สสจ.ระนอง แนะ 14 วิธีชาวบ้านดูแลสุขภาพ รับมือหมอกควัน
ระนอง-นพ.สาธิต ทิมขำ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากปัญหาหมอกควันไฟจากประเทศอินโดนีเซีย โดยภายหลังเกิดการเผาป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5 ปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในหลายจังหวัด โดยค่า PM2.5 เริ่มมีค่าเกินมาตรฐานในระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และอาจส่งผลกระทบถึงจังหวัดระนอง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ขอประชาสัมพันธ์คำแนะนำด้านสุขภาพและการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของปัญหาหมอกควันไฟ ดังนี้การปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนทั่วไป 1. ควรงดกิจกรรม นอกบ้านเป็นเวลานานๆ 2. ควรปิดปากและจมูกด้วยหน้ากากอนามัย หรือผ้าสะอาดชุบน้ำเพียงหมาดๆ ปิดให้คลุมทั้งปาก/จมูก 3. ควรปิดหน้าต่าง ประตู ด้านที่มีทิศทางลม 4. ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจ ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และเด็กควรหลีกเลี่ยงการออกนอกตัวอาคารเป็นเวลานาน ให้ใช้ยาประจำอย่างเคร่งครัด 5. ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจควรรีบไปพบแพทย์ 6. งดการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดควันพิษมากขึ้น 7. งดเว้นการสูบบุหรี่และควรดื่มน้ำบ่อยๆ 8. ติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
การปฏิบัติตัวสำหรับกลุ่มเด็ก1. ดื่มน้ำอุ่นมากๆ งดการดื่มน้ำเย็น น้ำแข็ง หรืออาหารที่เย็นจัด 2. งดการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ออกแรงมาก 3. หากมีน้ำมูกมากหรือเหนียวข้น เด็กเล็กให้ใช้น้ำเกลือนอร์มัลหยอดจมูกข้างละ 2-3 หยด เด็กโต ใช้วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัล 4. เด็กที่มีโรคหอบหืด ควรใช้ยาประจำเพื่อควบคุมอาการตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 5. เด็กที่มีโรคภูมิแพ้ ควรกินยาภูมิแพ้ หรือใช้ยาพ่นจมูกเพื่อบรรเทาอาการ หากเด็กมีอาการไอมาก หายใจเร็ว หายใจขัด หรือเริ่มมีไข้ร่วมด้วย ควรนำเด็กมาพบแพทย์ 6. โรงเรียน ควรมีการติดตามรายงานคุณภาพอากาศ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
- เมื่อระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- เมื่อระดับ AQI มากกว่า 200 หรือ PM 2.5 มากกว่า 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและพิจารณาหยุดเรียน
การปฏิบัติตัวสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ ที่เป็นโรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง ถ้าหากว่าเริ่มมีอาการไอ เหนื่อย เสมหะมากขึ้น 1. ใช้ยาสูดพ่น สำหรับป้องกันอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะเพิ่มขนาดยาตามที่แพทย์ได้เคยแนะนำไว้ 2. เพิ่มยาสูดพ่นขยายหลอดลม เป็นทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง (การสูดพ่นยาทุกครั้ง ต้องมั่นใจว่าทำได้ถูกต้อง) 3. ถ้าเสมหะเหลือง เขียว อาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะ ให้ปรึกษาแพทย์ 4. ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางตาจะมีอาการแสบตา เคืองตา ตาแดง วิธีการดูแล 1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ๆมีหมอกควันมาก 2. ถ้ามีอาการแสบตา เคืองตา ตาแดง ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือหยอดน้ำตาเทียม 3. ถ้าต้องการขับขี่รถจักรยานยนต์ ควรสวมแว่นที่ป้องกันฝุ่นควันเข้า เช่น แว่นตาคล้ายแว่นว่ายน้ำ เป็นต้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: