีแดงตนจึงฉีดยาที่เคยฉีดเพื่อลดไข้ ตามปกติจะหายแต่ครั้งนี้ไม่หาย เกิดล้มตายและมีอีก 1 ตัวเริ่มติดเชื้อ ตนจึงแจ้งปศุสัตว์ ซึ่งไม่รู้ว่าหมูตนติดเชื้อดังกล่าวหรือไม่ แต่ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่จัดการทำลายหมูทั้งเล้าตามที่ปศุสัตว์แนะนำ ตนไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งนี้ผู้เลี้ยงทั้งสองรายก็ได้รับการแจ้งเช่นเดียวกันว่าจะมีการจ่ายให้รายละ 75 เปอร์เซ็นของราคาขาย
ในบ่ายวันเดียวกัน (16ก.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รอง ผวจ.เชียงราย เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว จากนั้น รอง ผวจ.เชียงราย เผยว่า ที่ผ่านได้เน้นย้ำให้ปศุสัตว์จังหวัดและด่านกักสัตว์ทั้ง 12 ด่านหลักและด่านย่อยถึงหมู่บ้าน ให้เฝ้าระวังทุกพื้นที่พบว่ายังไม่มีการระบาดเพิ่มมากขึ้น สามารถคุมสถานการณ์อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น หลังจากตรึงแนวชายแดนป้องกันการแพร่ระบาด มีการตรวจพบเคลื่อนย้ายสัตว์ไม่ได้รับอนุญาตเพียง 1 ราย
ด้านนายกฤษณ์ พิมพ์งาม รักษาการปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตามรายงานข่าวว่ามีหมูตาย 83 ตัว ของสื่อนั้นมีคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ความจริงมีหมูป่วยตายเพียงแค่ 2 ฟาร์มๆละ 1-2 ตัว ตอนนี้ส่งไปตรวจที่ จ.ลำปาง ขอเน้นย้ำ หมูที่ตายสามารถบริโภคได้ตามปกติ เพราะโรคอหิวาต์หมูหรือ ASF ที่พบในเมียนมาร์ไม่ใช่โรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน เป็นโรคสัตว์ที่ติดเฉพาะหมูเท่านั้น ไม่แพร่กระจายไปสู่สัตว์อื่น ส่วนฟาร์มที่พบการตายของหมู ตอนนี้ทางปศุสัตว์ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบการตายผิดปกติเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งสามารถควบคุมกักกันการแพร่ระบาดของโรคได้เร็วเท่านั้น หากเกษตรกรพบว่ามีสุกรที่เลี้ยงเสียชีวิตก็ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอให้เร็วที่สุด หรือแจ้ง อสม. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โดยเร็ว เพื่อจะได้เข้าไปทำการกำจัดและควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: