กรมอุตุฯ ออกประกาศฉบับที่ 13 พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) มีผลกระทบต่อไทย ช่วงวันที่ 17-20 ก.ย.นี้ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ทะเลมีคลื่นสูงกว่า 4เมตร ขณะที่ทางการฮ่องกงประกาศเตือนภัยพายุระดับ 10 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด หลังไต่ฝุ่นมังคุดถล่ม มีผู้บาดเจ็บกว่า 100คน เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา
รายงานข่าวแจ้งว่า ทางการท้องถิ่นมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ประกาศยกเลิกและเลื่อนเที่ยวบินทั้งหมดกว่า 1,000 เที่ยว ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนวันอาทิตย์ (16 ก.ย.61) ที่ผ่านมา
ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน “พายุไต้ฝุ่นมังคุด” เคลื่อนขึ้นฝั่งมณฑลกวางตุ้งเมื่อเวลา 17.00 น. (16 ก. ย.61)ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยความเร็วลมกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและพายุรุนแรงจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันตามท้องถนนในหลายพื้นที่ ต้นไม้และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่หักโค่นล้มทับบ้านเรือนและรถยนต์เสียหายจำนวนมาก
โดยช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ (16 ก.ย. 61)พายุไต้ฝุ่นมังคุดพัดกระหน่ำฮ่องกง ต้นไม้หักโค่นทับอาคารบ้านเรือนเสียหาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน อาคารสูงหลายแห่งสั่นไหวจากแรงลมพายุ ระบบขนส่งมวลชนแทบทั้งหมดหยุดให้บริการ โดยเฉพาะเที่ยวบินพาณิชย์ ขาเข้าและออกจากท่าอากาศยานานาชาติเช็กแล็บก็อก ประกาศระงับให้บริการเที่ยวบินอย่างน้อย 800 เที่ยวบิน ส่งผลให้มีผู้โดยสารตกค้างมากกว่า 100,000 คน ล่าสุดทางการฮ่องกงประกาศเตือนภัยพายุระดับ 10 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประ กาศฉบับที่ 13 วันที่ 17 กันยายน 2561 เมื่อเวลา 04.00 น. พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนเข้าสู่เขตมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในวันที่ 18 ก.ย. 2561 ส่งผลให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย มีฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 17-19 ก.ย. 61 ประชาชนระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
ส่วนทะเลฝั่งอันดามัน คลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ กรมชลประทานจำเป็นต้องลดการระบายน้ำจากเขิ่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เพื่อพร่องลำน้ำเจ้าพระยา รับฝนที่ตกในพื้นที่
โดยทั้ง 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,994 ล้าน ลบ.ม. หรือ68% น้ำใช้การได้รวมกัน 10,298 ล้าน ลบ.ม. รองรับน้ำได้อีก 7,877 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับพื้นที่รับน้ำหลากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและตอนบน 1 ทุ่ง รวม 13 ทุ่ง ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งเกษตรกรล่วงหน้า ให้เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จก่อนกลางเดือนนี้ โดยขณะนี้มีพื้นที่แก้มลิง 2 ทุ่ง คือทุ่งบางระกำและทุ่งเชียงราก สามารถรับน้ำหลากได้แล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: