สุดเจ๋ง! ภูมิปัญญาชาวบ้านระนอง คิดค้นผลิตภัณฑ์ “กาบหมาก” ทดแทนโฟม ช่วยโลกร้อน
ระนอง—ชาวบ้านระนอง ร่วมกับ สกสว.ทำสำเร็จ วิจัย “กาบหมาก” ที่มีจำนวนมากในชุมชนพื้นที่ จ.ระนอง คิดค้นทำเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารทดแทนโฟมสำเร็จ ลดโลกร้อน ทั้งยังสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
ระนอง-นางกัญแก้ว เบ่งกิจ นางแววตา อรุณโชติ นางยุแวว ศรีสุโข กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่2และหมู่4 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง3 แกนนำหลัก ขับเคลื่อนเรื่องกาบหมาก ร่วมกับน.ส.ณัฐกานต์ ไท้สุวรรณ ตำแหน่ง ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ระนอง กล่าวว่า ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์
ทำให้ตำบลราชกรูดมีผลิตผลทางการเกษตร ออกสู่ท้องตลาดปีละหลายร้อยตัน จากการทำการเกษตรแบบผสมผสาน และพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งในพื้นที่ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตำบลราชกรูด
นอกเหนือจาก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน คือ “หมาก” หมากเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ละปีสามารถสร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อครัวเรือน
โดยเกษตรกรจะแปรรูปหมากแห้ง แบบผ่าซีก ส่งต่อให้กับพ่อค้าแม่ค้าคนกลางในพื้นที่รวบรวมส่งต่อไปยังพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดระนอง
จากกระบวนการงานวิจัยที่ผ่านมาโดยการสนับสนุนโครงการวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เน้นให้ชุมชนใช้เครื่องมืองานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ เสริมศักยภาพชุมชน และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
ภายใต้โครงการศึกษา แนวทางการบริหารจัดการผลผลิตจากหมาก เพื่อเพิ่มมูลค่าแบบครบวงจรสู่การเป็นผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่2และหมู่4 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ทีมวิจัยชุมชน สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรสวนหมากในพื้นที่ เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรสวนหมาก
สร้างมูลค่าให้กับเกษตรกรด้วยการเพาะขยายพันธุ์หมากขาย การสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนประกอบของหมากส่วนต่างๆ เช่น เปลือกหมาก กาบหมาก ต้นหมาก เป็นค้น โดยเฉพาะกาบหมาก
ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น จายเรือกาบหมาก กล่องทิชชู รองเท้ากาบหมาก ตะกร้ากาบหมาก เป็นต้น
ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ทดลองเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จานเรือกาบหมาก สำหรับใช้ใส่อาหารว่างในการจัดประชุม ผ่านช่องทางตลาดเครือข่ายนักวิจัย หน่วยงานในท้องถิ่น และตลาดกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ที่มาจาก
1)พ่อค้าแม่ค้าในตลาดถนนคนเดิน ตลาดเพื่อสุขภาพ
2)บริษัทเอกชน และสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว รีสอร์ท 3)หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4)กลุ่มองค์กรชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่
5)เครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ระนอง 6)กลุ่มลูกค้าทั่วไป ผ่านการบอกต่อปากต่อปาก
ซึ่งพบว่า มีคนให้ความสนใจติดต่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จานเรือกาบหมาก กับทางกลุ่มอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมียอดการสั่งซื้อต่อครั้งอยู่ที่ 50-100 ชิ้น แต่จากการบันทึกรายการขายจานกาบหมาก เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2559ถึง 2562 พบว่ามียอดจำหน่ายประมาณ 50,000 บาท
ซึ่งทางกลุ่มมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์จากกาบหมาก เช่น จานเรือกาบหมากสำหรับใส่อาหารว่าง กล่องทิชชู รองเท้ากาบหมาก ตะกร้ากาบหมาก จานรองแก้วน้ำ แผ่นรองจานอาหาร ม่านหน้าต่าง-ประตู ดอกไม้ประดิษฐ์ตกแต่งบ้าน-รีสอร์ท นามบัตร ที่คั่นหนังสือ และไม้ตีแลงวัน
“ผลิตภัณฑ์ที่ขายตอนนี้ มี 2 รูปแบบ 1.รูปแบบงานทำมือ ผลิตภัณฑ์จานเรือกาบหมาก สำหรับใส่อาหารว่าง 2.รูปแบบงานอัดเครื่องจักร ขนาดเล็ก มีแบบจานกลม กับจานสี่เหลี่ยม”
จากการวิเคราะห์สถานการณ์พบว่า กระแสการใช้ผลิภัณฑ์จากธรรมชาติ เพื่อมาทดแทนกลุ่มโฟม คนในสังคมเริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับเทศบาลตำบลราชกรูด และหน่วยงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลราชกรูด ได้ประกาศนโยบาย “ทำความดีด้วยใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม”ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานจังหวัดระนอง
เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอย ลดการใช้พลาสติกหูหิ้ว และงดการใช้โฟมบรรจุอาหาร รวมทั้งส่งเสริมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนโฟม ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนตำบลราชกรูด เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของกาบหมากเพิ่มมากขึ้น จากที่ไม่เคยเห็นคุณค่า หล่นทิ้งเป็นขยะในสวน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และพาหนะนำโรคไข้เลือดออกดังเช่นอดีต
น.ส.ณัฐกานต์ ไท้สุวรรณ ตำแหน่ง ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ระนอง กล่าวว่า โครงการดังกล่าว โดยการสนับสนุนโครงการวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เน้นให้ชุมชนใช้เครื่องมืองานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ เสริมศักยภาพชุมชน และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน.
โดยสรุปผล ด้านเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรในชุมชน ด้วยการรับซื้อกาบหมากจากเกษตรกร ราคา 1 -2 บาทต่อกาบ นอกจากนี้เกิดการเชื่อมโยง ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สังคมภายนอกได้รับรู้ เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น ยกระดับชุมชน เชื่อมโยงกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว เมืองรอง ท่องเที่ยวชุมชนชนวัตวิถีซึ่งจะเกิดการกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน
ด้านสังคมทำให้ประชาชนเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงศักยภาพ ความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริม สร้างแรงกระตุ้น ให้คนในสังคม ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติก ลดการใช้โฟม เพื่อสิ่งแวดล้อมดี และเพื่อสุขภาพที่ดี เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก ยกระดับเข้าสู่ตลาดทางเลือกในวงกว้าง
ด้านชุมชนและพื้นที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของเกษตรกรในชุมชน สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ผ่านข้อมูล ความรู้ ที่เชื่อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน และเป็นการส่งเสริม สืบสานความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การยกระดับ ต่อยอด แนวคิด เพิ่มทักษะ ความสามารถ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างจุดขาย สร้างอัตตลักษณ์ของท้องถิ่น และพัฒนาช่องทางการตลาดจะสามารถยกระดับกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการชุมชนที่มีความรู้เพิ่มขึ้น.
ผู้สนใจเรียนรู้ศึกษาดูงาน หรือซื้อผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่คุณ หลิน098-7054642/ คุณ ผุด095-2570657
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: