จังหวัดน่าน กองทุนเงินออมวันละบาท ของตำบลดู่ใต้มีปัญหาหนัก พบเริ่มมีกลิ่นตุ ตุ ชาวบ้านรวมตัวเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ คณะกรรมการกองทุน ระบุกำนัน ซึ่งเป็นประธานกองทุน ประกาศยกเลิกกองทุน คืนเงินคนละ 75% ชาวบ้านไม่ยอม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพบพิรุธเพียบ เดินสายหอบหลักฐานร้องทั้งศูนย์ดำรงธรรม พมจ. พอช. ตำรวจ อำเภอ ให้เร่งดำเนินการเอาผิด
ข่าววันนี้ น่าน วันที่ 29 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีชาวบ้านตำบลดู่ใต้ โดยเฉพาะชาวบ้านดอนมูล หมู่ 7 ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ได้รวมตัวกันแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน กรณีให้เอาผิดคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดู่ใต้ (กองทุนออมวันละ 1 บาท) ในฐานความผิดหลายข้อกล่าวหา
โดย นายมาโนช พรมรังฤทธิ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนฯ เป็นตัวแทนผู้เสียหาย แจ้งว่า กองทุนดังกล่าว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อส่งเสริมการออม และจัดสวัสดิการเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสมาชิก โดยมีสมาชิกเป็นชาวตำบลดู่ใต้ทั้ง 15 หมู่บ้าน จำนวน 4,707 คน
ต่อมา ได้นายภัทร อินต๊ะไชย กำนันตำบลดู่ใต้ ซึ่งเป็นประธานกองทุนฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 แจ้งยุติการดำเนินงานกองทุนฯ โดยให้เหตุผลว่า มีปัญหาอุปสรรคเรื่องรายรับ รายจ่ายของกองทุน ที่ไม่สมดุลกัน และสมาชิกกองทุนฯ ได้ลาออกกันเกินครึ่งของสมาชิกทั้งหมด
คณะกรรมการจึงมีมติเให้ยุติการดำเนินงานของกองทุนฯ เพื่อไม่ให้กระทบกับกองทุนฯ มากไปกว่านี้ โดยจะจ่ายเริ่มจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
เรื่องดังกล่าว สมาชิกกองทุนฯ ได้ร้องไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองน่าน ให้ระงับการยุติการดำเนินงานของกองทุนฯ โดยนายมาโนช พรมรังฤทธิ์ ตัวแทนกองทุนฯ แจ้งว่า การประกาศยุติดำเนินงาน นั้นเป็นไปโดยมิชอบ มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม
ซึ่งตัวแทนสมาชิกฯ ต้องการทราบถึงเหตุผล หรือสาเหตุของปัญหาอุปสรรคที่แท้จริงในเรื่องรายรับ-รายจ่ายของกองทุน ที่ไม่สมดุลกันนั้น ทราบมาว่า คณะกรรมการกองทุน จะจ่ายเงินคืนแก่สมาชิกเพียง 75% ของเงินที่ฝาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ที่คณะกรรมการได้ชี้แจงให้แต่ละหมู่บ้านทราบว่าจะคืนเงินทุกบาทที่สมาชิกออมไว้ทั้งหมด
กรณีการยุติการดำเนินงานกองทุนฯ ไม่ได้มีการแจ้งให้กับสมาชิกกองทุนฯ ว่าปัจจุบันมีสมาชิกกี่รายที่ลาออก และไม่ประสงค์ลาออกกี่ราย เหตุใดจึงยุติการดำเนินงานของกองทุน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมแก่สมาชิกกองทุนฯ
จึงขอให้ระงับการยุติการดำเนินงานของกองทุนไว้ก่อน และขอให้มีการตรวจสอบบัญชีกองทุนฯ โดยแต่งตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ มาตรวจสอบต่อไป
ต่อมาประธานกองทุน นายภัทร อินต๊ะไชย ก็ได้มีการแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกองทุนฯ แต่ละหมู่บ้าน เป็นคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนฯ หมู่บ้านละ 1 คน รวมเป็น 15 คน เข้าตรวจสอบ บัญชีเงินกองทุนฯ ทั้งระบบ
โดยนายอำเภอเมืองน่าน มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประสานสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน เพื่อดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ โดยสำนักงานจังหวัดน่าน กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดน่าน ก็ได้มีหนังสือย้ำให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตรวจสอบ
โดยคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนฯ ซึ่งมีนายมาโนช พรมรังฤทธิ์ เป็นแกนนำ ได้มีข้อสังเกตในหลายประเด็น ถึงความไม่ชอบมาพากล ที่ส่อไปในทางทุจริต และฝ่าฝืนระเบียบของกองทุน ทั้งด้านระบบโครงสร้างการบริหารงานกองทุน เช่น ระเบียบไม่ระบุปีที่ออกระเบียบ บทนำ หรือความเป็นมา
ด้านการบริหารงานของคณะกรรมการกองทุน มีการฝ่าฝืนระเบียบในหลายข้อ เช่น ประธานกองทุนฯ และผู้ใหญ่บ้าน 14 หมู่บ้านได้ประกาศให้สมาชิกยื่นเอกสารลาออก โดยอ้างว่ากองทุนได้ยุติการดำเนินงานแล้ว โดยให้ตัวแทนกองทุนเข้าพบสมาชิกแต่ละบ้าน เพื่อขอรับเงินออมคืนในอัตราร้อยละ 75 ของเงินออมเท่านั้น
ซึ่งการลาออก ไม่เป็นไปตามระเบียบของกองทุนฯ โดยการลาออก จะต้องได้รับเงินออมคืน ตั้งแต่วันแรกเข้าถึงวันสุดท้ายของการออม
ด้านการเงินบัญชี กองทุนฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐ ปี 2552-2563 มีการเบิกจ่ายเป็นไปตามระเบียบของกองทุนหรือไม่ ความโปร่งใสในการจัดเก็บเงินออม ทั้งแบบรายเดือน และรายปี มีตัวแทนจัดเก็บ แต่ไม่นำเงินเข้าระบบทั้งหมด
โดยจัดเงินส่วนที่เหลือไว้ที่ผู้จัดเก็บเงิน ทำให้กองทุนฯ เสียหายขาดผลตอบแทนจากรายได้ดอกเบี้ย มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้จัดเก็บ 3% ของเงินออม แต่ปี 2556 -ปัจจุบัน จ่ายค่าตอบแทนผู้จัดเก็บเงิน 5% ของเงินออม ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนทางตัวเลขในบัญชี
มีการใช้งบประมาณเบิกจ่ายเงินสวัสดิการไม่เหมาะสม เช่น การจัดเลี้ยงสังสรรค์ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การศึกษาดูงานของกรรมการ ค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งพบว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ
สมาชิกถึงแก่กรรมโดยการฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์การเบิกจ่ายเงิน กลับจ่ายเงินให้ มีการนำชื่อเข้าเบิกจ่ายเงินกรณีการคลอดบุตร ของสมาชิก ทั้งที่ไม่ได้มีการคลอดบุตรแต่อย่างใด เป็นต้น
“เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อความยุติธรรมให้แก่สมาชิกผู้ออมเงิน โดยเรื่องนี้ยังมีสมาชิกอีกหลายหมู่บ้าน ที่กำลังรวบรวมหลักฐาน เอกสาร เพื่อเข้าแจ้งความ หลายคนรอดูสถานการณ์ โดยคาดหวังว่าจะได้รับเงินคืน ซึ่งหากว่าไม่มีความชัดเจนหรือ ล่าช้าไป คาดว่าจะมีสมาชิกกว่า 4 พันคนทยอยเข้าแจ้งความต่อไป” นายมาโนช กล่าวในท้ายสุด
ด้าน พ.ต.ท.วิฑูร ชัยวุฒิ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน หลังจากได้รับเรื่องแล้ว แจ้งว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อหาคนกลาง อาจจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง ให้มีการเจรจาระหว่างผู้เสียหาย กับ คณะกรรมการกองทุน เพื่อหาทางออกร่วมกันก่อน ถ้าเจรจาไม่เป็นผลก็ต้องดำเนินคดีกันตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นายภัทร อินต๊ะไชย กำนันตำบลดู่ใต้ ประธานกองทุนฯ และนายเอนก สิทธิ เลขากองทุน ได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงเนื่องจากมีสมาชิกลาออกมาก เงินไม่พอจัดสวัสดิการให้สมาชิก จึงขอยกเลิกกองทุนและคืนเงินให้สมาชิก คนละ 75% ของเงินออม
โดยให้เหตุผลว่า หากปล่อยช้าไปเกรงว่าจะไม่มีเงินคืนให้สมาชิก ขณะที่อดีตกำนัน มาโนช พรมรังฤทธิ์ และอาจารย์สนิท ไชยคำ ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกองทุน ยื่นเรื่องราวขอตรวจสอบการทำงานและสถานะการเงินของกองทุน
หวั่นคณะกรรมการได้ปฏิบัติงานไม่โปร่งใส ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ข้อบังคับกฎระเบียบของกองทุน ขอให้จังหวัดตรวจสอบ และเปิดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อชี้แจงสมาชิกทราบ และลงมติว่าจะดำเนินงานกองทุนต่อไปหรือไม่ โดยในวันนั้น มีคณะกรรมการจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม น่าน) ร่วมกับตัวแทนจาก องค์กรพัฒนาเอกชน (พอช.) ภาคเหนือเชียงใหม่ เข้ามารับเอกสารไว้ดำเนินการตรวจสอบ ต่อไป
77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: