หุ่นยนต์ดำน้ำและโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน ผลงานการคิดค้นของ มจพ. อุปกรณ์เข้าช่วยเหลือโค้ชและเด็กนักเรียนจากทีมฟุตบอล “หมูป่า” รวม 13 คน ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย
ปฏิบัติช่วยเหลือโค้ชและเด็กนักเรียนจากทีมฟุตบอล “หมูป่า” รวม 13 คน หลังติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังคงเดินหน้าค้นหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.61) คณะทำงานจากศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับการติดต่อให้นำอุปกรณ์เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว
โดยอุปกรณ์ที่ศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำโดย ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์ฯ และหัวหน้าชุดปฎิบัติภารกิจ นำคณะทำงาน 14 คน ขนอุปกรณ์ไปช่วยเหลือในการค้นหา 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนนั้น ได้แก่ หุ่นยนต์ดำน้ำ จำนวน 1 เครื่อง และโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน จำนวน 2 ลำ วันนี้ (26 มิ.ย.61) ทีมข่าว 77 ข่าวเด็ด จะพาไปทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดำน้ำ และ โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน ว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้นมีคุณสมบัติและวิธีใช้งานอย่างไร
ข่าวน่าสนใจ:
เริ่มที่หุ่นยนต์ดำน้ำ หรือมีชื่อที่เรียกว่า ยานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุม (REMOTELY OPERATED UNDERWATER VEHICLE : ROV) หุ่นยนต์ตัวนี้เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้สำรวจวัตถุใต้น้ำ โดยมีส่วนประกอบ ได้แก่ SONAR ทำหน้าที่ตรวจหาวัตถุใต้น้ำ ,IMU กำหนดตำแหน่งและทิศทางในการเคลื่อนที่ และกล้องวิดีโอถ่ายภาพใต้น้ำ
ยานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุม มีวิธีการใช้งานคือใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเข้าไป โดยใช้ระบบ SONAR ในการหาพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนที่สามารถเข้าไปได้บ้าง โดยมีกล้องวีดิโอที่สำรวจพื้นที่ด้วย ซึ่งยานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุมจะดำน้ำลงไปสำรวจสภาพภายในน้ำ ยานจะส่งสัญญาณในระยะ 100 เมตร ด้วยการใช้เซนเซอร์ส่งสัญญาณ SONAR สำรวจขนาดน้ำ ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง เบื้องต้นมีการวางแผนใช้งานยานตัวนี้ประมาณ 2-3 วัน ในการช่วยเจ้าหน้าที่ในการสำรวจในพื้นที่ เพื่อที่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง
สำหรับยานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุม ทำงานภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล (CASME) สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดย ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์ฯ พร้อมด้วยชุดปฎิบัติภารกิจสำรวจ ประกอบด้วย น.ส.ธีราพร แสนทวี , อ.สมศักดิ์ โชติชนาทวีวงศ์ , อ.ศิวะพงศ์ เพ็ชรสงค์ , นายรักเกียรติ ปั้นศรี, นายนัฐ แจ่มแจ้ง , นายนลธวัช สระทองนวน , นายณัฐกิตติ์ แหนบุญส่ง , นายวัชระ บรรจงศิลป์ และ นายปฏิวัติ โสมาศรี
ส่วนหุ่นยนต์ชิ้นที่ 2 ได้แก่ โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้การสำรวจทางอากาศ จัดทำขึ้นจำนวน 3 ลำ พร้อมอุปกรณ์ ได้แก่ DJI Matrice200 , DJI Matrice210RTK , DJI Inspire , DJI Zenmuse XT 640×512 13mm. , Flir Vue proR 640×512 19mm. , DJI Zenmuse X5P , DJI Zenmuse X5S
โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน จะเป็นการสำรวจความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตบนภูเขา และสภาพโดยรวม ซึ่งโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนจะสามารถระบุได้ว่าบริเวณใดบ้างที่มีสิ่งมีชีวิตรวมถึงคนเคลื่อนไหว ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้จะช่วยวางแผนในการเข้าช่วยเหลือได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท PAW. Technology จำกัด`และบริษัท Digital Focus จำกัด มีชุดปฎิบัติภารกิจจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายปาลวัฒน์ ประทุมวงษ์ (หัวหน้าทีม) , น.ส.ณัฐนันท์ สุภาวหา , นายสุรชัย พรหมฤกษ์ศิริ และ นายวิรัตน์ แก้วมณี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: