เล่าขาน ประวัติศาสตร์ หอจดหมายเหตุเมืองน่าน ตอนที่ 1 เชื้อสายชาติพันธุ์ของคนเมืองน่าน
คนเมืองน่านในอดีตสืบเชื้อสายมาจาก “ชาวกาว” ไม่ใช่ ไทยยวน ไทยลื้อสิบสองปันนาหรือไทยเขิน ไทยใหญ่ หรือพวกลั๊วะ และขมุ ตามหลายท่านตีความและเข้าใจเองแต่อย่างใด
วันนี้ เล่าขานตำนานเมืองน่าน “ชาวกาว” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกล่าวถึง และมีหลักฐานปรากฏทั้งศิลาจาลึกและพงศาวดารจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย โดยเป็นคำที่ใช้เรียก “เผ่าไท” ที่อยู่ในเมืองแพร่ และเมืองน่าน
จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย มีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หากแต่ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าเป็นคนกลุ่มใด จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเริ่มปรากฏในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ภายหลังจากการสถาปนาอำนาจของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในบริเวณที่ราบลุ่มแม่นำกกสืบเนื่องไปจนถึงแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน หากจะสืบย้อนไปเก่ากว่านั้นจะเป็นการตีความจากตำนานร่วมกับการตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี จากแนวคิดและหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ชี้ให้เห็นพัฒนาการของการเคลื่อนย้ายประชากร การตั้งถิ่นฐาน การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชน และความเคลื่อนไหวของชนชาติและชนเผ่าในหลายระดับ นครรัฐน่านมีหลักฐานจารึกปรากฏอยู่เป็นลายลักษณ์อักษรในศิลาจารึก “ปู่หลานสบถกัน พ.ศ 1935” เรียกบรรพบุรุษของกษัตริย์แพร่และน่านว่า “ค้ำพงศ์กาว”
เมืองแพร่และน่านถูกผนวกรวมเข้ากับสุโขทัยในสมัยพญาลิไทและเคยยกทัพมาช่วยสุโขทัยรบกับอยุธยา เมื่อ พ.ศ.1919 เจ้าเมืองน่าน มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกษัตริย์สุโขทัย ดังปรากฏใน พงศวดารน่านว่า “เมื่อเกิดปัญหาแย่งชิงอำนาจภายในเมือง ฝ่ายแพ้จะหนีมาพึ่งพระยาเชลียง เจ้าเมืองสุโขทัย เมื่อเจ้าศรีจันทะ ถูกพระยาเมืองแพร่ฆ่าตายเมื่อ พ.ศ.1939 เจ้าหุงผู้เป็นอนุชามาขอกองทัพพระยาเชลียงไปยึดเมืองคืนได้ใน พ.ศ.1941 ต่อมาใน พ.ศ.1945 เจ้าอินต๊ะแก่น ถูกน้องชายชิงเมือง ก็หนีไปพึงเจ้าเมืองสุโขทัยยกกำลังทหารมายึดเมืองคืน จนกระทั่งพ.ศ.1991 พระเจ้าติโลกราชยึดเมืองน่านได้ รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา คำว่า “กาว” จึงหายไป จากเมืองน่าน
นอกจากจะมีชาวกาวในจังหวัดแพร่และน่านแล้วอาจจะมีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศลาวด้วย เพราะเมืองน่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลวงพระบางมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าฟ้างุ้ม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยมีหัวเมืองลาวกาว ประกอบด้วยเมืองสำคัญ 7 เมืองคือ อุบลราชธานี นครจำปาศักดิ์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์
เมื่อเปลี่ยนการปกครองหัวเมืองเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาล หัวเมืองลาวกาวจึงเป็นมณฑลลาวกาว ซึ่งตั้งกองบัญชาการมณฑล ณ เมืองอุบลราชธานี โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวคนแรก และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ.2442 และเป็นมณฑลอีสานเมื่อ พ.ศ.2443
อำนาจของอาณาจักรล้านนาได้เข้มแข็งขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชของเชียงใหม่ พระองค์ทำสงครามรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ให้เป็นผืนแผ่นดินเดียวกับล้านนา ทำให้น่าน เริ่มหวั่นไหวต่อการที่ต้องทำสงครามกับเชียงใหม่ พญาอินต๊ะแก่นท้าว คิดผูกไมตรีกับเชียงใหม่ โดยส่ง “เกลือ” ที่มีและพบในภูเขา บริเวณอำเภอบ่อเกลือปัจจุบัน ที่หายากและเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปให้แก่เชียงใหม่ เหตุการณ์กับตาลปัด เพราะ “เกลือ” นี้เองที่ทำให้เชียงใหม่ต้องการมีอำนาจเหนือเมืองน่านและครอบครองบ่อเกลือแต่ผู้เดียว เลยยกทัพมายึดเมืองน่าน พญาอินต๊ะแก่นท้าว หนีไปเชลียง นี่คือ จุดสิ้นสุดราชวงศ์ภูคา อันเป็นเชื้อสายดั้งเดิมของคนเมืองน่าน คือ ชาติพันธุ์ “ชาวกาว” ต่อมา พระเจ้าติโลกราชได้ส่งท้าวขาก่านมาปกครองเมืองน่าน ณ จุดนี้เอง ชาวยวนล้านนา ได้เริ่มเข้ามาในเมืองน่านแล้ว ก็ย่อมมีการผสมชาติพันธุ์ปนเปกันไปกับชนชาติกาวเชื้อสายดั้งเดิม ภายใต้การปกครองของล้านนา 80 กว่าปี เมืองน่านได้ซึมซับเอาวิถี และวัฒนธรรมล้านนามาทีละน้อย ทั้งวัฒนธรรมในเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน ภาษาพูด และภาษาเขียนก็รับมาหมด พูดง่ายๆ คือด้ำพงศ์กาว น่าจะหมดไปตั้งแต่ล้านนายึดครองเมืองน่านแล้วครับ แม้แต่เจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าหลวงเมืองน่านพระองค์แรก ต้นตระกูล ณ น่าน หรือ มหาวงศนันท์ ที่มาปกครองเมืองน่านในยุคพม่าเรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ก็ยังเป็นเจ้าหลวงจากเชียงใหม่ ซึ่งก็เป็นคนยวนล้านนาทั้งนั้น ไหนจะชาวยวนเชียงแสน ไทลื้อเชียงตุง เชียงรุ่ง สิบสองปันนา ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในเมืองน่านอีกมากมา (เรียกยุคนี้ว่า เก็บผักใส่ซร้า เก็บข้าใส่เมือง) นอกจากนี้ยังมีการโยกย้ายชาวเมืองน่านไปเชียงแสน หรือต้อนคนน่านไปสร้างเมืองเชียงของอีกมากมาย มีการโยกย้ายถ่ายเทมาโดยตลอด มาถึงยุคนี้ น่านน่าจะมีประชากรชาวยวนล้านนา และขาวไทลื้อเป็นกลุ่มหลักๆแล้ว มีความก้ำกึ่งเป็นวัฒนธรรมไทลื้อ+ล้านนา เกิดขึ้น (ไม่นับรวมชนเผ่าดั้งเดิม ลัวะ ขมุ ถิ่น และเผ่าอื่นๆ ที่มีมาทีหลัง)
คนเมืองน่านดั้งเดิม หรือ ชาวกาวดั้งเดิม แทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในเมืองน่าน เพราะน่านในสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ผู้คนหนีภัยสงครามจากพม่า กระจัดกระจายไปอยู่ตามป่าเขา ปล่อยให้เมืองน่านรกร้างว่างเปล่า น่านกลับฟื้น ตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และเจริญเรืองรุ่งในสมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ซึ่งตรงกับ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระองค์ก็มีพระบัญชาให้เจ้าเมืองน่านกวาดต้อนผู้คนจากเชียงแสน เชียงรุ้ง เชียงตุงให้มาเป็นข้าเมือง
ตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ในโล่ห์ จะมีรูป ช้างสามเศียร หมายถึงสยาม ช้างเผือกหันข้าง คือ ลาว และกริชไขว้นั้น คือ มลายู ทำให้เรารู้ว่า ส่วนที่มีความสำคัญในการปกครองยุคนั้นได้แก่ ประเทศใหญ่ 3 ส่วนคือ สยาม ลาวและมลายูไม่ได้รวมล้านนาและหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือคือ แพร่และน่านเข้าไปด้วย
เมืองน่าน ในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้จะอยู่ในฐานะประเทศราช แต่ก็มีสิทธิ์ปกครองตนเอง มีกฏหมายใช้เองที่เรียกว่า “อาณาจักรหลักคำ” เก็บภาษีเอง แต่ในด้านการต่างประเทศและทหาร ต้องฟังสยาม รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งต้้งกษัตริย์ครองเมืองน่านเอง เรียกว่า “พระเจ้าน่าน” ถือเป็กษัตริย์พระองค์เดียวในดินแดนล้านนาที่ล้วนโดยถูกผนวกรวมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ โดยเมืองแพร่ได้เกิดกบฏเงี้ยวสังหาญข้าราชการที่ถูกส่งมาจากสยาม ถึงขั้นถอดถอนสถานะของเจ้าเมืองแพร่ไปในที่สุด
พระเจ้าน่าน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์หนึ่ง (ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชนั้น มีอำนาจเต็ม เมื่อปลายรัชกาลก่อนเจ้ามหาพรหมสุรธาดาขึ้นเป็นกษัตริย์จึงส่งเจ้านายจากสยามมาดูแลเรียกว่า ข้าหลวง) สาเหตุที่ส่งข้าหลวงมาเมืองน่าน เพราะฝรั่งเศสเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามายังบริเวณที่เรียกว่า ฝั่งขวาแม่น้ำโขง หลังจากที่ยึดครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้หมดแล้ว น่าน มีอาณาเขตติดหลวงพระบาง จึงอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยที่ฝรั่งเศสจะยึดครองเพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดน อินโดจีนของฝรั่งเศส ท่านข้าหลวงที่สยามส่งมาให้คำปรึกษาข้อราชการกับพระเจ้าน่านคือ พระพรหมสุรินทร์ ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น พระยามหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์)
พระยามหิบาลบริรักษ์ ท่านนี้ ต่อมาได้ทูลขอ เจ้าศรีพรหมมาไปเป็นลูกเลี้ยงและส่งไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เจ้าศรีพรหมมาเป็นกุลสตรีที่มีความสวย ใจกล้า และมีเสียงนินทาว่า รัชกาลที่ 5 โปรดมากจนทูลขอเอามาเป็นข้าบาทจาริกา แต่เจ้าศรีพรหมมาปฏิเสธโดยยกเหตุผลว่า “ทรงรักรัชกาลที่ 5 เยี่ยงกษัตริย์มากกว่าฐานะอื่น เมื่อสิ้นรัชกาลเจ้ามหาพรหมสุรธาดา พระเจ้าน่าน องค์สุดท้ายในปี พ.ศ.2461 สยามจึงไม่สถาปนาพระเจ้าน่านขึ้นมาอีกเลย แต่สยามกลับส่งข้าราชการ จากส่วนกลางมาเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นครูสอนภาษาไทย นายอำเภอ และ ข้าหลวงมาปกครอง จนกระทั่งในสมัย รัชกาลที่ 6 เมืองน่าน ได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามและเปลี่ยนชื่อจากสยาม มาเป็นประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน หวนนึกถึงความดีใจที่มี หอจดหมายเหตุเมืองน่าน ไว้เล่าขานตำนานเมืองน่าน คงเป็นแหล่งที่ใช้ในการต่อยอดความรู้ เกี่ยวกับเมืองน่านแก่ท่านที่สนใจ เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับน่านมากขึ้น คนเมืองน่านเป็นพวกเชื้อสาย “กาว” เผ่าพันธุ์เก่าแก่ยุคเดียวกับสุโขทัย มีความยิ่งใหญ่ก่อนพวกหิรัญนครเงินยาง(ไทยยวนหรือโยนก)ของล้านนา ภูมิใจกันเถิด ที่เกิดมาเป็นลูกหลานเมืองน่าน
บทความโดย ยงยุทธ สุขสันต์ศิริกุล
เรียบเรียงโดย ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: