สสจ.ระนอง เตือน!! แม้สถานการณ์ไข้เลือดออกจังหวัดระนองดีขึ้น แต่ไม่ควรประมาท ให้เฝ้าระวังต่อเนื่อง
“หมอนอร์”ออกโรง เตือน!!แม้สถานการณ์ไข้เลือดออกจังหวัดระนองดีขึ้น แต่ไม่ควรประมาท ให้เฝ้าระวังต่อเนื่อง ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันได้ 3 โรค
นายแพทย์นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกจังหวัดระนอง ตั้งแต่เดือนมกราคม – วันที่ 19 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยสะสม 87 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 44.79 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 10-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ พบผู้ป่วยในทุกอำเภอ แต่มากสุดในพื้นที่ อ.เมืองระนอง 59 ราย กระบุรี 12 ราย ละอุ่น 7 ราย สุขสำราญ 7 ราย และกะเปอร์ 2 ราย ตอนนี้มีผู้ป่วยอันดับที่ 26 ของประเทศ อันดับที่ 5 ของเขตสุขภาพที่ 11 ปัจจุบันถือว่าสถานการณ์ไข้เลือดออกจังหวัดระนองดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องระวังต่อเนื่องในช่วงเข้าหน้าฝน เนื่องจากมีความเสี่ยงเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นปีนี้ จังหวัดระนองพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ เมื่อเทียบกับอัตราป่วยต่อแสนประชากร แต่ได้มีการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกมาอย่างต่อเนื่อง จนสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ จนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “จังหวัดที่มีการจัดการไข้เลือดออก ระดับดีเด่น” ในกิจกรรมรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 จากปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับมาตรการในการป้องกันไข้เลือดออก ได้เน้นมาตราการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บน้ำ เก็บบ้าน เก็บขยะ ป้องกันโรคไข้เลือดออก ไข้เด็งกี่ ไข้ปวดข้อยุงลาย ดังนั้นถ้าเห็นภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลาย ให้คว่ำภาชนะ หรือนำไปทิ้ง ถ้าเป็นภาชนะ เช่น ที่รองตู้กับข้าว อาจใส่ทรายอะเบท หรือเลี้ยงปลาหางนกยูงในภาชนะที่เลี้ยงได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวด้วยว่า ถ้ามีไข้สูง ปวดเมื่อย หรือมีจุดเลือดออก 2-7 วัน ควรไปพบแพทย์ หรือสถานพยาบาลไม่ควรซื้อยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน หรือกลุ่ม NSAID เช่น บูเฟน ไดโคลฟีแนค มาทานเอง เนื่องจากจะทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วย 24,090 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 36.45 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 20 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี คิดเป็น 35.50 % อายุ 15-24 ปี คิดเป็น 23.02 % และอายุ 25-34 ปี คิดเป็น 15.18 %
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: