ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุ ซินลากู ส่งผลให้หลายพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับผลกระทบ น้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน โดยเฉพาะที่ อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ มวลน้ำจากลำน้ำปาดหลากเข้าท่วมบ้านเรือนหมู่ที่ 1 ,2 , 3 , 7 และ 10 ตำบล ฟากท่าและพื้นที่ทางการเกษตรเพาะปลูกพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด หน่อไม้ฝรั่ง และพืชผัก ได้รับผลกระทบแล้ว กว่า 4,700 ไร่ ที่ ตำบลสองห้อง ตำบลสองคอน ตำบลฟากท่า และตำบลบ้านเสี้ยว อ.ฟากท่า โดยสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย นายปัณณวัฒน์ นาคมูล ตัวแทนคณะก้าวหน้าจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมทีมงาน ต่างพร้อมใจร่วมด้วยช่วยกันนำสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีพ ทั้ง น้ำดื่ม ขนม ปลากระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จัดเป็นถุงยังชีพ ใส่ท้ายรถกระบะตะเวนมอบให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ที่บ้านกกต้อง บ้านนาไพร อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ และถือโอกาสพบปะและมีการสอบถามข้อมูล รายละเอียดกรณีอุทกภัยน้ำป่าที่หลากเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร โดยตรง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ นายปัณณวัฒน์ เปิดเผยว่า มาพบปะมอบสิ่งของและให้กำลังใจกับพี่น้องชาวบ้าน เหตุการณ์ครั้งนี้ยังถือว่าโชคดีที่น้ำป่ามาตอนกลางวันและเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ ถ้าเป็นกลางคืนหรือวันธรรมดา ชาวบ้านคงจะได้รับความเดือดร้อนสูญเสียมากกว่านี้ นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไม่มีสัญญาณเตือนภัยใดๆ ในพื้นที่ที่จะบอกชาวบ้านให้รู้ล่วงหน้าได้ว่าจะมีน้ำป่าไหลหลากลงมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาทบทวนกัน ฝากหน่วยงายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญของการมีสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่ ที่ชัดเจนและแม่นยำได้แล้ว โดยเฉพาะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากน้ำป่าดินโคลนถล่ม ทั้งนี้ จ.อุตรดิตถ์ เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว เมื่อปี 2549 ที่ อ.ลับแล อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 70 ราย และ ปี 2554 ที่ ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ผู้เสียชีวิตและสูญหาย 7 ราย ด้วยอุทกภัยน้ำป่าดินโคลนถล่มเคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในอุตรดิตถ์ สร้างความสูญเสียมามากและอาจเกิดซ้ำได้ทุกเมื่อ ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญตั้งแต่การป้องกันเตือนภัยดีกว่าปล่อยให้เกิดความสูญเสีย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: