ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองปัดเกสรดอกทุเรียน เปิดปฐมฤกษ์ฤดูกาลผลิตใหม่ของทุเรียน ฝนแปดแดดสี่ ทุเรียนดี มีคุณภาพด้วย BCG Model ทรงสวย พูเต็ม น้ำหนักดี ต้องทุเรียนที่จังหวัดระนอง
ค่ำวันนี้ (18 มีนาคม 2567) นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยนางสุพิณญา นิรามัยวงศ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดระนอง นางเพ็ญประภา จันทร์คง เกษตรจังหวัดระนอง พาณิชย์จังหวัดระนอง นายอำเภอละอุ่น ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และปัดเกสรดอกทุเรียน เพื่อช่วยผสมเกสรให้แก่ทุเรียน ที่กำลังออกดอกเบ่งบานอย่างเต็มที่ เป็นสัญลักษณ์ปฐมฤกษ์สำหรับการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดระนอง
โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตทุเรียนจังหวัดระนอง ปี 2567 จึงได้จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้จังหวัดระนองปี 2567 กิจกรรม ปัดเกสรดอกทุเรียน ฝนแปด แดด สี่ ทุเรียนดี มีคุณภาพ ด้วย BCG MODEL ทรงสวย พูเต็ม น้ำหนักดี ต้องทุเรียนที่จังหวัดระนอง โดยเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการปัดเกสรดอกทุเรียน ตั้งแต่ 19.00 – 21.00 น. เพื่อเป็นการช่วยให้ทุเรียนสามารถผสมเกสรได้สมบูรณ์มากที่สุด ณ แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง พร้อมทั้งได้มอบวัสดุทางการเกษตรตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น กิจกรรม พัฒนาจุดรวบรวมและบรรจุภัณฑ์เพื่อการเพิ่มมูลค่าแก่กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
หลังจากนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้ทำการปัดเกสรดอกทุเรียน เพื่อเป็นการช่วยผสมเกสรให้แก่ทุเรียน ที่กำลังออกดอกเบ่งบานอย่างเต็มที่ นับจากนี้อีกประมาณ 120 วันก็จะสามารถเก็บผลผลิตเพื่อการจำหน่ายได้ โดยจังหวัดระนองกำหนดตัดทุเรียนมีดแรก ประจำฤดูกาลผลิต ปี 2567 ในวันที่ 15 มิถุนายน 2567
นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนอง เป็นแหล่งผลิตผลไม้ชั้นเยี่ยม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้รับความนิยมจากคนทั้งใน และต่างประเทศ จุดเด่นของผลไม้ระนอง คือ เป็นผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารพิษเพราะเกษตรกรมีการผลิตตามหลักเกษตรที่ดีและเหมาะสม อีกทั้งผลไม้อัตลักษณ์ของจังหวัดระนอง ยังได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI 2 ชนิดสินค้า คือทุเรียนในวงระนอง และ มังคุดในวงระนอง ถือได้ว่าจังหวัดระนองเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของภาคใต้
โดยมีไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในปี 2567 คาดการณ์มีพื้นที่ปลูกรวม 62,548 ไร่ ให้ผลให้ 57,776 ไร่ ผลผลิตรวมผลไม้ 4 ชนิด ประมาณ 58,939 ตัน รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 4,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง สำหรับพืชเศรษฐกิจหลักทุเรียน มีพื้นที่ปลูก 46,776 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 42,416 ไร่ ผลผลิต 45,467 ตัน รวมมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจายตัวเกือบตลอดปี โดยจะออกมากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2567 ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งไปยังแหล่งรวบรวมผลผลิตในจังหวัดชุมพร ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวมักจะพบกับปัญหาเกษตรกรเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)
โดยจังหวัดระนองมีแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยมีมาตการควบคุมป้องกัน และแก้ไขปัญหา ทุเรียนอ่อนสู่ตลาด ทั้งการมีประกาศจังหวัดระนอง และคำสั่งจังหวัดระนอง แต่งตั้งคณะทำงานมาตรการป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดจังหวัดระนอง และดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) จังหวัดระนอง จัดกิจกรรมพัฒนานักตัด นักคัด ทุเรียนคุณภาพอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: