รพ.ระนอง เก็บตัวอย่างสาวเยอรมันส่งตรวจรอผล หลังพบเข้าเกณฑ์ (PUI) ไข้สูง ไอ
ระนอง-จังหวัดระนอง รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม – 25 มีนาคม 2563 โดยดำเนินการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดระนองทุกช่องทาง และผู้ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลระนอง จำนวนทั้งสิ้น 88,630 ราย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เวลา 09.19 น. ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลระนอง พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและสวบสวนโรค (PUI) 1 ราย
นายสาธิต ทิมขำ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า วันที่ 26 มีนาคม 2561 เวลา 09.19 น. ทีมตระหนักรู้สถานการณ์สำนักสาธารณสุขจังหวัดระนองได้รับแจ้ง จากโพยาบาลระนอง มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนี เพศหญิง อายุ 19 ปี มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและสวบสวนโรค (PUI) 1 ราย จากการซักประวัติ พบว่า นักท่องเที่ยวรายนี้เดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 และเดินทางมาจังหวัดระนองวันที่ 20 มีนาคม 2563 ประวัติการเจ็บป่วย มี ไข้ 3 วัน ก่อนวัน (22 – 24 มีนาคม 63) ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ วันนที่ 25 มีนาคม 2563 เวลา 17.33 น. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลระนอง โดยอยู่ในห้องแยกโรคเพื่อสังเกตอาการ ได้ให้การรักษาและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมโรคโควิด-19 ส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้ยังไม่ทราบผล
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ดำเนินการให้ความรู้การทำความสะอาดที่พักตามโรงแรมต่างๆ และร้านอาหารที่จัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ ในจังหวัดระนอง พร้อมมีทีมสุขศึกษาให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่หน่วยงานต่างๆ และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่มีการระบาดของโรคขอให้กักกันตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วัน แยกของใช้ส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
เพื่อไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว งดกิจกรรมทางสังคม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หยุดแพร่โรค และ “อยู่ห่างไว้ ไม่แพร่เชื้อ เพื่อทุกคน” ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปในที่ที่มีคนแออัด หากมีไข้ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง/ประวัติความเสี่ยง เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย การรักษา และเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง แจ้งที่หมายเลขโทรศัพท์ 098-0132100 และ 093-5829101
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: