เหตุการณ์เมื่อ 79 ปีที่แล้ว 5 มกราคม 2484 ประเทศไทยประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ทวงคืนผืนแผ่นดินคืนจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งสยามเสียดินแดน เป็นสงครามอินโดจีน “สงครามฝรั่งเศส-ไทย”
เหตุการณ์ในครั้งนี้ เริ่มต้นจากกระแสชาตินิยมอย่างหนัก จนถึงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2483 คณะนิสิตนักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมทั้งประชาชน ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาล ทวงเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ที่ถูกยึดไปในเหตุการณ์ ร.ศ.112 อาทิเสียมราฐพระตะบองจำปาศักดิ์
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยนั้น ส่งกำลังทหารบุกข้ามพรมแดน เข้าไปยึดดินแดนดังกล่าวคืนทันที ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก เพลงปลุกใจในเวลานั้น ได้ถูกเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลงข้ามโขง เพลงดอกฟ้าจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ เป็นต้น
จุดเริ่มต้นแห่งสงครามอินโดจีน”สงครามฝรั่งเศส-ไทย”หลังจากฝรั่งเศสแพ้ต่อนาซีเยอรมนีปี 2483 พลตรีแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ตัดสินใจว่าความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยได้โอกาสทวงดินแดนที่เคยเสียไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืนมาจากการปกครองอาณานิคมของอินโดจีนฝรั่งเศส ทั้งฝรั่งเศสวีซีถูกตัดขาดความช่วยเหลือ และกำลังบำรุงจากภายนอก หลังจากญี่ปุ่นบุกยึดครองอินโดจีนเมื่อกันยายน 2483 ฝรั่งเศสถูกบีบให้อนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ
รัฐบาล พลตรีแปลก พิบูลสงคราม เชื่อว่าฝรั่งเศสวีซี คงไม่สามารถต้านทานการเผชิญหน้าอย่างจริงจังกับไทยได้ รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ถือเอาแม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดน และให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าฝรั่งเศสไม่สามารถปกป้องดินแดนอาณานิคมได้ ก็ให้คืนดินแดนทั้งลาวและกัมพูชาแก่ประเทศไทย ซึ่งประเทศไทย หรือสยาม เสียให้แก่ฝรั่งเศสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ฝรั่งเศสไม่ยินยอม กับส่งเครื่องบินรบล่วงล้ำอธิปไตยเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เป็นเหตุให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ
ข่าวน่าสนใจ:
กองทัพไทยจึงทำการตอบโต้ โดยส่งกำลังทหาร และยุทโธปกรณ์จากทั้งกองทัพบก และกองทัพอากาศ บุกเข้าไปในอินโดจีนทางลาว และกัมพูชา กองทัพอากาศของประเทศไทย ได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีใส่ฐานที่มั่น ของอินโดจีนฝรั่งเศส ของฝรั่งเศสวีซีไปเรื่อย ๆ ส่วนกองทัพเรือไทย ส่งกองเรือรบออกไปสกัดกั้น กองเรือฝรั่งเศส ที่ล่วงล้ำอ่าวไทยเข้ามา จนเกิดการปะทะกันที่เกาะช้าง เกิดยุทธนาวี ที่กล่าวขานกันจนถึงปัจจุบัน คือ “ยุทธนาวีเกาะช้าง”
สงครามอินโดจีน”สงครามฝรั่งเศส-ไทย”ดำเนินการสู้รบมาจนถึง 28 มกราคม 2484 ทางญี่ปุ่นเกรงว่าการสู้รบครั้งนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อญี่ปุ่นเอง จึงเข้าไกล่เกลี่ยจนทั้งสองฝ่ายจำต้องยินยอม และในที่สุดผลการไกล่เกลี่ย ประเทศไทยได้ดินแดนที่เป็นข้อพิพาทกลับคืนมา
หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน”สงครามฝรั่งเศส-ไทย”โดยญี่ปุ่นเป็นตัวกลางเจรจา ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส และได้ลงนามใน อนุสัญญาสันติภาพ ที่กรุงโตเกียว เมื่อ 9 พฤษภาคม 2484 ทำให้ประเทศไทย ได้ดินแดนพิพาทคืนมาอยู่ในการปกครอง
โดยจัดตั้ง 4 จังหวัดขึ้นใหม่คือ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง จังหวัดพิบูลสงครามและจังหวัดพระตะบอง รวมพื้นที่ดินแดนที่ได้คืนมากว่า 24,000 ตารางกิโลเมตร 4 จังหวัดดังกล่าวประเทศไทยได้ทำการปกครองเรื่อยมา จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองปี 2488 กับจำต้องคืนดินแดนทั้ง 4 จังหวัดเหล่านี้ให้กับฝรั่งเศส หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
การสู้รบสงครามฝรั่งเศส-ไทย ครั้งนี้ถูกเรียกว่า กรณีพิพาทอินโดจีน หรือ สงครามอินโดจีน โดยได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ ดังกล่าวในครั้งนี้คือ อนุสาวรีย์“ชัยสมรภูมิ”นั้นเอง
สำหรับข้อมูลยุทโธปกรณ์และกำลังพลในสมรภูมิการรบในครั้งนั้น ประเทศไทยมีกำลังพล60,000นาย รถถัง134คัน เครื่องบินรบ140ลำ เรือป้องกันชายฝั่ง2ลำ เรือตอร์ปิโด12ลำ เรือดำน้ำ4 ลำ มี พลตรีแปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกหลวงสินธุสงครามชัย เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศโทหลวงอธึกเทวเดช เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ
ฝ่ายฝรั่งเศสมีทหารฝรั่งเศส12,000นาย ทหารจากอาณานิคมต่างๆของฝรั่งเศส38,000นาย รถถังเบา20คัน เครื่องบินรบ100 ลำ เรือลาดตระเวนเบา1ลำ เรือสลุป4ลำ มีพลเอกฌอร์ฌ คาทรู ข้าหลวงอินโดจีนฝรั่งเศสหรือฝรั่งเศสเขตวีซี เป็นผู้บัญชาการรบ
การสูญเสีย ประเทศไทยสูญเสียทหารเสียชีวิต160นาย บาดเจ็บ307นาย ตกเป็นเชลย21นาย เสียอากาศยาน8-13ลำ สูญเสียเรือรบ1ลำ และเสียหายอีก2ลำ ส่วนทางฝรั่งเศสสูญเสียทหารเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ321นาย สูญหาย178นาย ตกเป็นเชลย222นาย เสียอากาศยาน22ลำ
ภาพจาก กรณีพิพาทอินโดจีน ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย หอมรดกไทยกระทรวงกลาโหม 77ข่าวเด็ดน่าน เรียบเรียง ข่าวอื่นๆ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: