2 กรกฎาคม 2561 ครบรอบ 21 ปี “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการเงินที่ส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทย หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผู้ประกอบการปิดกิจการ-พนักงานถูกเลิกจ้าง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยเลยก็ว่าได้ หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นวิกฤตการเงินที่ส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย
วิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทย ในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อค่าเงินบาทลดลงอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ที่ลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากความพยายามทั้งหมดที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทเมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายแบบเกินเลยทางการเงิน (financial overextension) อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์
ในเวลานั้น ประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะซึ่งทำให้ประเทศอยู่ในสภาพล้มละลายก่อนหน้าการล่มสลายของค่าเงิน และเมื่อวิกฤตดังกล่าวขยายออกนอกประเทศ ค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นก็ได้ทรุดตัวลงเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงและรวมไปถึงราคาสินทรัพย์อื่นๆ และทำให้หนี้เอกชนเพิ่มสูงขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
ถึงแม้ว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ในเอเชียได้ออกนโยบายการเงินที่ดูแล้วสมบูรณ์ แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้ก้าวเข้ามาเพื่อริเริ่มโครงการมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินในเกาหลีใต้ ไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ผลกระทบของวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งกินเวลาไปจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2541 กระทั่งปี พ.ศ. 2542 นักวิเคราะห์ได้มองเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจเอเชียกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้น
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง”
สำหรับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศเป็นอย่างมาก หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หลายฝ่ายก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่เว้นแม้กระทั่งภาคประชาชน หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจของเอกชนต่างพากันปิดกิจการ พนักงานบริษัทถูกเลิกจ้าง จนกระทั่งมีการออกมาประท้วงขึ้น
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามพยุงค่าเงินบาท โดยใช้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศจนหมด ประกอบกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ต้องใช้เงินของกองทุนในการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศไทย ด้วยจำนวนเงินสูงสุดถึง 600,000 ล้านบาท ทำให้การใช้เงินในเหตุการณ์วิกฤตการณ์ครั้งนี้ของทั้ง 2 หน่วยงานเองหมดลงทันทีและต้องกู้จาก ไอเอ็มเอฟ จำนวน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
หลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทางรัฐบาลในสมัยนั้นได้ผุดนโยบาย โดยให้มีปีส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยถึง 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2542 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอันจะก่อให้เกิดการสร้างและนำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาในงบประมาณและสถานะภาพความคล่องของประเทศไปด้วย
นอกจากนี้ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ให้ประชาชนหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยรู้จักประหยัดในการใช้จ่ายและบริโภคผลิตผลของคนไทยด้วยกันเอง
กระทั่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินและการทำธุรกิจ โดยมีการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และโครงการโอทอป เป็นต้น ทำให้ประชาชนจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น เงินทุนเริ่มไหลเข้าประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงขึ้น เงินบาทแข็งค่า สภาพคล่องของประเทศเริ่มสูงขึ้นทำให้ประเทศไทยสามารถมีเงินใช้หนี้ IMF ได้หมดในปี พ.ศ.2546
นักวิชาการสรุปสาเหตุของวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ หรือ ศปร. ได้สรุปการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือ “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 โดยสรุปได้ดังนี้
1. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็มีการขาดดุลตั้งแต่ปี 2530 และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2539 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เห็นสถานะรายได้ของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง เป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่เนินการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ
2. ปัญหาหนี้ต่างประเทศ การเปิดเสรีทางการเงินเมื่อปี พ.ศ.2532-2537 ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินที่กำหนดไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้กู้ยืมสามารถยืมเงินและคืนเงินกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ในอัตราดังกล่าว กระทั่งปลายปี พ.ศ.2540 หนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นในระดับสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีสัดส่วนถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศรวม และสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40%
3. การลงทุนเกินตัวและฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เติบโตอย่างมากในช่วงปี 2530-2539 อาทิ ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน สนามกอล์ฟ ฯลฯ เนื่องจากผู้ประกอบการมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ของประเทศที่กำลังร้อนแรงได้ง่าย เพื่อมาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความต้องการเก็งกำไร ซึ่งได้ดึงดูดให้มีผู้เข้ามาลงทุนในธุรกิจอย่างมาก จนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่
4. ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ช่วงปลายปี พ.ศ.2539 เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินในประเทศ ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนธนกิจทั้งหลาย รัฐบาลสั่งปิดสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 18 แห่ง ปิดธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง และกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้สถาบันการเงินเพิ่มทุนอีก 10 แห่ง ในเดือนมีนาคม 2540
รัฐบาลใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ต่าง ๆ สิ้นเงินไปมากกว่า 600,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายต้องสั่งปิด 16 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2540 และปิดอีก 42 บริษัท เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2540 รวมเป็น 58 สถาบันการเงิน
5. ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย นโยบายการเปิดให้มีการจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจเมื่อปี 2536 ที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อยู่ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีเสถียรภาพปริมาณเงินในระบบได้สูงขึ้นจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ มาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความหละหลวมของการปล่อยกู้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว กฎเกณฑ์การกำกับดูแลก็ไม่เข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้สถาบันการเงินมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง
6. การโจมตีค่าเงินบาท ปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมมานาน ทำให้นักลงทุนต่างชาติถือโอกาสโจมตีค่าเงินบาทของไทย ซึ่งเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่และนักลงทุนสถาบันที่ระดมทุนมาเก็งกำไรค่าเงิน นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศก็เป็นอีกกลุ่มที่แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน ในการเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น นักเก็งกำไรอาศัยข้ออ้างจากปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก และหนี้ระยะสั้นสูงเมื่อเทียบกับเงินสำรองทางการ เพื่อใช้ปล่อยข่าวลือว่าจะมีการลดค่าเงินบาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: