ร้อยเอกธรรมนัส รมต.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่จังหวัดระนองมุ่งแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้าน
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมสัมมนา เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน 19 จังหวัด ที่ได้รับความเดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยมี นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสมาคมการประมงพื้นบ้าน /ผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องชาวประมงและได้มอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนจึงได้มอบหมายกรมประมงจัดตั้งคณะกรรมการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของ พี่น้องชาวประมงซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนประมงพื้นบ้านประมงชายฝั่ง การประมงพื้นบ้านมีความสำคัญมากในระบบการประมงไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการประมงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทรัพยากรสัตว์น้ำเครื่องมือประมง และเรือที่ใช้ทำการประมง ตลอดจนแหล่งเงินทุนและการพัฒนาส่งเสริมการขายสินค้าประมงจากชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าของสัตว์น้ำสร้างความมั่นคงในอาชีพของพี่น้องชาวประมง
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจัดการประชุมสัมมนาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย ครั้งที่ 9 (ประจำปี 2566) โดยการประชุมได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2566 ณ สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ซึ่งในวันนี้มีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นายราชัน มีน้อยรองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสมาคมการประมงพื้นบ้าน /ผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม /ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน 19 จังหวัด/ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ และเกษตรกรชาวประมงเข้าร่วมงาน
โดยการประชุมสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการประมงพื้นบ้าน พร้อมรับข้อร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มต่างๆที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาด้านประมงไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทรัพยากรสัตว์น้ำ เครื่องมือประมง และเรือที่ใช้ทำการประมง ตลอดจนแหล่งเงินทุนและการพัฒนาส่งเสริมการขาย สินค้าประมงจากชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนกิจกรรม โครงการต่างๆ ให้แก่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน อาทิเช่น การสร้างกลไกความร่วมมือ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล
โดยจัดตั้ง คณะกรรมการประมงจังหวัดที่มีภาครัฐและชาวประมงในการบริหารจัดการ ทรัพยากรประมง การผลักดันให้ประมงพื้นบ้านมีข้อมูลที่ชัดเจนในระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ ได้แก่ การขึ้นทะเบียนผู้ทำการประมง (ทบ.3) การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน เพื่อให้สิทธิและให้ความช่วยเหลือด้าน ฝึกอาชีพ และความช่วยเหลือในกรณีได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติต่าง ๆ กับชาวประมง การจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรที่คำนึงถึงประมงพื้นบ้านให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
โดยการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติปีละ 100 – 150 ล้านตัว การจัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำ และการจัดสร้างปะการังเทียม มากกว่า 500 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ใน 20 จังหวัดชายฝั่งทะเล การส่งเสริมและการสร้างมูลค่าแก่สินค้าประมงพื้นบ้าน แปรรูปสัตว์น้ำใหม่ๆ การจัดทำมาตรฐาน และระบบการรับรองสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สินค้า เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับรวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าประมงอย่างยั่งยืน
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับยื่นหนังสือจากผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน 19 จังหวัด ที่ได้รับความเดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพประมง เพื่อนำเข้าที่ประชุมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาประมงทะเลต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: