X

ชาวสวนยางระนอง เร่งเก็บยางแผ่น ยางก้อน รอขายหลัง 1 ต.ค.หลังรัฐประกันราคา 60 บาท

ชาวสวนยางระนอง เร่งเก็บยางแผ่น ยางก้อน รอขายหลัง 1 ต.ค.หลังรัฐประกันราคา 60 บาท

ชาวสวนยาง เร่งเก็บสต็อกยาง รอขายหลัง 1 ต.ค. 2562 หลังการประกันราคามีผลบังคับใช้ คาดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจคึกคัก

ระนอง-  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง รายงานว่า เกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.ระนอง มีความเคลื่อนไหวคึกคักหลังรัฐบาลเตรียมประกันรายได้ราคายางพารา ทำให้ชาวสวนยางพาราที่ปลูกยางพาราตามเกาะต่าง ๆในจังหวัดระนอง รวมทั้งในพื้นที่ อ.กระบุ อ.ละอุ่น อ.กะเปอร์ อ.สุขสำราญ อ.เมืองระนอง  ได้ทยอยเร่งตัดและเก็บผลผลิตยางพารา ทั้งยางแผ่น และยางก้อน ซึ่งร้อยละ 90 เป็นยางแผ่นเพื่อรอจำหน่ายหลังเก็บมานานหลายเดือนในช่วงที่ผ่านมา โดยจะจำหน่ายหลังวันที่ 1 ต.ค. 2562 นี้หลังรัฐบาลประกาศว่ามาตรการประกันราคายางพาราจะเริ่มมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะสร้างความคึกคักและดีใจให้กับชาวสวนยางเป็นอย่างมาก และจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจในครัวเรือนมีความคล่องตัว ชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลไปกระตุ้นเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ต่อไป สำหรับการกรีดยางของชาวเกาะ ไม่ได้ตัดทุกวันแต่ตัดในลักษณะสะสม เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูฝน อีกทั้งที่ผ่านมาตัดเก็บเพื่อรอดูทิศทางราคา เนื่องจากราคาซื้อขายตกต่ำมากมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา

ชาวสวนยางระนองใช้หมวกยางตัดยางช่วงหน้าฝน

คาดว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562เกษตรกรชาวสวนยางจะนำยางพาราที่เก็บไว้อกมาขายเป็นจำนวนมาก โดยหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาราคายาง  และเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครัวเรือนที่พบว่าเศรษฐกิจระดับรากหญ้าซบเซาอย่างมากช่วงที่ผ่านมา

อนึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือถึงมาตรการในการบริหารจัดการยางพารา ว่า ได้หารือแนวทางการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีเป้าหมายให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับการชดเชยรายได้จากการจำหน่ายยางพารา รายละไม่เกิน 25 ไร่ ในการประกันรายได้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีที่ราคา 60 บาท/กก. ส่วนยางประเภทอื่นราคาจะลดหลั่นตามสัดส่วนของราคาที่กำหนดในตลาด โดยกำหนดการประกันรายได้ราคาน้ำยางสด 57 บาท/กก. และประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย 50 บาท/กก. ซึ่งได้สรุปถึงรายละเอียดในการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รอในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือด้านราคาให้ชาวสวนยางพารา เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการแต่ต้องรอบคอบ เพื่ออุดช่องโหว่ทางกฎหมายที่อาจทำให้เกิดการทุจริต จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะ เพื่อมาดำเนินการพิจารณาในแต่ละมิติ ดังนี้คือ 1.คณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 2.คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง 3.คณะกรรมการบริหารโครงการฯระดับจังหวัด 4.คณะทำงานโครงการระดับตำบล

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง บรรณาธิการ นสพ.เซ้าท์เทิร์นนิวส์ระนอง