X

ผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนของดีเมืองระนอง

“พวงพรรณ ธนชาติบรรจง” อายุ 48 ปี ปัจจุบันนอกจากเป็นเจ้าของธุรกิจหนังปลากระเบนแบรนด์PR Sting ray ยังดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายโอทอปจังหวัดระนอง,ประธานเครือข่ายกลุ่มอาชีพสหกรณ์จังหวัดระนอง

ก่อนจะผลักดันสินค้าท้องถิ่นผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนจนก้าวสู่ความเป็นอินเตอร์แบรนด์เช่นปัจจุบันได้นั้น พวงพรรณเล่าว่า เกิดจากจุดเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี ที่”พวงพรรณ ธนชาติบรรจง” ติดตามครอบครัวออกตระเวนรับซื้อหนังปลากระเบนจากโรงงานปลาเค็มเพื่อมาแปรรูปเป็นกระเพาะปลาเทียม ส่งขายตามร้านอาหารต่างๆ สู่ธุรกิจฟอกหนังปลากระเบนขายทั้งในและต่างประเทศ จนสู่เจ้าของผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนแบรนด์ “PR Sting ray” ที่รู้จักทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แต่ 34 ปีบนเส้นทางการก้าวสู่นักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนได้เช่นปัจจุบัน พวงพรรณ บอกต้องฝ่าฟันกับปัญหาอุปสรรคขวากหนามมานานัปการ และพวงพรรณ บอกว่าปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีน้อยรายที่ยังทำธุรกิจผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนแท้ เพราะความยากในทุกๆด้านกว่าจะได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น ทั้งวัตถุดิบ ที่หายากขึ้น,การตัดเย็บที่ต้องพิถีพิถันกว่าหนังประเภทอื่น,การฟอกย้อม ที่แตกต่างจากหนังประเภทอื่นๆ เช่นกัน ประกอบกับปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนเทียมออกมาตีตลาด ทั้งยังมีราคาถูกและทำได้ง่ายกว่า แต่ด้วยความที่หนังปลากระเบนมี 3 สิ่งที่พิเศษที่ยากต่อการเลียนแบบนั่นคือ “ความแวววาว ความทนทาน และความเชื่อ” จึงทำให้ผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนแท้ยังมีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังต้องการ


“พวงพรรณ ธนชาติบรรจง” เล่าว่า เส้นทางการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนได้ในวันนี้ เพราะจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ต้องคลุกคลีกับหนังปลากระเบนมาตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากครอบครัวที่ จ.ระนอง ทำเริ่มต้นจากการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือปลากระเบน เริ่มจากการตระเวนรับซื้อหนังปลากระเบนจากโรงงานปลาเค็มในพื้นที่ที่เลาะเอาหนังทิ้งเพื่อเอาเนื้อทำปลาเค็มขาย ซึ่งพวงพรรณ เล่าว่ายุดสมัยตนเด็กๆ ปลากระเบนมีเป็นจำนวนมาก และมีราคาถูก ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำมาทำปลาเค็มขาย ครอบครัวของตนมีความรู้เรื่องการทำกระเพาะปลาเทียมจากหนังปลากระเบนจึงได้ออกไปรับซื้อหนังปลาที่โรงงานปลาเค็มทิ้งเป็นจำนวนมากเพื่อมาทำเป็นกระเพาะปลาเทียมขายเป็นรายได้หลักที่เลี้ยงครอบครัวในช่วงนั้น ต่อมาจำได้ว่าตอนที่ตนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีลูกค้าชาวต่างชาติมาที่บ้านต้องการผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนแบบฟอกทั้งตัว ตอนนั้นครอบครัวของตนไม่มีความรู้เรื่องการฟอกหนังปลากระเบนเลย ทำให้ตนเองที่จบ ม. 6 และเดินทางมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี วิชาบริหารธุรกิจที่ ม.รามคำแหงที่หัวหมาก จึงตัดสินใจเดินทางไปที่ องค์การฟอกหนัง ตอนนั้นจำได้ว่าอยู่แถวกล้วยน้ำไท เพื่อติดต่อจนท.ขอความรู้ และขอเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการฟอกหนัง เพื่อที่จะนำความรู้มาฟอกหนังปลากระเบนส่งขายให้กับลูกค้า เพราะมองว่าเป็นอีกช่องทางที่มีโอกาสให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นได้


พวงพรรณ เล่าต่อว่า เมื่อพบ จนท.ที่องค์การฟอกหนังก็ทราบว่าที่องค์การฯเองก็ไม่เคยมีความรู้เรื่องการฟอกหนังปลากระเบนมาก่อนเช่นนั้น ขณะนั้นถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่มาก โดยทางองค์การฯจะมีความเชี่ยวชาญในการฟอกหนังวัวเป็นหลักแต่ก็ยินดีจะร่วมกันพัฒนาโดยให้ตนกลับไปที่ระนองเพื่อนำหนังปลากระเบนมายังองค์การฯเพื่อร่วมเรียนรู้ร่วมกัน จนในที่สุดพอที่จะได้แนวทางและได้รู้วิธีการฟอกหนังปลากระเบนโดยใช้พื้นฐานการฟอกหนังวัวแต่มาปรับปรุงในรายละเอียดของขั้นตอนและสูตรทางเคมี ต่อมาตนกลับมาระนองเริ่มทดลองฟอกหนังลองผิดลองถูกเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองอีกระยะหนึ่งจนสามารถฟอกหนังปลากระเบนได้ตามที่ลูกค้าต้องการและขายให้กับลูกค้าได้ จำได้ว่าลูกค้าดังกล่าวมาจากประเทศฝรั่งเศสจากการฟอกธรรมดา ต่อมาเพิ่มเป็นการฟอกขาวเพราะลูกค้าต้องการความหลากหลายมากขึ้น ประกอบกับมีลูกค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อและต้องการซื้อหนังปลากระเบนฟอกขาว ทำให้ตนต้องขึ้นไปเรียนรู้อีกรอบเกี่ยวกับวิธีการฟอกขาวจนได้สูตรเป็นของตนเอง โดยตนเองจะเป็นผู้รับผิดชอบงานฟอกย้อมทั้งหมด และได้ทำธุรกิจหนังปลากระเบนฟอกย้อมส่งขายลูกค้าหลายปี ก่อนจะก้าวสู่จุดพลิกผันสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนเช่นปัจจุบันนั้น เกิดจากการที่มีลูกค้าจากประเทศเยอรมันเข้ามาติดต่อต้องการหนังปลากระปลากระเบนฟอกสีเขียวหยก ซึ่งถือเป็นงานฟอกหนังระดับสูงที่มีสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ตนเองจึงต้องกลับไปยังองค์การฟอกหนังอีกรอบเพื่อเรียนรู้วิธีการฟอกหนังสี จนได้แนวทางและวิธีการจากนั้นมาพัฒนาต่อจนสามารถฟอกย้อมหนังปลาประเบนให้ออกมาเป็นสีเขียวหยกได้ตามที่ลูกค้าต้องการ โดยตอนนั้นลูกค้ามีความต้องการเยอะมาก แต่จุดนี้ปัญหาเกิดขึ้นเป็นอย่างมากเช่นกันเมื่อการฟอกย้อมสีเขียวหยกที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการฟอกย้อมมาก่อนจึงทำให้สินค้าที่ส่งออกไปนั้นถูกตีกลับมาเป็นจำนวนมาก “เครียด” พวงพรรณ บอกเมื่อเห็นหนังปลากระเบนฟอกย้อมสีเขียวหยกที่ถูกตีกลับมากองอยู่ที่โรงงานเป็นจำนวนมาก แต่ตอนนั้นโชคดีหน่อยที่ราคาหนังปลากระเบนยังมีราคาถูกจึงไม่ประสบปัญหาขาดทุนมาก


เมื่อมีหนังปลากระเบนฟอกย้อมสีเขียวหยกเป็นจำนวนมากที่ลูกค้าไม่รับซื้อจึงเริ่มเกิดแนวความคิดที่จะทำเป็นผลิตภัณฑ์พวกกระเป๋าเพื่อทดลองขาย มองว่าดีกว่าเอาหนังปลาไปทิ้ง แต่ปัญหาคือไม่มีความรู้เรื่องการตัดเย็บ ไม่มีเครื่องตัด เครื่องเย็บ ส่วนการออกแบบนั้นด้วยความเป็นผู้หญิงก็พอจะมีความรู้บ้าง จึงไปติดต่อโรงงานที่รับตัดเย็บหนังเพื่อให้ตัดเย็บผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบน โดยสินค้าช่วงแรกคือกระเป๋าสะพาย และกระเป๋าถือแบบผู้หญิง แต่ปรากฏว่าจุดเริ่มต้นแรกการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เจอปัญหาทันทีเมื่อสินค้าที่ทำจากหนังปลากระเบนที่ไปว่าจ้างให้โรงงานตัดให้นั้นถูกลูกค้าตีกลับทั้งหมดเนื่องจากโรงงานใช้วิธีการตัดเย็บแบบหนังทั่วไป ซึ่งความจริงการเย็บหนังปลากระเบนต้องใช้ 4 แพทเทิร์น ต่างจากการเย็บหนังวัวที่ใช้เพียง 2 แพทเทิร์น เนื่องจากปลากระเบนต้องละเอียดกว่ามาก ลูกค้าจึงตีกลับสินค้าทั้งหมดอ้างว่าเย็บหลอก ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนเป็นอย่างมาก ในที่สุดต้องยอมขายต่ำกว่าทุนเพื่อแก้ปัญหาชุดแรกที่จำหน่าย เมื่อเคลียร์ปัญหาสินค้าได้เสร็จก็ตัดสินใจเดินที่จะเรียนรู้การตัดเย็บเครื่องหนัง ตอนนั้นมีการเปิดสอนแถวราชดำเนิน เป็นสาขาของวิทยาลัยสารพัดช่าง ประเภทหลักสูตรระยะสั้น จึงทำให้ได้พื้นฐานความรู้เรื่องการตัดเย็บ และการออกแบบเครื่องหนัง แต่ก็พบว่าการตัดเย็บและการออกแบบหนังปลากระเบนยากกว่าหนังวัวมาก และจึงเข้าใจว่าทำไมโรงงานเย็บหนังปลากะเบนจึงมีน้อยเพียง 2 โรงทั่วประเทศเท่านั้น จุดแตกต่างสำคัญของการออกแบบและการตัดเย็บหนังวัวกับหนังปลากระเบน โดยหนังวัวจะเป็นหนังแผ่นเดียวรูปสีเหลี่ยม ช่างจะตัดจุดไหนได้ทั่วตัว ส่วนหนังปลากระเบนจะมาเป็นตัวแนวสามเหลี่ยม และมีจุดสำคัญที่เป็นไอไลท์หนังปลากระเบนที่เรียกว่าเม็ดทราย ซึ่งคือครีบสันหลังของปลากระเบน และจะเป็นจุดสำคัญที่สวยงามและบอกได้ว่าเป็นหนังที่มาจากปลากระเบนเมื่อลูกค้าเห็นจะรู้ทันที ดังนั้นการตัดและการเย็บจะต้องคำนึงถึงเม็ดทรายหรือส่วนครีบสันหลังปลากระเบนเป็นสำคัญจึงต้องออกแบบและตัดเย็บอย่างพิถีพิถันเพราะหากเม็ดทรายหรือครีบสันหลังวางในตำแหน่งผิดรูปผิดเพี้ยนก็จะไม่สวยงามเสียราคาได้ ส่วนการเย็บนอกจากต้องวางแพทเทิร์นการเย็บที่เพิ่มจากหนังวัวแล้วพบว่าหนังปลากระเบนมีความแข็งเย็บยาก ต้องมีการเจียหนังปลากระเบนให้บางลงจึงจะเย็บได้ไม่เช่นนั้นเข็มจะหัก ดังนั้นหากเทียบจำนวนกำลังการผลิตหากหนังวัวเย็บได้ 10 ใบต่อ ชม.หนังปลากระเบนจะเย็บได้ 1-2 ใบต่อชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นคนที่จะทำผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนได้นอกจากต้องมีความรู้แล้ว ต้องมีใจรักและเห็นคุณค่าของหนังปลากระเบนจริง เช่นเดียวกับผู้ซื้อหรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบน

พวงพรรณ เล่าว่าเมื่อตนเรียนรู้การตัดเย็บและการออกแบบเสร็จก็ยังไม่ได้ตั้งโรงงานตัดเย็บที่ระนองทันที เพราะยังต้องมีการพัฒนาการทำสีหนังปลากระเบนให้มีสีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีความรู้เฉพาะสีขาว,ดำและเขียว ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสร้างความหลากหลายให้กับตัวสินค้าหากจะก้าวสู่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนอย่างแท้จริง จึงไปเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องสีที่บริษัทสีแห่งหนึ่งจึงได้รู้วิธีการย้อมสี การพ่นสี และจุดนี้ก็ทำให้รู้อีกว่าการพ่นสีหนังวัวกับหนังปลากระเบนนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง หนังวัวพ่นง่ายเพราะเป็นหนังเรียบ ส่วนหนังปลากระเบนถือเป็นงานหินมากเพราะมีเม็ดเล็กๆบนหนังปลาที่เป็นตะปุ่มตะป่ำที่ไม่ราบเรียบและเม็ดไม่เท่ากันดังนั้นการพ่นสีจะต้องมีการปรับวิธีการพ่นหลายครั้งกว่าจะเสร็จในแต่ละชิ้น ซึ่งก็เป็นอีกขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา และทำให้ผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนจึงไม่สามารถเน้นปริมาณได้เช่นหนังชนิดอื่นๆ เนื่องจากการที่ต้องพิถีพิถันในแต่ละขั้นตอนนั่นเอง


พวงพรรณเล่าว่าถึงตอนนี้ถือว่าตนได้ความรู้ทุกอย่างรอบด้านและพร้อมที่จะก้าวเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนเต็มตัวแล้ว จึงตัดสินใจที่จะลงทุนด้านการผลิตด้วยการซื้อเครื่องจักอุตสาหกรรม,เครื่องปอกหนังวัว เพราะต้องใช้หนังวัวเป็นส่วนประกอบในการผลิตภัณฑ์ประมาณ 15% ,ตัวตัดหนัง,อุปกรณ์ทำกระเป๋า พวกค้อน,กรรไกร,กาว,แปรง,พู่กัน,สี,กระดาษตัดแบบ,ผ้าซับในฯ จุดเริ่มต้นผลิตภัณฑ์ที่ตนเองทำจากโรงงานตัวเองเริ่มจากกระเป๋าสตางค์ผู้ชาย 3 แบบ เมื่อนำออกวางตลาดปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเป็นที่รู้จักทั้งในระนองและทั่วประเทศ ซึ่งขณะนั้นถือว่าเผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระแบนป็นสิ่งแปลกใหม่มาก จนทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยกให้เป็นของดีระนองตัวที่ 4 หรือ ก.ตัวที่4 หมายถึงของดีเมืองระนองเดิมที่ 3 อย่างหรือจะเรียกว่ากันว่า 3 ก.ประกอบด้วยกะปิ,กุ้งแห้งและกาหยูส่วนก.ที่สี่คือกระเบน หรือผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบนนั่นเอง

สำหรับการทำตลาดเริ่มจากการวางจำหน่ายในจังหวัดระนอง โดยผ่านร้านค้าของตนเองชื่อร้านกระเป๋า ตั้งอยู่ที่ ม. 1 ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง ที่เปิดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายแรกในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ก่อนขยายมาที่ศูนย์โอทอปของ จ.ระนองที่ตั้งอยู่ในห่างกันมากนัก หลังในจังหวัดระนองเริ่มรู้และลูกค้า นักท่องเที่ยวที่ซื้อติดตัวไปติดใจในความสวยงามและความทนทาน การตลาดแบบปากต่อปากจึงเริ่มขึ้นและเรียกหาต้องการผลิตภัณฑ์เข้ามามากขึ้น จุดแรกที่ออกต่างจังหวัดคือจังหวัดท่องเที่ยวภูเก็ต โดยเข้าไปติดต่อหาร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฝากขายสินค้า หรือขายขาดในราคาส่งตามที่จะตกลงกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ที่ภูเก็ตจะมีร้านใหญ่จะจำหน่ายรวม 4 ร้านที่ถือเป็นช่องทางสำคัญ และจากที่ภูเก็ตนี่เองทำให้ได้กลุ่มลูกค้าสำคัญและเป็นจุดที่ได้มีโอกาสขยายสู่ประเทศจีนนั่นคือลูกค้าชาวจีนที่มาเจอผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายที่ร้านที่ภูเก็ต เมื่อรู้ว่าเป็นหนังปลากระเบนแท้จึงชื่นชอบและซื้อกลับประเทศเป็นจำนวนมาก เหตุที่ลูกค้าจีนชื่นชอบปลากระเบนนอกจากความสวยงามความแวววาวของหนังปลาเมื่อถูกย้อมสีแล้ว ยังมีความทนทาน และอีกเหตุผลที่สำคัญมากคือความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของคนจีนที่เชื่อว่าปลากระเบนราหูซึ่งนำหนังมาทำเป็นผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเทพของโชคลาภหากใครใช้กระเป๋าสตางค์จากหนังปลากระเบนราหูจะทำให้มีเงินเข้ามาไม่ขาดกระเป๋า หรือความร่ำรวยนั่นเอง เมื่อมีลูกค้าจีนที่เรียกร้องเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้ตนเห็นช่องทางที่จะขยายตลาดเข้าสู่จีน เริ่มจากการไปออกบูธในเมืองต่างๆ ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชนและศูนย์ส่งเสริมการส่งออก ซึ่งพบว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวจีนเป็นอย่างมาก แต่ก็ทำให้เกิดความรู้อีกประการว่าคนจีนจะมีพฤติกรรมการใช้สินค้าที่ต่างจากคนไทยโดยกระเป๋าสตางค์นั้นผู้ชายจีนจะไม่ชอบกระเป๋าสตางค์แบบเล็กๆพกกระเป๋าได้เช่นคนไทยแต่จะชอบกระเป๋าสตางค์ยาวๆ แบบผู้หญิงมีซิปตรงกลาง 1 หรือ 2 ซิป มีขนาดความหนาพอสมควรเนื่องจากต้องพกเงินเป็นจำนวนมากตามค่าของเงินเมื่ออกนอกบ้านทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ ส่วนผู้หญิงจะชอบกระเป๋าสะพายแต่จะไม่ชอบสิ่งตกแต่งที่ไม่ใช่หนังปลากระเบนที่เข้ามาเป็นส่วนประกอบต้องการให้ส่วนอื่นๆลดน้อยที่สุดมีผลิตภัณฑ์ที่มาจากหนังปลากระเบนมากที่สุด ซึ่งทางตนก็พยายามออกแบบแต่ก็พบว่าหลายส่วนที่ต้องการความยืดหยุ่นยังคงต้องมีหนังวัวเข้าไปเป็นส่วนประกอบ ส่วนประเทศอื่นๆที่ขยายเข้าไปขณะนี้ได้แก่มาเลเซีย,ลาว ส่วนตลาดที่น่าสนใจและกำลังหาช่องทางที่จะเข้าไปและคาดว่าจะเป็นตลาดสำคัญในอนาคตคืออินเดีย ซึ่งมองว่าตลาดใหญ่คล้ายจีน ส่วนรูปแบบการทำตลาดยังไม่มีการตั้งตัวแทนจำหน่ายเพราะข้อจำกัดของจำนวนการผลิตที่ยังผลิตได้จำกัดจากกระบวนการขั้นตอนที่ต้องเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณโดยจะเน้นการตลาดแบบขายตรงสู่ผู้ซื้อด้วยการไปออกร้านหรือออกบูธในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งรับออเดอร์หรือคำสั่งซื้อมาผลิตส่งให้เป็นรายๆ โดยปัจจุบันโรงงานที่ระนองมีกำลังการผลิตสูงสุด 1,000 ชิ้นต่อเดือนเฉพาะในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ ส่วนเครือข่ายจะผลิตได้ประมาณ 2,000-3,000 ชิ้นต่อเดือน โดยวัตถุดิบก็เป็นอีกตัวแปรที่ส่งผลต่อกระบวนการผลิตอีกเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันหนังปลากระเบนเริ่มหายากมากขึ้นปลากระเบนที่ขึ้นฝั่งไทยที่ระนองเกือบทั้งหมดจะถูกพ่อค้าชาวมาเลเซียซื้อกลับประเทศ ตนเองต้องตามไปซื้อกลับมาจากมาเลเซียอีกครั้งเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต

พวงพรรณ กล่าวต่อว่าผลิตภัณฑ์จากหนังปลากระเบน แบรนด์PR Sting ray (ชื่อย่อมาจาก Phuangphanกับคำว่า Ray มารวมกันรวมทั้งคำว่า Ranongจึงเป็นที่มาของแบรนด์PR Sting ray ผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนแท้จากระนอง แบ่งเป็น 6 กลุ่มสินค้ากลุ่มแรกคือกลุ่มผลิตภัณฑ์กระเป๋าสตางค์ผู้ชาย จำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 700 บาทขึ้นไป กลุ่มที่สองกลุ่มผลิตภัณฑ์กระเป๋าสตางค์ผู้หญิง ราคาเริ่มต้น 1,300 บาท กลุ่มที่สามกระเป๋าสะพาย ราคาเริ่มต้น 3,500 บาท กลุ่มที่สี่พวงกุญแจ ราคาเริ่มต้น 900 บาท กลุ่มที่ห้ากลุ่มเครื่องประดับ ราคาเริ่มต้น 400 บาทกลุ่มที่หก กลุ่มเข็มขัดราคา 1,200 บาท

พวงพรรณกล่าวทิ้งท้ายให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หนังปลากระเบนว่าปลากระเบนเป็นปลาที่อาศัยอยู่บนผิวดินอาศัยอยู่ในท้องทะเลลึกบางครั้งก็ฝังตัวใต้ผิวดินทรายเพื่อหลบซ่อนศัตรู ลำตัวมีลักษณะแบน หางยาว กลางลำตัวเป็นเม็ดทรายเม็ดใหญ่ล้มรอบด้วยเม็ดทรายเล็กๆเป็นจำนวนมาก เมื่อกระทบแสงแดดและแสงไฟจะแวววาวสวยงามมากขึ้น เมื่อนำหนังปลากระเบนมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จะมีคุณลักษณะพิเศษคือทนทาน แวววาว กว่าหนังชนิดอื่นๆ ทั้งยังมีเอกลักษณะเฉพาะเนื่องจากปลากระเบนเป็นปลาที่อาศัยในท้องทะเลลึกจึงทำให้หลายคนเกิดความเชื่อว่าเมื่อนำเงินมาเก็บในกระเป๋าหนังปลากระเบนจะทำให้เงินเย็นและอยู่กับเราได้นาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง บรรณาธิการ นสพ.เซ้าท์เทิร์นนิวส์ระนอง