สาธารณสุขอำเภอเมืองน่าน เตือนประชาชนที่เก็บหรือซื้อเห็ดป่ามาปรุงอาหารรับประทาน ให้ระมัดระวังโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนของทุกปี โดยปี 2562 พบผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 141 ราย เสียชีวิต 5 ราย แนะหากไม่แน่ใจหรือสงสัยเป็นเห็ดพิษ หรือไม่รู้จักว่าเป็นเห็ดชนิดใดไม่ควรนำมาปรุงอาหารรับประทาน ที่สำคัญห้ามรับประทานเห็ดร่วมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
วันนี้ (๘ มิถุนายน 2562) นายนิยม ศิริ สาธารณสุขอำเภอเมืองน่าน กล่าวในที่ประชุมพัฒนาแกนนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีในแปลงเกษตร หอประชุมหมู่บ้านตำบลไชยสถานว่า นอกจากสารเคมีที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพแล้ว ช่วงฤดูฝนจะมีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนมักเก็บมาขายหรือนำมาปรุงอาหาร
ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษจากข่าวตามสื่อต่างเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค 1 มกราคม ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม มีผู้ป่วยแล้ว 141 ราย พบอายุ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุด ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตแล้วถึง 5 ราย (ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ 5 เหตุการณ์ จากจังหวัดศรีสะเกษ ตาก อำนาจเจริญ เชียงใหม่ และ เลย)
นายนิยม กล่าวต่อไปว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถรับประทานได้ แต่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า และยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า
ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารพิษที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ จึงไม่ควรใช้วิธีการเหล่านี้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด
อาการหลังรับประทานเห็ดพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน การช่วยเหลือในเบื้องต้นคือกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน ที่สำคัญต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที หรือสายด่วน ๑๖๖๙ ตลอด ๒๔ ชม. และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (ถ้ามี) และควรให้ผู้ป่วยอยู่ในความดูแลของสถานพยาบาล จนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณะสุขอำเภอเมือง ขอเตือนประชาชนว่าหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงห้ามการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มแอลกอฮอล์ เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: