X

การค้าชายแดนระนองคึกคักรับเรือคอนเทนเนอร์ย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง เที่ยวแรกพร้อมผลักดันเป็นเส้นทางการค้าชายแดนใหม่ของไทย

การค้าชายแดนระนองคึกคักรับเรือคอนเทนเนอร์ย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง เที่ยวแรกพร้อมผลักดันเป็นเส้นทางการค้าชายแดนใหม่ของไทย

ที่ท่าเรือระนอง  ตำบลปากน้ำ-ท่าเรือ อ.เมือง จ.ระนอง  เรือบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ BEYPORE SULTAN และ MCL-4 เส้นทางย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง เที่ยวแรก ได้เดินทางถึงท่าเรือระนอง เมื่อช่วงเช้า ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 โดยเรือทั้ง 2 ลำเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมา ในการผลักดันให้เกิดเส้นทางการค้าชายแดนใหม่ ระหว่าง 2 ประเทศ สำหรับเรือ BEYPORE SULTAN ขามาจากท่าเรือย่างกุ้งบรรทุกสินค้า จำนวน 56 ตู้ เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 52 ตู้และเป็นตะกั่ว จำนวน 4 ตู้  และขากลับจะบรรทุกสินค้าจำนวน 30 ตู้ เช่น สุขภัณฑ์ เครื่องดื่มชูกำลัง สายไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนเรือ MCL-4 ขามาจากท่าเรือย่างกุ้งบรรทุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 41 ตู้ และขากลับจะบรรทุกสินค้ากลับ จำนวน 28 ตู้

นายราชัน มีน้อยรองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง  กล่าวว่า ผู้ประกอบการค้าชายแดนโดยเฉพาะผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาลดความเสี่ยงโดยเปลี่ยนเส้นทางการนำเข้าจากเดิมนำเข้าทางด่านแม่สอด โดยมานำเข้าทางด่านระนองโดยทางเรือ Barge มากขึ้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดระนองได้ออกใบอนุญาตขนย้ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว 169,722 ตันเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน163,722 ตัน(ม.ค.-มิ.ย.2566 ออกใบอนุญาตขนย้ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 6,300 ตัน)

แต่ด้วยปัจจัยด้านสภาพอากาศผู้ให้บริการโลจิสติกส์ได้เปิดให้บริการขนส่งสินค้าโดยตู้ Containerเพื่อป้องกันสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่งและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก โดยได้รับการสนับสนุนจากทางการเมียนมาเป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของการขนส่งโดยเรือคอนเทนเนอร์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดระนอง ในฐานะหน่วยงานในพื้นที่ได้ประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ  ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน และผลักดันให้เป็นเส้นทางการค้าชายแดนใหม่ของไทย

ด้าน ท่าเรือระนอง ให้ข้อมูลว่าท่าเรือระนองมีความพร้อมรองรับตู้สินค้า โดยได้ดำเนินการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งเครนยกตู้สินค้า พื้นที่วางตู้ และกำลังคน ไว้เรียบร้อยแล้วตามที่ได้รับการประสานมาก่อนหน้านี้ โดยเมื่อเรือสินค้ามาถึงและดำเนินพิธีการศุลกากรแล้วเสร็จก็สามารถยกสินค้าขึ้นรถบรรทุกได้ทันทีทั้งนี้ทราบว่ามีผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางรายสนใจขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางท่าเรือระนอง-สถานีรถไฟสะพลี-ICD ลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งปัจจุบันสถานีรถไฟสะพลี จังหวัดชุมพร เป็นรถไฟทางคู่ มีจุดขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์และมีลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard : CY) ที่เอกชนในพื้นที่ไช้บริการขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายโลจิสติกส์ที่เข้ามาเสริมศักยภาพการค้าชายแดนไทย-เมียนมา

 

    ด้านจังหวัดระนองรองรับการขยายตัวทางการค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต  สำหรับจังหวัดระนองมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา มีจุดผ่านแดนถาวรระนอง-เกาะสอง จำนวน 4 จุด ได้แก่ ท่าเทียบเรือสะพานปลา ท่าเทียบเรือศุลกากระนอง ท่าเทียบเรือของบริษัทอันดามันคลับ จำกัด ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง และจุดผ่อนปรน จำนวน 1 จุด คือ จุดผ่อนปรนบ้านเขาฝาชี ในปี 2566 ด่านศุลกากรระนองมีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดเป็นลำดับที่ 4 ของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา รองจาก ด่านศุลกากรแม่สอด ด่านศุลกากรสังขละบุรี และด่านศุลกากรประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ โดยมีมูลค่าการค้า(ม.ค.-ธ.ค. 2566) รวม 21,353 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 15,477 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 5,876 ล้านบาท มูลค่าดุลการค้า 9,601 ล้านบาท (ข้อมูล กรมการค้าต่างประเทศ) สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง,น้ำมันหล่อลื่น ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เครื่องดื่มให้พลังงาน สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สัตว์น้ำ (ปลาแช่เย็น) ปลาป่น ถ่านไม้ป่าเลน เป็นต้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง บรรณาธิการ นสพ.เซ้าท์เทิร์นนิวส์ระนอง