X

ราคามะพร้าวพุ่งทะลุลูกละ 20-23 บาท นำเข้าไม่กระทบ เสียดายรัฐขาดการประชาสัมพันธ์ ;นายหัวไทร

ราคามะพร้าวพุ่งทะลุลูกละ 20-23 บาท นำเข้าไม่กระทบ เสียดายรัฐขาดการประชาสัมพันธ์ ;นายหัวไทร

ได้รับโทรศัพท์หลายสาย ไลน์จากหลายคน รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจของคณะกรรมพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายจุรินทรงลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกนะทรวงพาณิชย์เป็นประธานอนุมัติให้มีการนำเข้ามะพร้าว ในเดือนธันวาคม 3.2 หมื่นตัน ภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรีอาเซี่ยน​ (AFTA)โดยหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อราครมะพร้าวในประเทศ ทำให้ราคาผลมะพร้าวตกต่ำ เพราะก่อนหน้านี้ราคาตกอยู่แล้ว เพิ่งปรับตัวขึ้นมาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นมะพร้าวกองเต็มโคนต้น เพราะราคาถูกไม่ใครเก็บไปขาย

ชสงสวนมะพร้าวคร่ำครวญว่า พอมะพร้าวดีดตัวราคาดีขึ้นรัฐบาลแทนที่จะช่วยประคองราคาไว้ กลับอนุญาตให้15 บริษัทนำเข้ามะพร้าว เป็นการเอื้อต่อพ่อค้านายทุน แต่การกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะราคามะพร้าวกลับพุ่งขึ้นจากเดิมเท่าตัว โดยมะพร้าวลูกใหญ่ใน อ.ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ ตกลูกละ 20-23 บาทแล้ว ส่วนลูกขนาดกลางตกลูกละ 12-15 บาท เป็นเรื่องผิดคาด

ซึ่งที่เป็นเช่นนั้น น่าจะเกิดจากการผลิตมะพร้าวบ้านเรายังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ เรายังมีการแปรรูปเป็นกะทิเพื่อส่งออกด้วย มีการสั่งนำเข้ามาตลอด และมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ประกอบกับการอนุญาตให้นำเข้าครั้งนี้มีการคุมเข้ม ห้ามนำไปกระแทะเปลือกนอกโรงงาน ห้ามนำมาขายในตลาดทั่วไป ให้รายงานสมดุลของตลาดตลอดเวลา การนำเข้ามะพร้าวให้ใข้เพื่อการแปรรูปส่งออกเท่านั้น และอนุญาตให้นำเข้าผ่านสองท่าเรือเท่านั้น จากเดิมผ่านได้ทุกท่าเรือ จึงควบคุมได้รัดกุมกว่า

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้ามะพร้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยมีกำหนดตรวจสอบภายในสิ้นปีนี้จำนวน 11 ราย และได้เริ่มตรวจสอบไปแล้ว 7 บริษัท ในจังหวัดราชบุรี กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี และมีกำหนดจะตรวจสอบอีก 4 บริษัทในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ภายในเดือน ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบพบว่า โรงงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กรุงเทพฯ และปทุมธานี มี 2 ใน 4 บริษัท มีโรงงานพร้อมเครื่องจักรผลิตกะทิ และมะพร้าวเกร็ดอบแห้ง ตามลำดับ แต่ในช่วงนี้ยังไม่มีการผลิต เนื่องจากรอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนโรงงานย่านจอมทองแจ้งว่าได้เลิกกิจการไปแล้ว ขณะที่โรงงานแถวคลอง 11 ได้ย้ายเครื่องจักรไปผลิตในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งกรมฯ จะประสานกรมโรงงานให้ช่วยตรวจสอบสถานะใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) อีกครั้งว่าได้ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่
การดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่ขออนุญาตนำเข้ามะพร้าวภายใต้ AFTA เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทที่ขอนำเข้ามะพร้าว โดยให้ไปดูว่ามีการนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเข้ามา แล้วส่งไปขายต่อหรือเอาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ตรงตามที่ได้ขออนุญาตนำเข้า เพราะจะกระทบต่อราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ บอกว่าก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ามะพร้าว แจ้งข้อมูลปริมาณการใช้มะพร้าวผล การกะเทาะเปลือก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเองประกอบการพิจารณาลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยมีผู้ประกอบการ 9 ราย ไม่แจ้งข้อมูล และ 2 ราย แจ้งข้อมูลไม่ครบถ้วน จากทั้งหมด 32 ราย และกรมฯ ได้นำร่องตรวจสอบผู้ประกอบการในส่วนที่ไม่แจ้งข้อมูลและแจ้งข้อมูลไม่ครบก่อน

นายสายชล จ้อยร่อย เจ้าของโรงงานทำมะพร้าวขาวใหญ่ที่สุดในประเทศ บริษัทนิลทองแท้โคโคนัท จำกัด ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานประสบปัญหาวัตถุดิบมะพร้าวผลขาดแคลนอย่างหนัก ทำให้มีราคาสูงถึงผลละ 19-20 บาท ขณะที่มะพร้าวขาวรับซื้อหน้าโรงงาน กก. ละ 33 บาท จากเดิมเคยผลิตมะพร้าวขาวส่งโรงงานผลิตกะทิส่งออกวันละ 60 ตันปัจจุบันเหลือเพียง 7 ตันและมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากใน จ.ประจวบฯ นครศรีธรรมราช ชุมพรและสุราษฎร์ธานี ไม่มีผลผลิตเพียงพอส่งโรงงาน ประกอบกับ”ล้ง” ในพื้นที่ต้องการแย่งซื้อหน้าสวนเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดมะพร้าวขูดสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มะพร้าวในประเทศจะมีผลผลิตเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้ปัจจุบันมีผลผลกระทบกับการจ้างแรงงานที่เกี่ยวข้องขาดรายได้จากวงจรการผลิตมะพร้าวขาวในหลายจังหวัด ส่วนการส่งออกของโรงงานกะทิก็มีปัญหาพอสมควร

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ผลการทำงานกว่า 3 เดือนของอนุ กมธ.ถือว่าน่าพอใจโดยขอความร่วมมือในการควบคุมปริมาณการนำเข้าให้สอดคล้องกับผลผลิตและความต้องการใช้ในประเทศ การตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าและการขนย้ายมะพร้าวนำเข้าให้ใช้เพื่อการแปรรูป พร้อมกำชับทุกหน่วยงานให้ทำข้อมูลตัวเลขการผลิตให้สอดคล้องตรงกันทั้งการนำเข้าวัตถุดิบหรือตัวเลขการส่งออก ส่วนข้อเรียกร้องทั้งหมดจากชาวสวน โรงงานกะทิ กมธ.ได้สะท้อนความเห็นความต้องการของทุกฝ่าย เพื่อให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรับทราบ จากนั้นจะนำไปกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม แต่การแก้ปัญหาบางเรื่องยังติดเงื่อนไขจากการประกอบการของธุรกิจที่ต้องมีผลกำไร ทำให้บางฝ่ายไม่เปิดเผยตัวเลขที่แท้จริง

“การควบคุมอย่างเข้มงวดอาจทำให้บางฝ่ายไม่พอใจ เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาสินค้าเกษตรไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมดตามข้อเรียกร้อง ขอให้เข้าใจว่าทุกภาคส่วนต้องอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องเดือดร้อนน้อยที่สุด ที่สำคัญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวต้องนำเสนอความจริง ไม่เอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งเพียงฝ่ายเดียว ส่วนกรณีที่ชาวสวนใน อ.บางสะพาน ออกมาเคลื่อนไหวนั้นไม่เชื่อว่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง หรือต้องการดิสเคดิตนักการเมืองในพื้นที่ เพราะขณะนี้ราคามะพร้าวมีราคาสูงสุดในรอบ 2 ปี เชื่อว่าชาวสวนส่วนใหญ่จะเข้าใจดี”

น่าเสียดายผลงานที่ส่งผลให้มะพร้าวราคาดีดตัวสูงขึ้น จากการตรวจสอบ ควบคุมการนำเข้าอย่างเข้มงวดไม่ให้กระทบตลาดมะพร้าวในประเทศขาดการโปรโมตให้ชาวบ้านเข้าใจ จึงรับแต่เสียงด่าจากการอนุญาตให้สั่งนำเข้า

ด้วยความเคารพ
นายหัวไทร
20 ธันวาคม 2562

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน