ที่ลานวัดสักใหญ่เทพนิมิตร หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำไคร้ อำเภอน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมวันรณรงค์การใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้กับเกษตรกรอำเภอน้ำปาด ที่มีปัญหาเรื่องดินในการเพาะปลูกที่นับวันเสื่อมสภาพ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้ปุ๋ยเและสาเคมี เกินมาตรฐาน โดยนายอนันต์ ตั่นฉ้วน เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมี นายสิทธิ์ แดงประดับ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ นายนิพนธ์ อุปการัตน์ ประมง จ.อุตรดิตถ์ และนายมนูญวงค์สุนทร ผอ.สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.อุตรดิตถ์ ร่วมในกิจกรรมดังกล่าว และ ได้จัด จนท.ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชนสาธิตและแนะนำวิธีการ นำดินจากแปลงเพาะปลูก ส่งตรวจวิเคราะห์หาธาตุอาหาร เพื่อลดต้นทุนและลดการใช้ปุ๋ย โดยแยกเป็นฐานให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ทั้ง การเก็บตัวอย่างดิน การตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การอ่านค่าวิเคราะห์แปลผลการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ การผสมแม่ปุ๋ย และการทำกองปุ๋ยหมัก
เพื่อตอกย้ำ และให้เกษตรกรจำวิธีการนำดินตรวจวิเคราะห์ได้ง่าย จึงได้จัดแข่งขัน “ร่อนลีลา” ชิงรางวัลมะม่วงสามสายพันธุ์ ก่อนเริ่มแข่งขัน นายอนันต์ ตั่นฉ่วน เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์และนายนิพนธ์ อุปการรัตน์ ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สาธิตวิธีการ คือ เกษตรกรขุดดินจากแปลงเพาะปลูก 20 จุดกระจายใน 1 แปลง นำมาตากแดดให้แห้ง จากนั้นบดให้ละเอียด แล้วนำดินมา “ร่อน” ด้วยตาข่ายถี่ๆ จากนั้นนำดินที่ร่อนได้ส่ง จนท.เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหาร ทั้งนี้ เมื่อเริ่มการแข่งขัน ด้วยเสียงเพลงสนุกสนานแบบโจ๊ะๆ ผู้เข้าแข่งทีมละ 2 คนทำตามขั้นตอนที่ได้เรียนรู้และชมการสาธิต และเมื่อถึงเวลา “ร่อนดิน” ต้องเน้นลีลากันสักหน่อย แต่ที่ดูจะมันส์กว่า ผู้แข่งขัน น่าจะเป็นลีลาของกองเชียร์รุ่นลูกหลาน ที่จัดหนักจัดเต็ม ด้วยลีลาร่อนดิน เมื่อจบเพลงทุกทีมนำผงดินที่ร่อนชั่งน้ำหนัก ทีมที่ได้ดินมากสุดรับ ต้นกล้าพร้อมมะม่วงสามสายพันธุ์ไปปลูกที่บ้าน
นายอนันต์ กล่าวว่า จากปัญหาการเสื่อมโทรมของโครงสร้างดินที่ผลกระทบต่อการเพาะปลูก ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรที่ไม่เหมาะสมกับดิน จึงได้จัดตั้งศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) รวมทั้งสิ้นจัดตั้งแล้ว 28 ศูนย์ กิจกรรมที่ดำเนินการ สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ดิน โดยให้เกษตรกรเก็บตัวอย่างดินแล้วนำมาตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน N-P-K แบบรวดเร็ว, จัดทำแปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต 9 จุด และให้ความรู้การใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต และการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ มีจุดประสงค์ คือทำให้รู้ว่าดิน มีความสมบูรณ์เพียงใด ขาดธาตุอาหารหรือไม่ ควรใช้วัสดุใดในการปรับปรุง บำรุงดิน และควรใส่ปุ๋ยอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับพืชเป็นการลดต้นทุนและเลือกใช้ปุ๋ยบำรุงดิน บำรุงพืชที่เหมาะสมตามสัดส่วน นอกจากจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ยังเป็นการรักษาบำรุงดินอีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: