คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมด้วยตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 59 พรรค และอีก 84 กลุ่ม เข้าหารือกฎกติกา และความเข้าใจร่วมกันในการคลายล็อกการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 62
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองและผู้แจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการคลายล็อกทางการเมืองให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้
ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่13/2561 ลงวันที่ 14 ก.ย. 61 โดยผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง, ผู้แทนของพรรคการเมือง, ผู้แทนของผู้ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับการประชุมครั้งนี้ทาง กกต. ได้มีการหารือกับพรรคการเมืองต่างๆในประเด็นการเตรียมการและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการดำเนินกิจการต่างๆของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายใหม่ให้ชัดเจน และสามารถปฏิบัติตามระเบียบบังคับได้อย่างถูกต้อง โดยได้มีการกำหนดกรอบรายละเอียดให้กับพรรคการเมืองที่มาร่วมประชุม
โดยที่ กกต. ได้ระบุว่าการที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองต้องส่งจากผู้ได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น
เว้นแต่การส่งผู้สมัครตามบทเฉพาะกาลประกอบคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2561 เพียงรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาสรรหา และสมาชิกพรรคการเมืองทุกคนต้องมีสิทธิลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
ส่วนพรรคการเมืองที่จะสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้นั้นจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่จัดขึ้นตามกฏหมายเดิม โดยจะต้องมีทุนประเดิมจำนวนหนึ่งล้านบาท และจะต้องจัดให้มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน โดยจะต้องมีการชำระค่าบำรุงพรรคตามเวลาที่ กกต. กำหนด ซึ่งทางพรรคจะทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต่างๆ หรือเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องทำภายในเวลาที่ กกต. กำหนด
ส่วนเรื่องกรอบการเลือกตั้งประธาน กกต. กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาในการกำหนดวันเลือกตั้งยังไม่มีประเด็นใดที่กกต.จะนำไปหารือกับรัฐบาลเป็นพิเศษ แต่ก็ยังมีคำสั่ง คสช.ห้ามพรรคการเมืองหรือบุคคลใดๆหาเสียงในสื่อโซเชียลมีเดียทุกประเภท โดยเรื่องระยะเวลาเลือกตั้งที่แน่นอน อยากให้ทุกฝ่ายนับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 11 ธ.ค.นี้ และภายใน 150 วันทาง กกต. จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จอย่างแน่นอน คาดว่าไม่น่าจะเกิน พ.ค. 62 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ชัดเจนที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: