พิษณุโลก คณะผู้วิจัยคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ศึกษาวิจัยประโยชน์ของแมลงวัน ที่สามารถสืบศพ ชันสูตรด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยศึกษาการวางไข่ การเจริญเติบโตของตัวอ่อน ดักแด้และตัวเต็มวัย สามารถใช้ข้อมูลการเจริญเติบโตของแมลงวันในการย้อนไปหาระยะเวลาหลังการเสียชีวิตได้
ผศ.ดร. นพวรรณ บุญชู อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยนายปริญญา บุญชัย ประธานกรรมการบริษัท ซีนิธเมดิทัช จำกัด พร้อมคณะผู้วิจัย ได้เปิดเผยผลงานวิจัยแมลงวันที่จะนำไปสู่การชันสูตรด้านนิติวิทยาศาสตร์ หลังจากได้ศึกษาเกี่ยวกับแมลงวันมานานกว่า 20 ปี โดยผศ.ดร. นพวรรณ บุญชู อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ตนได้ศึกษาเกี่ยวกับแมลงวัน ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี เพื่อศึกษาประโยชน์ของแมลงวัน ที่ทุกคนไม่ชอบ โดยจากการศึกษาพบว่าแมลงวันในประเทศไทยเรามีจำนวน 96 ชนิด แมลงวันที่พบได้บ่อยและมีความใกล้ชิดกับคน คือแมลงวันหัวเขียวชนิด Chrysomya megacephala และ Chrysomya rufifacies และซึ่งเป็นแมลงวันหัวเขียวชนิดเกี่ยวข้องกับศพมากที่สุด
ผศ.ดร. นพวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีผู้ริเริ่มใช้ประโยชน์จากสัตว์ขาปล้องในงานชันสูตรด้านนิติวิทยาศาสตร์ และแมลงวันเป็นสัตว์ขาปล้องกลุ่มแรกที่พบในศพและทิ้งร่องรอยในศพ นั่นคือ มีการวางไข่ มีการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ดักแด้และตัวเต็มวัย ตามลำดับ ทำให้สามารถใช้ข้อมูลการเจริญเติบโตของแมลงวันในการย้อนไปหาระยะเวลาหลังการเสียชีวิตได้ โดยเทียบกับการเจริญเติบโตของแมลงวันที่พบในศพดังกล่าว
ผศ.ดร. นพวรรณ เล่าต่อว่า การเจริญเติบโตของแมลงวันชนิดเดียวกันในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการหาระยะเวลาหลังการเสียชีวิตนั้น ถ้าพิจารณาจากสภาพศพเพียงอย่างเดียวจะให้ความน่าเชื่อถือได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง และความน่าเชื่อถือจะลดลงตามลำดับเวลาที่ผ่านไป ดังนั้นถ้าเป็นกรณีการเสียชีวิตมากกว่า 24 ชั่วโมง การประเมินระยะเวลาหลังการเสียชีวิตจากการเจริญเติบโตของแมลงเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ แมลงวันยังสามารถใช้ประโยชน์ในการแสดงถึงการเคลื่อนย้ายศพ เชื่อมโยงระหว่างสถานที่เกิดเหตุ เหยื่อ และผู้ต้องสงสัย ช่วยระบุตำแหน่งบาดแผลบนศพได้ชัดเจน เป็นแหล่งค้นหาสารพิษและสารพันธุกรรมของมนุษย์ รวมถึงเป็นหลักฐานในการยืนยันการทอดทิ้งและการทารุณกรรมได้ แต่ในทางกลับกัน แมลงวันยังสามารถอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในที่เกิดเหตุได้เช่นเดียวกัน อาทิ การสร้างคราบเลือดแปลกปลอมในที่เกิดเหตุ ดังนั้นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการพิจารณาหลักฐานในที่เกิดเหตุด้วย และที่สำคัญสัตว์ขาปล้องเป็นหลักฐานที่ผู้กระทำความผิดมักเพิกเฉย ไม่ระวังในการทำลายหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุ
แมลงยังสามารถบ่งบอกถึงระยะเวลาการตายจากศพ ไม่ว่าทั้งมนุษย์ สัตว์ต่างๆได้ โดยต้องศึกษาความแม่นยำของแมลงวันให้มาก ซึ่งหากนำไปใช้กับนิติวิทยาศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงวัน ซึ่งเมืองไทยยังถือว่ามีน้อยมาก ทำให้การนำแมลงสืบศพต้องอาศัยเวลานิดหนึ่ง ทำให้ผศ.ดร. นพวรรณ บุญชู อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาเทคโนโลยีในการศึกษาเกี่ยวกับแมลงวันมากขึ้น โดยร่วมกับนายปริญญา บุญชัย ประธานกรรมการบริษัทซีนิธเมดิทัชจำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน ในการตรวจสอบแมลงวัน เบื้องต้นใช้ชื่อ iParasites โดยได้ใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI Chatbot เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักวิจัยและผู้สนใจทั่วไปสามารถจำแนกแมลงวันได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
นายปริญญา บุญชัย ประธานกรรมการบริษัทซีนิธเมดิทัชจำกัด กล่าวว่า แอปiParasites เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานวิจัยและการเรียนรู้ด้านปรสิตวิทยาต่อไป นอกจากนี้แอปพลิเคชันนี้ยังมีฟังก์ชันอื่นที่น่าสนใจ อาทิ อภิธานคำศัพท์ (Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับทางปรสิตวิทยาและนิติกีฏวิทยา ฟังก์ชัน Knowledge ที่จะให้ความรู้ที่ทันสมัย มี QR code scanner รูปแบบ 3 มิติ สามารถสแกนดูวิวัฒนาการของศพที่แมลงเกาะอยู่ได้อีกด้วย โดยอนาคตก็จะมีการพัฒนาให้ประชาชนทั่วไปเรียนรู้เกี่ยวกับแมลงวันอีกด้วย โดยผลงานวิจัยทั้งหมดนี้คาดจะสามารถนำไปใช้ได้ดีในต้นปีหน้า ทั้งแอปพลิเคชัน และการนำกระบวนการศึกษาแมลงวับสืบศพ ล่าสุดได้มีการจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
//////////
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ 0 / 5. จำนวนโหวต: 0