ผวจ.ระนองนำทุกภาคส่วนร่วมพิธีน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต รัชกาล ที่ 5
วันที่ 23 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานประกอบพิธีวางพวงมาลาเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง
ข่าวน่าสนใจ:
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- นครพนม เปิดคลิป วัยรุ่น เหิมหนัก ยกพวกใช้มีดไล่ฟันคู่อริ พร้อมทุบทำลายทรัพย์สินอย่างไม่เกรงกลัวกฏหมาย
- ระทึก เพลิงไหม้บ้าน 2 ชั้นวอดทั้งหลัง น้องแมว 7 ชีวิต รอดตายหวุดหวิด โดย 3 ตัวโดนไฟลวกบาดเจ็บ
โดยมี ข้าราชการทุกสังกัด พนักงานรัฐวิสาหกิจ จิตอาสา ประชาชนและกลุ่มพลังมวลชนสวมใส่เสื้อสีชมพู ร่วมประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ต่อเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จากนั้นผู้ร่วมพิธีทุกภาคส่วนยืนสงบนิ่ง เป็นเวลา 57 วินาที และถวายความเคารพเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรและประเทศไทยอย่างหาที่สุดมิได้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา
ทรงเป็นมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 และเป็นยุวกษัตริย์พระองค์แรกของพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงในสิริราชสมบัติเป็นเวลา 42 ปีเศษ และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งด้านการปกครอง การบริหารประเทศ และการศึกษา ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การสาธารณสุขและการต่างประเทศ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะทรงประกาศเลิกทาส โดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน ทำให้คนไทยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และทรงปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน
แบ่งการบริหารเป็นกระทรวง และตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ทำหน้าที่เก็บรายได้ของแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก โปรดให้สร้างถนน สะพาน และทางรถไฟ ทรงริเริ่มกิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า การประปา การสุขาภิบาล อีกทั้งยังทรงระงับข้อพิพาทกับต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นภัยมาได้ ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
พสกนิกรชาวไทยทั้งปวง ต่างประจักษ์และมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณไม่มีวันเสื่อมคลาย และต่างพร้อมใจกันเทิดพระเกียรติถวายพระราชมัญญานามพระองค์ท่านว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งหมายถึง “พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชน”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: