ระนอง—เกษตรกรระนองหัวใสงัดภูมิปัญหาท้องถิ่น ประดิษฐ์ “หมวกยาง” แก้ปัญหาการกรีดยางพาราช่วงหน้าฝนสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศ ล่าสุดได้ยื่นขอจดลิขสิทธิ์ ป้องกันพ่อค้าหัวใสแอบเลียนแบบนำไปประดิษฐ์ขาย
นายวินัย ทองพร้อม อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33 ม.7 ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เกษตรกรชาวสวนยางจ.ระนอง ผู้คิดค้นประดิษฐ์หมวกยาง คนแรกของไทย เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศในเขตพื้นที่ จ.ระนองที่มีฝนตกถึง 8 เดือนในแต่ละปี จนส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรโดยเฉพาะการกรีดยางพารา ทำให้ตนเกิดแนวคิดที่จะประดิษฐ์สิ่งของที่จะสามารถเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาการกรีดยางพาราโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนได้ ทั้งนี้เพื่อยืดระยะเวลาการกรีดยางพาราให้นานขึ้น
“ทำสวนยางพารามากว่า 20 ปี พบว่า จ.ระนองมีฝนตกชุกมากตั้งแต่เดือน พ.ค.- ต.ค. แทบจะไม่สามารถกรีดยางพาราได้เลยทำให้ไม่มีรายได้ ซึ่งตนพยายามคิดหาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการประดิษฐ์สิ่งที่สามารถบังฝนบริเวณรอยกรีดและภาชนะบรรจุน้ำยางพารา ลองผิดลองถูกมากกว่า10 ปี จนในที่สุดได้เป็นหมวกยางพาราที่ทำจากพลาสติกหนา ผูกติดเหนือรอยกรีดกันน้ำฝน ซึ่งจากการทำลองใช้มากว่า1 ปีพบว่าสามารถป้องกันฝนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเพิ่มจำนวนวันในการกรีดได้มากขึ้น และฝนที่ตกชุกในเขตพื้นที่ จ.ระนองไม่เป็นปัญหาและอุปสรรคอีกต่อไป
นายวินัยกล่าวต่อว่าหมวกยางตนได้เริ่มประดิษฐ์และคิดค้นมาตั้งแต่ปี 2534 และสามารถพัฒนาเรื่อยมา สำหรับหมวกยาง เป็นอุปกรณ์กันฝน หรือกันน้ำไหลบ่าลงในถ้วยน้ำยางหรือหน้ายาง ทำให้น้ำยางเสียหาย ทำโดยมีโครงลวดคลุมด้วยพลาสติกหนา ผูกติดเหนือรอยกรีดกันน้ำฝน ทำให้กรีดยางได้ในวันฝนตก เพิ่มวันกรีด เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
นายวินัย กล่าวต่อว่า โดยปกติยางพาราในระนองจะมีวันกรีดเฉลี่ย 110 วันต่อปี ผลผลิต 287 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี แต่เมื่อทำหมวกยาง สามารถเพิ่มวันกรีดยางได้ถึง 170 วันต่อปีส่งผลให้ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น
สำหรับอุปกรณ์การทำหมวกยางเกษตรกร และขั้นตอนการทำ เริ่มจากการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ดังนี้ ลวด เบอร์ 12 นำมาตัดเป็นเส้น ยาว 175 เซนติเมตร พับเป็นโครงสร้างหมวก และตัดขนาดยาว 75 เซนติเมตร พับเป็นรูปตัววี เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างหมวก จากนั้นนำลวดเส้นเล็ก ตัดยาว 15 เซนติเมตร ใช้ผูกพันให้โครงสร้างหมวกแข็งแรงขึ้น นำถุงพลาสติกใส ขนาดกว้าง 16 ยาว 26 นิ้ว นำมาเย็บติดโครงสร้างหมวก มุงเป็นหลังคา ใช้พลาสติกหนา นำมาตัดกว้าง 8 นิ้ว ความยาวเท่ารอบต้นยางและจีบคล้ายกระโปรง ขั้นตอนต่อมาใช้เชือกสำหรับผูกหมวกให้ติดต้นยาง จากนั้นนำยางในรถจักรยานยนต์ตัดเป็นเส้น กว้างครึ่งนิ้วความยาวตามเส้นรอบวงต้นยาง โดยต้นทุนหมวกยางต่อต้นเฉลี่ยที่ชุดละ 15 บาท และเมื่อหมดช่วงกรีดยางหรือเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนสามารถถอดเก็บเพื่อรักษาอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น และจากชุดอุปกรณ์หมวกยางที่คิดค้นขึ้นขณะนี้ได้ยื่นขอจดลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรป้องกันการนำไปแสวงหาผลประโยชน์เรียบร้อยแล้ว ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่สนใจตนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้และแนะนำขั้นตอนการประดิษฐ์ให้แต่ไม่อนุญาตให้นำไปทำเป็นการค้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ 3 / 5. จำนวนโหวต: 4