เปิดรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.สื่อฯ รัฐบาลหวังเห็นปฏิรูปที่ “แยกสื่อที่ดีและสื่อที่ไม่ถูกต้อง” มีกลไกในการดูแลกันเอง ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีอำนาจจริง ไม่ใช่เสือกระดาษ ขณะนี้ถกกันหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องคำนิยามจนถึงรื่องมาตรฐานจริยธรรมกลาง
กรมประขาสัมพันธ์ และคณะอนุกรรมการร่างพ.ร.บ.ส่งเสิมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เปิดรับฟังความคิดเห็นในส่วนของภาคกลางโดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อนุกรรมการร่าง พ.ร.บ. และประธานสภาการหนังสือพิมพ์เเห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ. เนื้อหาบอกว่าบุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อ ต้องมีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพจะมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรฐานวิชาชีพ ให้ครอบคลุมถึงสื่อมวลชนของรัฐด้วย แต่ต้องดูเจตนาขององค์กร ซึ่งต้องมีองค์กรที่จะเข้ามากำกับดูแลตรงนี้
ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะมีรูปแบบเป็นกฎหมาย ที่จะสร้างกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อที่มีประสิทธิภาพ และเพราะกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจกับกรรมการชุดนี้ โดยมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นกลไกสำคัญ มีองค์กรวิชาชีพสื่อ ทำหน้าที่คอยตรวจสอบสื่อกันเอง พร้อมทั้งยังมีอำนาจในการลงโทษ จนถึงการลงโทษทางปกครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน
แม้ในอดีตการลงโทษจะใช้ลักษณะลงโทษทางสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งในทางปฏิบัติยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือมากนัก
ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ให้ความมั่นใจว่าจะมีกระบวนการจัดการ ที่ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่ก็ตาม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบ ซึ่งหมายความว่า ทุกคนที่ประกาศตัวเข้ามาทำอาชีพสื่อมวลชน และองค์กรที่เป็นสื่อมวลชน จะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบเช่นกัน
สำหรับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เน้นไปที่การกำกับดูแลองค์กรสื่อมวลชน มากกว่าจะไปกำกับที่ตัวบุคคล หากมีผู้กระทำผิด ก็ไปจัดการกับองค์กรที่สังกัด ให้มีมาตรการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมฯ ประกอบด้วย ให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” โดยมีกรรมการสภาฯ ทั้งหมด 9 คน มาจากตัวแทนองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 4 คน มาจากการคัดเลือกกันเองขององค์กรวิชาชีพ 5 กลุ่ม 1.กลุ่มสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ 2.กลุ่มสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ 3.กลุ่มสภาวิชาชีพสื่อออนไลน์ 4.กลุ่มสภาวิชาชีพสื่อมวลชนระดับชาติ 5.กลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนระดับท้องถิ่น กลุ่มละ 2 คน เป็น 10 คน แล้วให้คณะกรรมการสรรหา 5 คน(โดยต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระอย่างน้อย 1 คน) จากนั้นเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อมาเป็นกรรมการอีก 4 คน
สรุปกระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จดแจ้ง 5 กลุ่ม คัดเลือกกันเองกลุ่มละ 2 คน(รวม10คน) จากนั้นคณะกรรมการสรรหานักวิชาการ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพและองค์รอื่นที่เกี่ยวข้องสรรหาให้เหลือ 5 คน และสุดท้ายคือกรรมการสภาองค์กรวิชาชีพเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 4 คน รวมเป็น 9 คน
โดยมาตราที่เป็นหัวใจสำคัญของ พรบ.นี้อยู่ที่ มาตรา 12 คือ หน้าที่และอำนาจของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ หน้าที่แรกคือพิจารณารับจดแจ้งและเพิกถอน สมาชิก ,กำหนดมาตรฐานกลางของจริยธรรม ,ส่งเสริมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้ก่องค์กรวิชาชีพ ,ส่งเสริมการรวมกลุ่ม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ,ส่งเสริมให้องค์กรสื่อจัดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน
มาตรา 13 คือ มาตรฐานกลางของจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวชน มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ประกอบด้วย การเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ,เสนอข่าวเสนอข้อเท็จจริงด้วยความถูกต้อง ,ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นข่าว ,เคารพสิทธิมนุษยชน ,ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ,การปกป้องและปฎิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม และมาตรฐานที่จะดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกได้เสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นที่ฝ่าฝืนจริยธรรม
แผนการปฎิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีประเด็นการปฎิรูป ประกอบด้วย 6 ประเด็นที่สำคัญและเร่งด้วยประกอบด้วย 1. การปฎิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน 2.แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ 3.การปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสามวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.การปฎิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่ออนไลน์ 5.การปฎิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ / กิจการอวกาศและระบบป้องกันเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ และ 6.การปฎิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัด
คาดเห็นสื่อยกระดับมาตรฐานในปี63
สำหรับนาย ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อนุกรรมการ กล่าวว่า การปฎิรูปสื่อด้านโครงสร้างทำอย่างไร 10 ปีแรกมีปัญหามาก ปี 50 จึงมีการเปลี่ยนแปลง กว่าจะมี พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ การปฎิรูปครั้งแรกเป็นโครงสร้าง มาครั้งนี้หลังจากบริบททางการเมือง เรามีคลื่นวิทยุชุมชน 7,000-8,000 คลื่น สถานีดาวเทียม 300-400 สื่อหลักของประเทศไม่ได้รับความนาเชื่อถือ สื่อหลักแยกอย่างไร
ความโกลาหลครั้งหนึ่งของสื่อในบ้านเรา มีการปิดสถานีวิทยุเหล่านี้ ม.93และ 103 กระแสปฎิรูปจึงเกิดขึ้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีการปฎิรูป 11 ด้าน ซึ่งมีความพยายามเติมคำว่า “สร้างความเกลียดชัง” จึงต้องมีความพยายามอย่างมากที่จะเอาคำนี้ออกไป เพราะจะเป็นการลำบากในการทำงาน
ทำอย่างไรให้เราสามารถมีมาตรการจัดการเมื่อสื่อถูกร้องเรียน เราต้องมีกระบวนการกำกับจัดการ จึงเป็นหลักของ พรบ.ฉบับนี้ ก่อนจะจัดตั้งเราต้องจัดตั้งองค์กรวิชาชีพ เราต้องมีการจัดทำมาตรฐานการทำงานเกิดขึ้น มีพรบ.และมีกลไกติดตามกรณีสื่อทำหน้าที่โดยสุจริตแล้วถูกคุกคาม หรือสร้างคนทำสื่อคุณภาพสัก 1,000 คน ที่มีความสามารถ ยกระดับ พัฒนาศักยภาพ ให้มีความทันสมัยตลอดเวลา ภายในปี 63-64 จึงจะเป็นการยกระดับมาตรฐานสื่อสารมวลชน
ถกเดือด-เสนอแก้หลายประเด็น
สำหรับการอภิปรายเกี่ยวกับมาตราต่างๆในกฎหมายนี้ โดยมีนายพรพิทักษ์ แม้นศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ดำเนินการสัมนากลุ่มย่อย และนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อนุกรรมการเป็นวิทยากรประจำกลุ่ม
ในการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มนี้ มีการให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เช่น ข้อเสนอแนะที่ให้เพิ่มคำนิยามของ พ.ร.บ.ในด้านสิทธิ เกณฑ์เรื่องอายุ สัดส่วนการเป็นกรรมการ และมาตรฐานจริยธรรมกลาง ซึ่งหลายข้อเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมานาน จนได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ความเห็นเหล่านี้จะถูกรับไปพิจารณาต่อไป
มีผู้เสนอความคิดเห็นถึงมาตราต่างๆ อาทิเช่น มาตรา 1 ที่ระบุไว้ว่าพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ พ.ศ. …. ให้เพิ่มเติมคำว่า “สิทธิ เสรีภาพ” เข้าไปในชื่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. เพื่อแสดงความชัดเจนในเจตนารมณ์ของเสรีภาพสื่อให้เพิ่มมากขึ้น
ในหมวดที่ 1 มาตรา 6 การสรรหาและการเลือกกรรมการสภาให้ดำเนินการ ในวงเล็บ(2) เรื่องของการให้สมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในแต่ละกลุ่มดังต่อไปนี้ คัดเลือกกันเองให้เหลือผู้แทนกลุ่มละสองคน โดยต้องประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีสังกัด มีตัวแทนผู้รับฟังบางส่วนมองว่า การเลือกจากสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ กับกลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนในระดับชาติ จะเป็นการทับซ้อนกัน เป็นการให้สิทธิมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
มาตรา 8 กำหนดคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ในวงเล็บ(2) ระบุไว้ว่า มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่เกิน 70 ปี ซึ่งมีผู้เสนอแนะว่าควรปรับเป็นอายุ 80 ปี โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยของเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และยังแข็งแรง สามารถทำงานได้ ซึ่งมีอีกหนึ่งคนเสนอให้เปลี่ยนจาก 35 ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 25 ปี และไม่เกิน 70 ปีเช่นเดิม เพราะเด็กรุ่นใหม่จะมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆทันต่อโลกมากกว่า ทั้งนี้กรอบอายุหากมากกว่า 70 ปี มีทำงานได้ 2 วาระ คืออยู่ได้ถึง 8 ปี ด้วยอายุที่สูงอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานได้
มาตรา 11 ระบุไว้ว่าในกรณีที่ประธานสภาหรือกรรมการสภาพ้นจากตำแหน่ง ให้ดำเนินการสรรหา ได้มีผู้เข้าร่วมเสนอว่า ควรเปลี่ยนจากการสรรหาเป็นการเลือกตั้งแทน
มาตรา 12 การระบุไว้ถึง หน้าที่และอำนาจ ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มวงเล็บ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ประโยชน์ที่สื่อมวลชนจะได้รับ
มาตรา 14 เรื่องของการแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม เสนอให้มีผู้แทนจำนวนผู้แทน จาก 5 คน เป็น 9 คน โดยเพิ่มที่จำนวนผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อให้จำนวนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสื่อสารมวลชน เข้ามาปฎิบัติหน้าที่บริหารงานได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับคำถามว่าถ้าหากสื่อมวลชนจะไม่เข้าร่วมกับการดูแลของสภานี้ได้หรือไม่ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อนุกรรมการ ได้อธิบายว่าสามารถไม่เข้าร่วมได้ แต่การกำกับดูแลนั้น จะถูกกำกับดูแลด้วยกฎหมายอยู่แล้ว จะหลีกเลี่ยงไม่ได้หากมีการกระทำความผิด
รัฐบาลหวังเป็นกลไกขับเคลื่อนสื่อดี
ด้านพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า เรื่องของสื่อมวลชนเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญ ทางรัฐบาลคาดหวังว่าสื่อมวลชนต้องจับตาดูแลกันเองได้ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกำกับดูแลสื่อมวลชน ทางกรมประชาสัมพันธ์จึงขอให้คณะกรรมการชุดนี้ยกร่างกฎหมายสื่ออย่างเต็มที่ พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้คณะกรรมการได้ทำงานของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีเนื้อหาไปก้าวล่วงคนอื่นเขา
“พ.ร.บ.ตัวนี้จะเป็นกลไกขับเคลื่อนสื่อดี และคัดกรองสื่อเทียมออกไปให้ได้”
การสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ เป็นการจัดขึ้นเพื่อให้ได้ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะเกิดผลสำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดทำข้อเสนอแนะในจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆทั้งหมดนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ
ขั้นตอนสุดท้ายเสนอคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป จะมีการกำหนดจัดขึ้นรวม 4 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการจัดรับฟังประจำพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพ วันที่ 27 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดา กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการปฎิรูปกEหมาย http://www.thailawreform.go.th และเว็บไซต์ของทางกรมประชาสัมพันธ์ http://www.prd.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: