X

กองทุนสื่อฯต่อยอดงานวิจัย แก้ปัญหาแชร์ข้อมูลการแพทย์มั่ว

กองทุนสื่อปลอดภัยฯ จับมือนักศึกษาหลักสูตร ปธพ.5 จัดงานเสวนา“เพื่อพัฒนาโมเดลระบบอภิบาลการสื่อสารข้อมูลสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์” เปิดเวทีระดมความคิดเห็นต่อยอดหาทางออกให้กับสังคมผ่านงานวิจัย หวังแก้ปัญหาการแชร์ข้อมูลการแพทย์มั่วบนโลกออนไลน์

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นประธานงานเสวนาเพื่อพัฒนาโมเดลระบบอภิบาลการสื่อสารข้อมูลสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์โดยมีผู้บริหารกองทุนฯองค์กรด้านการกำกับดูแลงานด้านสุขภาพ อาทิ แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) ผู้บริหารงานด้านการสื่อสารข้อมูลสุขภาพจากคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลต่างๆ 

เวทีเสวนา มีผู้ทำวิจัย จากหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 5 หรือ ปธพ.5 พร้อมทั้งนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่สนใจงานด้าน Health Literacy และ Media Literacy จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เจ้าของเพจและเว็บไซด์ชื่อดัง สื่อมวลชนและเครือข่ายนิสิตนักศึกษา เข้าร่วมเสวนาระดมสมองเกือบ100 คน

สำหรับงานวิจัย “เพื่อพัฒนาโมเดลระบบอภิบาลการสื่อสารข้อมูลสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์”คณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 5 กลุ่มที่9 ซึ่งเป็นแพทย์ผู้บริหารระดับสูงและภาคเอกชนที่ไม่ใช่แพทย์ จำนวน 15 คน ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 เป็นการรวบรวมแนวคิดและแนวทางการแก้ปัญหาการสื่อสารข้อมูลสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ มาประมวลผลกับการศึกษาเชิงลึกในระบบทุกภาคส่วนของประเทศไทย แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นโมเดลเพื่อการแก้ปัญหาเชิงระบบ

โดยจัดแบ่งข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลร้อน ข้อมูลเย็น และข้อมูลพิษ และแบ่งกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในระบบทั้งหมดเป็น ผู้ควบคุม ผู้ผลิตข้อมูล ผู้เผยแพร่ข้อมูล และผู้รับข้อมูล โดยนำเสนอแนวคิดให้มีการสร้างองค์กรประสานงานกลาง และหน่วยอัจฉริยะทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเฝ้าระวังเชิงรุก ตรวจสอบอย่างรวดเร็ว สร้างแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนนิยมการตรวจสอบ ไม่เชื่อง่าย และในอนาคตควรนำเทคโนโลยีทั้ง Big data และAIมาช่วยประมวลผลข้อมูล

แต่หัวใจสำคัญของโมเดลการแก้ปัญหาดังกล่าวคือการทำงานสอดประสานกันด้วยระบบเครือข่าย และต้องไม่รวมศูนย์อยู่จุดใดจุดหนึ่งเหมือนหลักคิดหลักบริหารในอดีต เพราะสื่อโซเชียลคือการสื่อสารแบบใยแมงมุม จึงต้องแก้ปัญหาแบบทุกทิศทุกทาง โดยต้องแก้ทั้งการป้องปราม และการลงโทษคนผิด การให้ความรู้ และการพัฒนาศักยภาพของทุกภาคส่วน ไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้สื่อมีการเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนบนโลกใบนี้สามารถทำตัวเป็นสื่อในการส่งต่อข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก

เพราะสถานการณ์ปัจจุบันช่องทางออนไลน์ กำลังเป็นที่ได้รับความนิยมในการใช้สื่อสารและรับข้อมูลข่าวสารมากเป็นอันดับ 1 ขณะนี้ก็ว่าได้ นอกจากนี้แล้วประชากรโลกส่วนใหญ่ยังใช้เวลากับโซเชียลมีเดียคิดเป็น 1/3 ของเวลาทั้งวันอีกด้วย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนโดยสิ้นเชิง

ปัจจุบันการสื่อสารนั้นเปลี่ยนเป็นการสื่อสารแบบใยแมงมุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ข้อมูลแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในวงกว้าง สิ่งที่ตามมาคือมันสามารถทำให้เกิดผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบต่อสัมคมไทยในปัจจุบัน สถานการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันพบว่า 80% ของข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันคือข้อมูลเชิงสุขภาพ แต่ทว่าเป็นข้อมูลจริงเพียงแค่ 20% เท่านั้นเอง

ส่งผลให้เกิดปัญหาการแชร์ข้อมูลสุขภาพมั่วทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกหนึ่งปัญหาของชาติ และยังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดความฉลาดทางด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันในประเทศไทยยังไม่มีการจัดการดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่ในต่างประเทศได้เริ่มมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และได้มีการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆเข้ามาควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดทางข้อมูลกันแล้ว

อย่างเช่นสหรัฐฯ ได้มีการออกกฎหมายมารับมือข่าวเท็จ และรัฐสภาของอังกฤษขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนให้มีการเช็คก่อนแชร์ในปี 59 ขณะเดียวกันในปี 60 เยอรมนี ก็ได้ออกกฎหมายลงโทษสื่อออนไลน์ที่ชอบเผยแพร่ข่าวมั่วอีกด้วย

อย่างไรก็ตามหลายประเทศเริ่มมีกฎหมายควบคุมการกระทำผิด และมีมาตรการต่างๆเช่นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ โดยสหรัฐฯ ได้นำระบบ AI เข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว หรือแม้แต่เมียนมา และมาเลเซีย ได้มีการจับมือกันเปิดเว็บไซต์ขึ้นสำหรับเช็คความถูกต้องของข่าวสารต่างๆโดยเฉพาะ

โมเดลดังกล่าวแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม นั่นคือ 1.กลุ่มผู้ควบคุม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล เช่น แพทยสภา สำนักงานอาหารและยา(อย.) 2.ผู้ผลิตข้อมูล คือผู้ที่มีข้อมูลสุขภาพที่สามารถเผยแพร่ในวงกว้างได้เช่น โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาล

3.ผู้เผยแพร่ข้อมูล คือผู้ที่มีช่องทางหลักในการกระจายข้อมูล ทั้งที่ผลิตเองหรือแชร์ต่อจากแหล่งอื่น เช่นเว็บไซต์ เฟสบุ๊คเพจ สื่อมวลชน และอื่นๆ 4.ผู้รับข้อมูล นั่นก็คือประชาชนทั่วไปที่รับข้อมูลและแชร์ต่อ

นอกจากนี้แล้วยังมีการเสนอให้จัดตั้งองค์ประกอบของผู้เกี่ยวข้องในอนาคต และบทบาทหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 1.องค์กรประสานงานกลาง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงาน ซึ่งจะเป็นงานในลักษณะ coordinator หรือทำหน้าที่เป็น network of network

2.หน่วยอัจฉริยะภาครัฐ ที่จะต้องทำหน้าที่เฝ้าระวังเชิงรุกในการติดตามดูสถานการณ์ประเด็นสุขภาพที่แพร่หลายในสังคมออนไลน์ และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลสุขภาพ และรุกหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ผลิตข้อมูลสุขภาพอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ยังต้องสร้างคลังข้อมูลสุขภาพระดับประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถอ้างอิงและเข้าถึงง่าย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องออกสู่สังคมอย่างกว้างขวาง โดยอาศัยเครือข่ายต่างๆมาร่วมด้วยช่วยกันดำเนินงาน ในหลักการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย

3.หน่วยอัจฉริยะภาคประชาชน ที่จะต้องทำหน้าที่ช่วยเฝ้าระวังเชิงรุกในฐานะภาคประชาชน โดยต้องจัดให้มีการรายงานข้อค้นพบส่งไปยังหน่วยงานอัจฉริยะภาครัฐอย่างรวดเร็ว และให้มีการนำคำตอบจากภาครัฐมาเผยแพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางต่อไป ตลอดจนต้องสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับเครือข่ายอาสาสมัครที่จะมาช่วยเฝ้าระวังข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ต่อไป

นายวสันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การรู้เท่าทันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสื่ออย่างเป็นระบบและถูกวิธี เพราะว่าสื่อนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งต่อผู้รับสารและผู้ส่งสารไปแล้ว ซึ่งการพบสารที่เป็นปัญหาทำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อยากเข้ามาจัดการให้ข้อมูลข่าวทางการแพทย์ในโซเชียลมีเดียเป็นข้อเท็จจริงมากขึ้นโดยมีเป้าหมายในระยะเริ่มต้นที่อยากจะเห็นข้อมูลการแพทย์ในโซเชียลมีเดียที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องมีมากถึง 70% ด้วยกัน

เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน ส่วนอีกสิ่งที่สำคัญนั่นคือกลไกลที่ดี จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เช่นการเฝ้าระวังข้อมูลว่ามีการชัวร์ก่อนแชร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะมีกลไกลนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะได้มีคนคอยตรวจสอบเรื่องเท็จทั้งหลายบนโลกออนไลน์ให้หมดไป

ที่ผ่านมากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรกว่า 20 องค์กรในการสนับสนุนข่าวสารในการเช็คความถูกต้อง แต่ก็ยังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้นซึ่งความหวังที่จะเห็นความสำเร็จในระยะยาวก็มาจากโมเดลอภิบาลการสื่อสารข้อมูลสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน