พิษณุโลกเวลา เกิดเหตุไฟไหม้โต๊ะหมู่บูชาในอุโบสถวัดราชบูรณะ จนท.ดับเพลิงเทศบาลนครพิษณุโลกรุดควบคุมเพลิง คาดเกิดจากธูปเทียนที่มีผู้จุดไว้หลังจากมาเวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา ปกติจะปิดไม่ให้คนเข้าเพราะอยู่ระหว่างช่วงบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโดยกรมศิลปากร ที่หลังจากไฟไหม้ได้รับความเสียหายจากเขม่าควันสีดำที่เกาะเต็มฝาผนัง
เวลา 05.45 น.วันที่ 17 กรกฏาคม 2562 ได้เกิดเหตุไฟไหม้ในอุโบสถวัดราชบูรณะ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่เกิดเหตุพบกลุ่มควันพวพุ่งออกมาจากชายคาด้านบนของอุโบสถ จนท.ดับเพลิงของเทศบาลนครพิษณุโลกรุดนำสายน้ำเข้าไปฉีดควบคุมเพลิงภายในอุโบสถ ที่ต้นเพลิงเกิดบริเวณ โต๊ะหมู่บูชาหน้าพระประธาน ที่ไฟลุกไหม้ได้รับความเสียหายบริเวณดังกล่าวทั้งหมด โดยจนท.ดับเพลิงใช้เวลาควบคุมเพลิงประมาณ 20 นาที และใช้เครื่องดูดควัน ดูดควันดำภายในอุโบสถออกมาภายนอก โดยมีร้อยเวรพนักงานสอบสวนสภ.เมืองพิษณุโลก มาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุที่ได้ประสานจนท.ตำรวจวิทยาการมาตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้อีกครั้งหนึ่ง
พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ อ.เมืองจ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ทราบเหตุประมาณ 05.30 น. มีกลุ่มควันสีดำลอยออกมาจากภายในอุโบสถ จึงรีบโทรแจ้งจนท.ตำรวจและดับเพลิง โดยบริเวณโต๊ะหมู่บูชา ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ทั้งหมด และที่น่าห่วงคือ จิตรกรรมฝาผนังน่าจะได้รับผลกระทบด้วย เพราะมีคราบเขม่าสีดำ เกาะเต็มจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ระหว่างการบูรณะโดยกรมศิลปากร
ปกติแล้วภายในอุโบสถไม่ได้เปิดให้คนเข้าไป เพราะกรมศิลปากร อยู่ระหว่างการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังด้วยงบประมาณ 1.5 ล้านบาท จึงไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้า และห้ามจุดธูปเทียน เพราะภายในมีวัตถุไฟไฟที่ใช้ในการบูณะจิตรกรรมฝาผนัง แต่เมื่อคืนเป็นวันอาสาฬหบูชา มีการเวียนเทียน คาดการณ์ว่าญาติโยมจะเข้าไปจุดธูปเทียนแล้วไม่ได้ดับ จึงเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น ยังไม่ทราบว่าจิตรกรรมฝาผนังจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ต้องรอจนท.กรมศิลปากรมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
พระครูสิทธิธรรมวิภัช เผยต่อว่า วันนี้วันเข้าพรรษา ทางวัดจะต้องทำพิธีมหาปวารณาเข้าพรรษา ที่พระภิกษุสงฆ์ต้องทำพิธีในภาคเย็นภายในอุโบสถ ต้องรอดูก่อนว่าจะทำพิธีได้หรือไม่ สำหรับอุโบสถวัดราชบูรณะเป็นโบราณสถานเก่าแก่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง สมัยอยุธยา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่คาดว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในภาคเหนือ ด้านล่างเป็นภาพวาดกมากรีฑา ด้านบนเป็นรามเกียร และมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ฝาแฝดอินจัน ในยุคต้นรัตนโกสินทร์อยู่ด้วย
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะไว้เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53ตอน 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และกรมศิลปากรได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ดังนี้ คือ ปี พ.ศ. 2528 บูรณะวิหารหลวง ปี พ.ศ. 2530 อนุรักษ์ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ และปี พ.ศ. 2533 บูรณะเจดีย์หลวง โดยเสริมความมั่นคงทางรากฐาน และต่อยอดพระเจดีย์ทรงลังกาซึ่งหักชำรุดหายไปให้บริบูรณ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสันนิษฐานว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เพราะได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ แล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารแล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพระพุทธประวัติ โดยจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถนั้น ได้รับความเสียหายจากน้ำฝนและความชื้น จากสภาพหลังคาที่อายุเก่าแก่ จึงนำมาสู่การบูรณะครั้งหลังคาอุโบสถล่าสุดในปี 2556 และงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังในปี 2562
…….
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: