วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุมต้นทองบอลรูม โรงแรมต้นทองรีสอร์ท จ.อุตรดิตถ์ นายชูเกียรติ โอทาริก วิศวกรโยธา ชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง เป็นประธาน เปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการการศึกษาความเหมาะสม ด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่สายทางเลี่ยงเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่กรมทางหลวงได้จัดทำแผนพัฒนา ทางหลวงขึ้น ตามทิศทางของแผนพัฒนาภาคเหนือ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาภาค โดยใช้โอกาสจากการเป็นพื้นที่ คาดว่า จะได้รับผลกระทบ จากแผนงาน การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Economic Cooperation Program GMS Program) เพื่อรองรับ การขยายตัวทางด้านการค้าและการลงทุน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของพื้นที่ เข้มแข็งยิ่งขึ้น
โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง มีชื่อเสียงทั้งในด้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ อารยธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีจุดผ่านแคนถาวรภูดู่ ที่อำเภอบ้านโคก ซึ่งอยู่ติดกับเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว มีการค้าขายนำเข้า ส่งออก สินค้าระหว่างประเทศไทยและลาว ในปัจจุบันจังหวัดอุตรดิตถ์มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อทั้งภายในภาคเหนือและระหว่างภาคเหนือกับภาคอื่นทั้งทางบกและทางรถไฟ มีทางหลวงสายสำคัญ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 , ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1045 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 ในการรองรับการคมนาคมขนส่งภายในพื้นที่ และเป็นเส้นทางเชื่อมไปยังจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ติดต่อกับ สปป.ลาว
ซึ่งปัจจุบันทางหลวงดังกล่าวมีปริมาณจราจรสูง มีรถบรรทุกสินค้าวิ่งผ่านจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีถนนเลี่ยงเมืองอุตรดิตถ์ ส่งผลให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการเดินทาง การจราจรติดขัด เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น รวมถึงการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับโครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายทางเสี่ยงเมืองอุตรดิตถ์ เพื่อคัดเลือกและศึกษาแนวเส้นทางให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทความต้องการ และประโยชน์ต่อพื้นที่มากที่สุด โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 4 อำเภอ 16 ตำบลของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลวังกะพี้หาดกรวด ป่าเช่า คุ้งตะเภา ผาจุก งิ้วงาม ด่านนาขาม น้ำริด ท่าเสา ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ตำบลไผ่ล้อม ชัยจุมพล ศรีพนมมาศ ฝายหลวง ทุ่งยั้ง ของอำเภอลับแล ตำบลวังแดง ของอำเภอตรอน และตำบลป่าคาย ของอำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมถึงยังต้องศึกษาบริบทเชิงนโยบายของการพัฒนาจังหวัดและด่านชายแดนใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเส้นทางและพื้นที่อิทธิพลของโครงการด้วย โครงการระยะเวลาในการดำเนินการศึกษาทั้งสิ้น 360 วัน
ข่าวน่าสนใจ:
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- ระทึก เพลิงไหม้บ้าน 2 ชั้นวอดทั้งหลัง น้องแมว 7 ชีวิต รอดตายหวุดหวิด โดย 3 ตัวโดนไฟลวกบาดเจ็บ
ทั้งนี้ การดำเนินงานการศึกษาโครงการดังกล่าว กรมทางหลวงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการ จึงจัดให้มีการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (การประชุมสัมมนาครั้งที่ 2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานด้านต่างๆและสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบโครงการ และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชน สำหรับนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบโครงการให้เหมาะสมต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: