X

บพท.ลงพื้นที่จังหวัดน่านนำร่องแก้จน

น่าน – หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่จังหวัดน่าน นำร่องแก้จนใน 5 อำเภอ ด้วยโครงการพัฒนาระบบผสมเทียมวัวเนื้อ และการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประสานพลังวิชาการ 18 มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย เดินหน้าพลิกฟื้นชีวิตคนจนกว่า 670,000 คน นำร่อง 20 จังหวัด  โดยจังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งจังหวัดนำร่องแก้จน ซึ่ง บพท.ได้จับมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตจังหวัดน่าน ในการลงพื้นที่แก้จน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอภูเพียง บ้านหลวง เชียงกลาง เวียงสา และอำเภอเมืองน่าน เพื่อติดตามความคืบหน้า

จากนั้น คณะทำงานได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้า ที่ห้องประชุม 103 อาคารวิชาคาม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตน่าน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564  โดย ผศ.ดร.นสพ.วินัย แก้วลมุน อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตจังหวัดน่าน สรุปว่า ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บพท. ให้มาทำงานวิจัย 2 โครงการ ดังนี้

โครงการแรก คือ โครงการพัฒนาระบบผสมเทียมวัวเนื้อ สำหรับเกษตรกรรายย่อย เดิมเกษตรกรใน จ.น่าน เลี้ยงโคเนื้อกันมานานแล้ว แต่ยังมีปัญหาติดขัดหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เช่น เรื่องระบบผสมเทียม ซึ่งมีบุคลากรเพียง 2 คน ที่สามารถผสมได้ ไม่พอที่จะให้บริการครอบคลุมทั้งจังหวัด หรือตัวเกษตรกรเองก็ขาดความรู้ความเข้าใจในบางส่วน ที่ทำให้การพัฒนาเดินหน้าต่อไม่ได้ จึงร่วมมือกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเกษตรกร พัฒนาการผสมเทียมให้สามารถผสมเทียมได้  โดยร่วมทำงานกับหลายหน่วยงานทุกภาคส่วน

ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. จังหวัดน่าน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตน่าน และหน่วยงานอื่น ๆ ทำให้เกิดพลังความร่วมมือและต่อยอด จึงทำให้สามารถสร้างนักผสมเทียมจาก 2 คนเป็น 16 คน กระจายทุกพื้นที่ รวมกลุ่มกันเป็นกองทุนผสมเทียม ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน วางแผนการจัดการร่วมกัน

ส่งผลให้อัตราการผสมเทียมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นำไปสู่การสร้างโคเนื้อคุณภาพและขายได้ราคาดี เศรษฐกิจก็ดีขึ้น เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้นในการผสมเทียม ทำให้การบริหารจัดการการพัฒนาการเลี้ยงโคโดยภาพรวม เกิดกลไกของการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัด จนสามารถบรรจุในแผนการพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาท้องถิ่นเกิดเป็นความเร็วของการขับเคลื่อนสามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้

โครงการที่สอง คือ โครงการพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อยสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คือ แพะและแกะ โดยแกะเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรขาดความรู้ และภาครัฐเองก็มีความรู้ไม่พอ ในการที่จะพัฒนาการเลี้ยง ทำให้ล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ จึงร่วมทำงานกับ สำนักงานปศุสัตว์และกลไกอื่น ในการเร่งพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ทักษะในการเลี้ยงแพะ แกะ ทั้งเรื่องอาหารเรื่องการบริหารจัดการหนี้ เกษตรกรที่มาร่วมก็เก่งขึ้น เรียกว่า ‘นวัตกรชุมชน’ คือ คิดได้ วิเคราะห์ได้ เก็บข้อมูลเป็น แก้ปัญหาได้ รู้ว่าต้องไปทำ ไปหาข้อมูลที่ไหน

ทั้งนี้ ได้จัดพื้นที่เรียนรู้ โดยการเข้าร่วมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและแกะ จังหวัดน่าน จะมีประชุมกันทุกเดือน มีการหาตลาด มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ การพบปะกันทั้งทางออนไลน์และออนไซต์ ทำให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ พอคนอื่นเห็นว่าเกษตรกรจุฬาฯ และหน่วยงานทำงานจริง ก็ทำให้เกษตรกรรายอื่นที่สนใจ เกิดความมั่นใจและเข้ามาร่วมเลี้ยงด้วย ส่งผลให้เกิดภาพรวมที่มีการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เกิดกลไกความร่วมมือการพัฒนาเชิงพื้นที่ขึ้น ภาครัฐเองก็เริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานว่า หากมาร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อน จะทำให้ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประชาชน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน