จังหวัดน่าน ชูความคิดทำวัดภูมินทร์ ต้นแบบเมืองอารยสถาปัตย์ ทำลิฟต์ขึ้นชมภาพปู่ม่านย่าม่าน “อพท.6” โปกธงผนึกกำลังยกระดับเมืองเก่าน่าน ตั้งเป้าเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล หวังดึงนักท่องเที่ยวคาดรายได้สะพัด
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุม Convention Hall โรงแรมดิเอ็มเพรส ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน จัดการแถลงข่าวและจัดเสวนาโดยคณาจารย์จากมหาลัยพะเยา ในหัวข้อ “การศึกษาและออกแบบพื้นที่การสร้างสรรค์ผลงานในแหล่งท่องเที่ยวและเมืองศิลปะเชิงสร้างสรรค์เพื่อรองรับ “CBT Aging Friend” และพัฒนาชุมชนพื้นที่ต้นแบบ เมืองอัจริยะ (Smart City) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว
งานนี้ จัดขึ้นโดย อพท.6 หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 น่าน ร่วมกับจังหวัดน่าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และเครือข่ายมนุษย์ล้อฑูตอารยสถาปัตย์ ภายในงานมีการจัดแถลงข่าวการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และอาคารโบราณสถาน วัดวาอาราม ชุมชน เชื่อมโยงพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล คือ ตำบลในเวียง ตำบลม่วงติ๊ด ตำบลดู่ใต้ ตำบลบ่อสวก และตำบลนาชาว อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
โดยการแถลงข่าวในครั้งนี้ เป็นการเปิดตัวโครงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เพื่อคนทั้งมวลในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล(Tourism for All) โดยการณรงค์และขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ
รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้เห็นถึงความสำคัญของการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) หรือการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล เช่น ทางลาดมาตรฐาน ที่จอดรถ และห้องสุขาสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ฯลฯ ทั้งในแหล่งท่องเที่ยว และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร และรถรับส่งนักท่องเที่ยว ที่ต้องมีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก สามารถรองรับการใช้บริการของนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย ให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย ไร้อุปสรรคในการเข้าถึงของคนทั้งมวล
โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดน่าน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องภาคเอกชน เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ อาทิ อพท.6 ททท.น่าน และสื่อมวลชนจากส่วนกลาง เข้าร่วมกว่า 300 คน
ทั้งนี้ ในการพัฒนาเมืองเก่าน่านเป็นเมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์ ชูความคิดรองรับแผนการท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวลเมืองศิลปะเชิงสร้างสรรค์ และเมืองอัจริยะ มีการจัดหาวิธีสร้างทางหรือลิฟต์โดยสารให้กลุ่มพิเศษ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ฯลฯ อำนวยความสะดวกนำรถเข็นขึ้นไปบนวิหารวัดภูมินทร์ รองรับการใช้บริการของนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย ให้ได้รับความสะดวก ชมภาพจิตกรรมฝาผนัง กระซิบรักบันลือโลก ได้อย่างปลอดภัย ไร้อุปสรรคในการเข้าถึงของคนทั้งมวล
จากการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่ามีงบประมาณสามารถดำเนินการได้ทันที จากการตรวจสอบโครงการพัฒนา ตามแผนพัฒนาจังหวัดน่าน รอบปีงบประมาณ 2564 จำนวนเงินงบประมาณรวม 1,253,279,353 บาท (หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบสามล้านสองแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันสามร้อยห้าสิบสามบาท) ตามแผนพัฒนาจังหวัดน่าน 5 ปี (2561-2565) จำนวนเงินงบประมาณรวม 2,538,678,323 บาท (สองพันห้าร้อยสามสิบแปดล้านหกแสนเจ็ดหมื่นแปดพันสามร้อยยี่สิบสามบาท)
ไม่พบโครงการที่ระบุชัดเจนว่าสำหรับสร้างลิฟต์ขึ้นวิหารวัดภูมินทร์ แต่มีงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 เกี่ยวกับการพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองอัจริยะ และไม่ระบุหน่วยงานที่ดำเนินการ คือ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 โครงการที่ 61 โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวมุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์ งบประมาณ 17,000,000 บาท (สิบเจ็ดล้านบาท) โครงการที่ 62 โครงการพัฒนาอัตลักษณ์น่าน มุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์ งบประมาณ 7,000,000 บาท (เจ็ดล้านบาท)
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 โครงการที่ 45 โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ คน ชุมชนและสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองอัจริยะ งบประมาณ 6,700,000 บาท (หกล้านเจ็ดแสนบาท) โครงการที่ 46 โครงการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองอัจริยะ งบประมาณ 6,041,000 บาท (หกล้านสี่หมื่นหนึ่งพันบาท)
และโครงการที่ 46 โครงการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองอัจริยะ งบประมาณ 18,532,000 บาท (สิบแปดล้านห้าแสนสามหมื่นสองพันบาท) รวม 5 โครงการ งบประมาณ 72,973,000 บาท (เจ็ดสิบสองล้านเก้าแสนเจ็ดหมื่นสามพันบาท)
จากข้อมูลของกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่าวัดภูมินทร์ จ.น่าน นับว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เข้ามาสักการะพระประธานภายในพระอุโบสถ
นอกจากนี้ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง คันธกุมาร เป็นนิทานชาดก ที่มุ่งสอนให้คนทำความดี ซึ่งเป็นงานศิลปะ ที่มีความวิจิตรตามแบบฉบับของชาวไทลื้อดั้งเดิม ตลอดจนมีภาพกระซิบรักบันลือโลก หรือภาพปู่ม่าน ย่าม่านที่มีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก
ทั้งนี้ จากการที่กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม ได้สำรวจจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดภูมินทร์อย่างละเอียด พบสภาพจิตรกรรมฝาผนังมีชำรุดเสียหาย โดยในส่วนจมูกของปู่ม่าน มีชั้นดินสอพอง และชั้นสีหลุดร่อนออกมา รวมทั้งมีรายละเอียดที่ชั้นปูนฉาบที่เสื่อมสภาพมีลักษณะเป็นโพรงผนังความสูงจากระดับพื้นอุโบสถจนถึงขอบประตูด้านบน ประมาณ 3 เมตร
และโดยรอบอาคารภายในอุโบสถ พบรอยร้าวบริเวณกรอบหน้าต่าง ตลอดจนรอยร้าวอันตรายในบางบริเวณ ส่วนผิวจิตรกรรมคราบฝุ่นละอองจับหนา รวมถึงมีหยากไย่ และคราบทางเดินแมลงขณะที่ชั้นรองพื้นดินสอพอง และชั้นสีจิตรกรรมเผยอโป่งพอง มีรอยถลอก รอยขูดขีด รอยดินสอเขียนสีซีดจาง สีลบเลือน สีหลุดล่อน คราบสีหยด สภาพความชำรุดดังกล่าวอยู่ระดับ พื้นถึงกรอบประตูด้านบน ประมาณ 3 เมตร
มีคราบความชื้นที่ผนังโดยรอบอาคารภายในพระอุโบสถอย่างเห็นได้ชัด จึงเห็นควรให้มีการบูรณะโดยด่วน และได้ตั้งโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมอุโบสถวัดภูมินทร์ โดยใช้งบประมาณปี 64 จำนวน 1,440,000 บาท มอบให้กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ร่วมรับผิดชอบ ซึ่งใช้เวลาดำเนินงาน 240 วัน
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลล่าสุดในช่วงวิกฤตการโควิด-19 ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ ระงับและขอคืนงบประมาณในการบูรณะซ่อมแซม เพื่อนำงบประมาณไปใช้ในการป้องกันการแพร่ระบายของโรคโควิด-19 จึงยังไม่ได้กำหนดว่าจะดำเนินการเมื่อใด
และจะต้องปิดอุโบสถไม่ให้เข้าชมหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะในอุโบสถแห่งนี้ เป็นไฮไลท์ของเมืองน่านที่นักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะไม่ขาดสาย ซึ่งอาจจะปิดซ่อมเฉพาะบางส่วน แล้วเปิดให้เข้าชมในจุดที่กำหนดไว้ก็ได้ แต่ต้องรออนุมัติงบประมาณมาใหม่ก่อน เกรงว่าสภาพโครงสร้างจะไหวหรือไม่กับการสร้างลิฟต์และการที่จะนำไปสร้างฝั่งด้านฝั่งประตูที่ด้านข้างที่ปิดประตูไว้ ที่พากันคิดเองว่าไม่ได้ใช้งาน คือการป้องกันอากาศชื้น ร้อน ฝุ่น ลม เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายแก่ภาพและโครงสร้าง ไหนจะแรงสั่นสะเทือนอีก
อย่าบอกว่าข้อมูลความเสี่ยงของอาคารโบราณสถานอุโบสถทรงจตุรมุขอาคารแรกของประเทศไทยมีความเปราะบางที่อาจจะพังถล่มลงมาได้ เพราะตัวผู้สื่อข่าวเองก็เข้าฟังข้อมูลและเข้าสังเกตุการณ์หลายครั้ง ที่ทุกวันนี้ก็เสี่ยงจนไม่รู้ว่าจะถล่มลงมาวันไหน เพราะสาเหตุทางหน่วยงานเขาก็แจ้งให้ทราบแล้วว่าเกิดจากแรงสั่นสะเทือน
ทั้งการปล่อยให้รถบรรทุก รถบัสโดยสารขนาดใหญ่เข้ามาในเขตอนุรักษ์เมืองเก่า เพราะรถมีน้ำหนักเกิดการสะเทือน ไหนจะจัดอีเว้นท์จัดกิจกรรมต่างๆ จาการใช้เครื่องขยายเสียงที่ดัง คลื่นเสียงก็ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน ไหนจะฝุ่นควันจากการประกอบอาหาร หน่วยงานอนุรักษ์ ก็ไม่รู้ว่าอนุรักษ์ เงียบไร้ตัวตน
นอกจากถนนแดงที่ไม่รู้ว่าแก้ไขยังไง บทสรุปเป็นยังไง ที่เป็นอนุสรณ์ไร้การรับผิดชอบแล้ว มาลิฟต์อีกแล้ว ไม่ได้ห้ามหรือขัดขวางหากโครงสร้างอาคารแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่การรับรู้และอธิบายตามความเป็นจริงให้ตื่นตัวไม่ตื่นตูมจะได้ช่วยกันระวัง ยังดีกว่าปล่อยให้ผู้คนคิดว่าเมืองน่านเป็นทุ่งลาเวนเดอร์
77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน
ที่มา Friendly Design
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: