คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมหารือผู้เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ชี้ควรดำเนินการต่อ แต่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบหลักการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีรายละเอียดกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง นำสัตว์มาขึ้นทะเบียน และกำหนดโทษเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฎิบัติตามได้ เป็นค่าปรับไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งก่อให้เกิดกระแสถกเถียงในหมู่คนรักสัตว์ โดยเฉพาะเจ้าของสุนัขและแมว
ล่าสุด ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกส่งกลับไปให้กระทรวงเกษตรฯ ทบทวนใหม่ หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาจก่อภาระกับประชาชนมากเกินไป ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว…ควรรอไว้หรือไปต่อ”
ข่าวน่าสนใจ:
โดยวงเสวนาประกอบด้วย น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์, ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณะบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ขันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์แนวหน้า และ ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีวิจัยนวัตกรรม ร่วมเสวนา
ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี กล่าวว่า ที่มาของ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ คือ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ ธ.ค.57 โดยมาตรา 11 ระบุว่าเจ้าของสัตว์มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนสัตว์ แต่ว่ายังไม่มีกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์
ประชาชนอยากขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่ไม่อยากจ่าย 450 บาท
ด้านนายเฉลิมชัย เผยว่า การขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวควรดำเนินต่อไปเพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว ซึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เป็น พ.ร.บ.ที่ประชาชนให้ความสนใจกันเยอะ แต่ประเด็นคือภาครัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหากับผู้เลี้ยงสุนัขและแมวที่มีอยู่จำนวนมาก
จากมุมมองของสื่อที่ได้ไปพูดคุยกับประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่แล้วเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว แต่ยังคงกังวลกับค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนที่ต้องจ่าย 450 บาทต่อการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง 1 ตัว โดยที่ไม่ทราบว่าจะได้อะไรกลับมาจากการจ่ายเงิน 450 บาท ซึ่งประชาชนจำนวนมากก็ยังคงตั้งคำถามว่าทำไมต้องเสียเงิน
เพราะทุกวันนี้ประชาชนที่เลี้ยงสุนัขและแมวต่างก็ต้องเสียค่าเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตนเองจำนวนไม่น้อยอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร หรือค่ารักษาพยาบาล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในครั้งนี้ แต่ปัญหาคือรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน เพราะต้องยอมรับว่าผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวมีจำนวนไม่น้อยเลยที่เลี้ยงเพราะสงสาร
ไม่ได้เลี้ยงเพราะซื้อมาเลี้ยง ดังนั้นแล้วคนเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของตนเองตั้งแต่ตนอยู่แล้ว เมื่อได้ไปพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ซึ่งมีการเลี้ยงสุนัข และแมวเป็นจำนวนมาก ก็ได้มีการเปิดเผยว่าถ้าทางรัฐบาลจะเก็บเงินค่าขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวในความดูแลตัวละ 450 บาทจริง คนกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะปล่อยสัตว์ที่ตนเองดูแลอยู่ทิ้งไปเพราะคงไม่มีเงินมากพอที่จะไปขึ้นทะเบียน และยังเป็นภาระที่ต้องมาแบกรับโดยไม่จำเป็นอีกด้วยซึ่งจะเป็นการเพิ่มสุนัขและแมวจรจัดขึ้นไปอีกถ้าเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นจริง
ดังนั้นแล้วรัฐบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการมาจัดการเช่นยังไม่ต้องเก็บค่าขึ้นทะเบียนในปีแรกก่อนได้ไหม และกระตุ้นให้ประชาชนนำสัตว์มาขึ้นทะเบียนกันเยอะๆเสียก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐที่จะสามารถจัดเก็บข้อมูลสัตว์ในแต่ละพื้นที่ได้ว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการขึ้นทะเบียนสัตว์ได้รับความเห็นชอบกับประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลเองควรทำอย่างไรก็ได้เพื่อเอื้อประโยชน์กับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในครั้งนี้ให้มากที่สุด
แนะการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงไม่ควรทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ด้านรศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา หล่นความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงควรดำเนินการต่อ แต่เป็นการไปต่อที่ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่งทุกวันนี้ประชาชนในประเทศมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงมากพออยู่แล้วและเป็นเงินที่ค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันผู้ที่กำกับดูแลกฎหมายไม่สามารถเข้ามาควบคุมปัญหาได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นแล้วประชาชนควรมีสำนึกในกรเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ต่อชีวิตสัตว์ และต่อสังคมที่เราอยู่ด้วยเช่นกัน มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ซึ่งจะเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ให้ยั่งยืนต่อไป
ส่วนเรื่องของการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงนั้นมีการพูดถึงมานานแล้ว เป็นการทำขึ้นเพื่อแก้ไขสุนัขและแมวจรจัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแก้ไขปัญหาก็ต้องเริ่มต้นจากตัวประชาชนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้การที่ภาครัฐจะเก็บค่าขึ้นทะเบียนสัตว์ 450 บาทต่อตัวนั้นกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้ต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่ามีแนวทางไหนบ้างที่ดีกว่าการเก็บเงิน 450 บาทหรือไม่
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงของตนเองมาขึ้นทะเบียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อมูลจำนวน และภาครัฐเองจะได้ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับสุนัขและแมวตามชุมชนต่างๆ สิ่งสำคัญในการเลี้ยงสัตว์คือต้องทำให้สัตว์เลี้ยงมีความเป็นอยู่ที่ดี ถ้าผู้เลี้ยงทำไม่ได้ ควรติดต่อหน่วยงานรัฐให้มารับตัวไปดูแลแทน จะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า
หรือบางทีอาจจำเป็นต้องมีชุมชนต้นแบบเพื่อเป็นแนวทางให้ชุมชนอื่นปฏิบัติตามในการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นแนวทางให้ชุมชนอื่นปฏิบัติตาม และเมื่อเราสามารถควบคุมสัตว์ไม่ให้อยู่ตามท้องถนนได้แล้ว และมีสัตว์เข้ามาอยู่ในความดูแลของภาครัฐควรมีการจัดประเภทความสามารถของสัตว์ในแต่ละชนิดและนำไปฝึกฝนต่อยอดเพื่อนำสัตว์เหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ต่อ
ขึ้นทะเบียนสัตว์ปีแรกและสัตว์ที่ทำหมันแล้วไม่ควรมีค่าใช้จ่าย
ขณะที่ ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ เผยว่าการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงควรดำเนินการต่อ แต่ต้องทำแบบยั่งยืนไม่ก่อให้เกิดปัญหาในปลายน้ำ โดยส่วนตัวมองว่าหลายฝ่ายตกตระกอนความคิดและหาแนวทางแก้ไขปัญหากับการขึ้นทะเบียนสัตว์กันไว้แล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวอยากเห็นสัตว์ทุกตัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่แล้ว และบริบทในประเทศไทยก็ไม่เห็นด้วยกับการทารุณกรรมสัตว์เชนกัน
การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงจะช่วยลดการทารุณกรรมสัตว์ลง ขณะเดียวกันหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่ไม่อยากเสียเงินค่าขึ้นทะเบียน ดังนั้นแล้วต้องมีข้อเสนอจากรัฐบาลว่าเงินค่าขึ้นทะเบียนที่เก็บจากประชาชนจะเอาไปทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องชี้แจงให้เห็นถึงประโยชน์
จะเป็นการกระตุ้นการพาสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียนและจะเป็นการลดปัญหาสัตว์จรจัด ซึ่งตนเองมองว่าการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในปีแรกยังไม่ควรเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ และต้องรณรงค์ให้ผู้เลี้ยงทำหมันสัตว์เลี้ยงของตนก่อนพามาขึ้นทะเบียนด้วยเพื่อลดการเกิด แต่จะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้สัตว์ แต่หากสัตว์ที่ไม่ทำหมันมาขึ้นทะเบียนควรจะเก็บค่าใช้จ่าย
เพราะจะสามารถก่อให้เกิดการเกิดใหม่ได้และเป็นการเพิ่มจำนวนโดยใช้เหตุ ซึ่งอาจส่งผลถึงพ่อค้าที่เลี้ยงสุนัขและแมวไว้เพาะพันธ์ขาย สิ่งนี้ทำขึ้นเพื่อการค้าดังนั้นแล้วคนเหล่านี้จะต้องมีทุนในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องเก็บค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงกับคนกลุ่มนี้
ฟังเสียงประชาชนเพื่อนำไปแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหา
ส่วน น.สพ.สมชวน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะของกรมปศุสัตว์ขอชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับแก้ไขขึ้นมาเพราะ พ.ร.บ.ฉบับเก่ามีจุดอ่อนในเรื่องของการขอขึ้นทะเบียน จึงจำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขขึ้นมา ซึ่งสาระสำคัญคือการลดอัตราการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในพื้นที่สาธารณะ
แต่ประเด็นเรื่องการเสียค่าใช้จ่าย 450 บาท นั้นกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องนำกลับมาหารือให้เกิดความเหมาะสมกันอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้กำลังรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนเพื่อนำไปแก้ไข เช่นการขึ้นทะเบียนในปีแรกไม่ควรเก็บค่าใช้จ่าย หรือไม่เก็บค่าขึ้นทะเบียนกับสัตว์ที่ทำหมันแล้วเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจที่จะนำไปพิจารณาอีกครั้ง
ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ก็เห็นด้วยเช่นกัน แต่ว่าก็ยังต้องรวบรวมความเห็นต่อไปเพื่อนำไปแก้ไขให้ไม่เกิดผลเสียกับส่วนรวมให้ได้มากที่สุด ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านประกาศใช้ก็ยังคงต้องหารือกังองค์กรท้องถิ่นว่าจะขึ้นทะเบียนในแต่ละท้องถิ่นอย่างไรให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมสัตว์แต่ละท้องถิ่นขึ้นเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างยั่งยืน ซึ่งทางกรมปศุสัตว์จะกลับไปดำเนินการเรื่องจะขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยเร็วที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: