X

“พม.”จับมือภาคี ผลักดันคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย

พม. จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงานเวทีประชุมวิชาการการขับเคลื่อนและพัฒนาสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “คนไทยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินมีโรคคุมได้แก้ไขได้ทัน”

นางสุภัชชา สุทธิพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานงานเวทีประชุมวิชาการการขับเคลื่อนและพัฒนาสู่ความยั่งยืนภายใต้แนวคิด “คนไทยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินมีโรคคุมได้แก้ไขทัน” ตามโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ 20 ภาคีเครือข่าย ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมีบุคลากร ด้านการแพทย์ฉุกเฉินและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน สังคมผู้สูงอายุของไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น โดยจัดอยู่ในอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองลงมาจากประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง อีกทั้งลูกหลานไม่มีเวลาดูแล เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม จากสถิติผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาเฉลี่ยปีละ 25 ล้านราย ในจำนวนนี้มีทั้งเสียชีวิตและพิการ ดังนั้น หากคนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี จนเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ นับว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ไม่เป็นภาระให้ลูกหลานและประเทศชาติ

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนตามภารกิจสำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้ จากสถิติปี 2560 มีจำนวนผู้สูงอายุสูงถึง 11 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ มีจำนวน 8 ล้านคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยประมาณกว่า 2 ล้านคน และเป็นผู้ป่วยติดเตียงร้อยละ 1.5 โดยคาดว่าอีก 13 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 28

พม. มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนามาตรการ, กลไก, นวัตกรรม และบูรณาการ อีกทั้งสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน บูรณาการความร่วมมือกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ดีมีสุข และสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วย การลดจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดการเจ็บป่วยด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ การเสียชีวิตและความพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี มีทักษะในการแก้ไขสถานการณ์และอาการป่วยฉุกเฉิน นำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน