สสจ.ระนอง เร่งสกัดการแพร่ระบาดโรคมือเท้าปาก
ระนอง-สสจ.ระนอง ส่ง จนท.ชุดควบคุมโรคลงพื้นที่ที่พบเด็กป่วยโรคมือเท้าปาก เพื่อเร่งสกัดการแพร่ระบาดโรคมือเท้าปากไม่ให้กระจายลามสู่พื้นที่อื่น ล่าสุดให้ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลทั่วจังหวัดตั้งจุดคัดกรองหากพบเด็กป่วยต้องสงสัยให้แจ้ง จนท.ทราบทันที
นพ.นรเทพ อัศวะพัชระ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า ด้วย สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ที่ จ.ระนองพบผู้ป่วยแล้วในขณะนี้จำนวน 7 ราย ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสุวรรณคีรี ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง และได้มีการสั่งหยุดการเรียนการสอนไปแล้วนั้น พบว่าในช่วงนี้ย่างเข้าสู่ฤดูฝนถือเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย ปกติโรคมือเท้าปากจะพบได้ตลอดทั้งปี โดยจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ที่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมต่อการแพร่กระจายเชื้อ และมักจะมีการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และในโรงเรียนอนุบาล โดยเฉพาะในเด็กต่ำกว่า ๕ ปี
ประกอบกับในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคจากการติดเชื้อ Enterovirus 71 จึงส่งผลให้โรคมือ เท้า ปาก เป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในเด็ก กระทรวงสาธารณสุข จึงมีมาตรการสำคัญในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงฤดูกาลระบาด นั้น
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ขอให้หน่วยงานของท่านดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงฤดูกาลระบาด ดังนี้๑. การเฝ้าระวังป้องกันโรคล่วงหน้า โดยการคัดกรองอาการป่วย เมื่อพบเด็กป่วยในสถาน รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล หรือในชุมชนเป็นกลุ่มก้อน ด้วยอาการเดียวกัน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที
๒. การควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ โดย ๒.๑ มีการทำความสะอาดบ้าน ห้องเรียน ของเล่น ที่นอน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ ๒.๒ มีห้องหรือพื้นที่สำหรับแยกเด็กป่วย และหากพบเด็กป่วยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในพื้นที่รับผิดชอบทราบโดยเร็ว (หากมีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ภายในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า ๒ ราย ใน ๑ สัปดาห์ ควรพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย หากพบมีเด็กป่วยหลายห้องเรียน ควรพิจารณาปิดศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล ประมาณ ๕ วันทำการ นับจากผู้ป่วยรายสุดท้ายและทำความสะอาดห้องเรียน)
๓. การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนและท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้าปาก๔. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง ครู และผู้ดูแลเด็ก หมั่นสังเกตอาการของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้า ซึม ชักเกร็ง มีอาการหรืออาการแสดงที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง (CNS infection) ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย เป็นปกติ รวมทั้งไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: