X

โฆษกรัฐบาลแถลงมติ ครม.เร่งด่วน 7 เรื่อง

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลแถลงมติ ครม.เร่งด่วน 7 เรื่อง ประจำวันที่ 17 ก.ค.เร่งแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนชาวไทย

เรื่องแรก เป็นเรื่องโครงการอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)รับมติ ครม.ให้หาจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้มีรายได้น้อย และพ่อแม่ที่รับเงินเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 6 ร้อยบาทเอามาผนึกเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งได้มีการตรวจสอบว่ามีประชาชนที่มารับเงินเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 6 ร้อยบาทแต่ว่าไม่มีชื่ออยู่ในรายการผู้มีรายได้น้อย สำหรับเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 6 ร้อยบาทจะต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้ไม่ถึง 4 หมื่นบาทต่อปี ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนกว่า 2 แสนคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ก่อนหน้านี้ได้มีการแจ้งให้รีบไปลงทะเบียนกับ พม. ภายใน 30 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่ามีผู้มาลงทะเบียนเพียงแค่ 6 หมื่นคนเท่านั้น ซึ่งทาง พม.จะขยายเวลาลงทะเบียนอีกครั้งตั้งแต่วันนี้(17 ก.ค.)ไปจนถึง 30 ก.ย.นี้ ถ้าหากยังไม่มาลงทะเบียนอีกจะไม่สามารถรับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 6 ร้อยบาทได้อีก

เรื่องที่สอง เกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้ที่สามารถขอรับบัตรนี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี หรือ 2 หมื่นต่อปี ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนขอรับบัตร 11.7 ล้านคน มารับแล้วทั้งสิ้น 11 ล้านคน ซึ่งบัตรสวัสดิการจะสามารถนำไปใช้ซื้อของกับร้านค้าที่มีเครื่อง EDC ติดอยู่ ส่วนร้านค้าร้านไหนที่ยังไม่ได้รับเครื่องก็สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นจากธนาคารกรุงไทยมาเป็นตัวชำระบัตร EDC ได้ก่อน ปัจจุบันรัฐบาลได้ติดตั้งเครื่อง EDC ให้กับร้านค้าแล้วกว่า 3 หมื่นเครื่อง เหลืออีก 1 หมื่นเครื่องที่จะต้องเร่งติดให้เสร็จ ส่วนการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นรถไฟฟ้าจะสามารถขึ้นได้ในสายสีฟ้า และ สีม่วง แต่ต้องเอาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปลงทะเบียนที่สถานีรถไฟฟ้าทั้งสองสายตั้งแต่ 6 ก.ค. และจะสามารถใช้ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง และ ฟ้า ได้ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นรถได้ทุกประเภทที่เป็นการขนส่ง ยกเว้นรถไฟฟ้า bts ที่เป็นคู่สัญญากับ กทม. โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะมีวงเงินเดือนละ 5 ร้อยบาท

เรื่องที่สาม เร่งแก้ไขปัญหามะพร้าวแกงราคาตกต่ำ ในปี 58-60 มะพร้าวแกงมีปัญหาความต้องการมากกว่าจำนวนที่ปลูกได้จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เข้าสู่ปี 59-60 ราคาก็ยังไม่ตกเพราะประสบปัญหาแมลงสตรูพืช แต่พอเข้าสู่ปี 61 ปัญหาสตรูพืชหายไปทำให้ผลิตมะพร้าวได้เยอะและราคาตกต่ำลง ช่วงต้นปี 61 เหลือกิโลกรัมละ 13 บาท ขณะที่ปัจจุบันเหลือกิโลกรัมละ 5 บาท คณะกรรมการพืชน้ำมันแก้ไขปัญหาด้วยการออกระเบียบห้ามนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศชั่วคราว 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ ส.ค.-ต.ค. นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มะพร้าวออกพอดี น่าจะเป็นมาตรการที่ช่วยพยุงราคามะพร้าวให้คงที่หรือขึ้นได้เล็กน้อย

เรื่องที่สี่ ร่างพรบ.แก้ไขจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทต่างประเทศในแบบการค้า e-commerce ซึ่งจะแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 ประเภท 1.เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ 2.เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มในการซื้อขาย เช่นอารีบาบา อเมซอน เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้ระบุว่าผู้ซื้อต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อแสดงตนว่าจะเอาภาษี vat มาจ่ายแต่ในความเป็นจริงไม่มีใครมาแจ้ง จึงออกกฎหมายควบคุมบริษัทแทน คือให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยเพื่อจ่าย vat แต่ว่ากระทรวงการคลังก็ออกมายอมรับว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปควบคุมเพราะว่าบริษัทเหล่านั้นตั้งอยู่ในต่างประเทศการจะไปบังคับให้บริษัทต่างประเทศเหล่านั้นมาจดทะเบียนก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน และอีกหลายๆประเทศก็กำลังเจอปัญหาเหมือนไทย

เรื่องที่ห้า การจัดส่งผู้ลี้ภัยสงครามชาวเมียนมาร์กลับประเทศ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันของไทยและเมียนมาร์ ซึ่งที่ผ่านมามีชาวเมียนมาร์ลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกว่า 9หมื่น9พันคน ในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ตาก, กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งก็ได้มีการจัดส่งกลับไปบ้างแล้วตั้งแต่ปี 58 แต่ก็เป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นโดยส่งกลับไปเพียงแค่ 160 คนเท่านั้น ทำให้ต้องตั้งงบประมาณอีก 3.5 ล้านบาทนำมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์ที่เหลือและส่งกลับ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาร์ก็จะเข้ามาช่วยเหลือและทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการนำผู้ลี้ภัยกลับยังถิ่นฐาน

เรื่องที่หก การไปจัดนิทรรศการ WORLD EXPO ที่ดูไบซึ่งประเทศไทยจะเข้าร่วมด้วย ครั้งแรกมีการตั้งงบในการไปร่วมนิทรรศการครั้งนี้ไว้ถึง 1.5 พันล้านบาทใน 4 ตีมหลักคือ 1.คมนาคมอัจฉริยะ 2.ขนส่งอัจฉริยะ 3.ท่องเที่ยวอัจฉริยะ 4.บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ แต่ล่าสุดได้มีการหารือกันอีกครั้งและได้ปรับรูปแบบใหม่ทั้งหมดเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายลงจากเดิม 1.5 พันล้านบาท ลดเหลือ 950 ล้านบาท และได้เปลี่ยนเป็น 7 ตีมที่สอดคล้องกันคือ 1.พระอัจฉริยะภาพของในหลวง ร.9 และ ร.10, 2.ความพร้อมไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน, 3.อาหารไทย 4.แหล่งท่องเที่ยวไทย, 5.เกษตรกรรม, 6.วิถีชีวิตวัฒนธรรมไทย, 7.ศาลาไทยและมิตรภาพ

เรื่องที่เจ็ด การอนุมัติรายจ่ายการพัฒนาบุคลากรพื้นที่ EEC มีการร่างแผนบุคลากร การศึกษา ซึ่งมีอุตสาหกรรม 10 อย่างที่จะต้องผลักดันควบคู่ และแผนพัฒนาบุคลากรคือการเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรที่จะไปทำงานในเขต EEC มีแผนถึง 67 โครงการ และมี 14 โครงการด่วนจะดำเนินการตั้งแต่ ก.ค.นี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย 1.พัฒนาทักษะบุคลากร, 2.เตรียมพร้อมการศึกษา, 3.สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเร่งด่วน 390 ล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในความดูแลของ 4 กระทรวงอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์,กระทรวงศึกษาธิการ,กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน