X
โรคมือเท้าปาก

กรมควบคุมโรค ห่วง ปชช. ป่วยโรคมือเท้าปากช่วงหน้าฝน

กรมควบคุมโรค ห่วงประชาชนป่วยโรคมือเท้าปากช่วงฤดูฝน เผยพบเด็กป่วยแล้วกว่า 13,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พร้อมแนะ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือเท้าปาก

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมือเท้าปากล่าสุดว่า ในขณะนี้สถานการณ์โรคมือเท้าปากเริ่มพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน มีความเสี่ยงที่จะพบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก (ช่วงแรกเกิด-4 ปี) และกลุ่มเด็กวัยเรียน (5-9 ปี) เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านสิ่งของใช้และของเล่น

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้ว จำนวน 13,554 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมด ร้อยละ 85.8 เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่อยู่ในโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็ก หากไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างรวดเร็วสำหรับวิธีในการป้องกันโรคมือเท้าปาก มี 4 วิธี ได้แก่

(1.) การลดการสัมผัสเชื้อ ทั้งนี้เชื้อโรคมือ เท้า ปาก อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย มักติดอยู่บนของเล่น ของใช้ หากสัมผัสเชื้อด้วยมือแล้วไม่ได้ล้างก็เปิดโอกาสให้เชื้อเข้าร่างกาย (2.) หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม (3.) ให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ (4.) หากป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหายดี ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ

สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนควรคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ สำหรับผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการควรพิจารณาให้บุตรหลานหยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย

ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน ดังนั้นการรักษาจะรักษาตามอาการ หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อ การเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน