ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง พรรคกิจสังคมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561
ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง พรรคกิจสังคมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง โดยให้พ้นจากสภาพการเป็นพรรคการเมืองเนื่องจากมีจำนวนสมาชิกไม่ถึง 5,000 คน
ตามที่นายทองพูล ดีไพร หัวหน้าพรรคกิจสังคม มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า พรรคกิจสังคมมีสมาชิกเหลือไม่ถึง 5,000 คน ทำให้พรรคกิจสังคมเลิกพรรคตามข้อบังคับพรรคกิจสังคม จึงเป็นเหตุให้พรรคกิจสังคม สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเบื้องต้น ตามมาตรา 91 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน
ข่าวน่าสนใจ:
ปรากฏว่า นายทองพูล ดีไพร หัวหน้าพรรคกิจสังคม ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ของพรรคกิจสังคมต่อนายทะเบียนมีสมาชิกพรรคการเมือง จำนวน 8 คน ตามมาตรา 140 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเป็นเหตุให้พรรคกิจสังคมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมได้มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้ประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคกิจสังคม จึงประกาศให้พรรคกิจสังคมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
สำหรับพรรคกิจสังคมก่อตั้งขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกด้วย โดยพรรคมีสมาชิกที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ จำนวน 27,413 คน มีสาขาพรรคจำนวน 4 สาขา และได้มีการลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 ได้ ส.ส.เพียง 18 คน แต่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการสามารถพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุด โดยอภิปรายตอบโต้นโยบายของ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนในที่สุดสภามีมติไม่ให้นโยบายของรัฐบาลผ่าน พรรคประชาธิปัตย์
และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคกิจสังคมโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาเอง โดยร่วมกับพรรคเล็กพรรคน้อยต่างๆ รวมถึง 22 พรรค จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา นับเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคผสม มากที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเด่นเป็นนโยบายสาธารณะต่างๆ เช่น นโยบายเงินผันสู่ชนบท นโยบายให้รถเมล์วิ่งฟรี เป็นต้น แต่รัฐบาลเสียงผสมหลายพรรค ก็ไม่สามารถไปรอดตลอดฝั่งได้ เพราะประสบปัญหาหลายอย่าง ประจวบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ในขณะนั้นที่ยังรุ่มร้อน ในที่สุด ก็ต้องยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่
ทั้งนี้พรรคกิจสังคมมีหัวหน้าพรรคทั้งสิ้น 9 คน ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคประกอบด้วยดังนี้
1.หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (20 สิงหาคม พ.ศ. 2525 – 22 มกราคม พ.ศ. 2529) และ (2 กันยายน พ.ศ. 2533 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2534) (2 ครั้ง)
2.พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา (30 มกราคม พ.ศ. 2530 – 2 กันยายน พ.ศ. 2533)
3.นายมนตรี พงษ์พานิช (9 มิถุนายน พ.ศ. 2534 – 29 กันยายน พ.ศ. 2541)
4.นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ (29 ตุลาคม พ.ศ. 2541 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2542)
5.นายสุวิทย์ คุณกิตติ (5 มีนาคม พ.ศ. 2542 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2543)
6.นายพยุง นพสุวรรณ (9 สิงหาคม พ.ศ. 2543 – 26 เมษายน พ.ศ. 2546)
7.นายเจษฎา ตันติบัญชาชัย (26 เมษายน พ.ศ. 2546 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2547)
8.นายอรรถพล ชัยนันท์สมิตย์ (13 ธันวาคม พ.ศ. 2547 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550)
9.นายทองพูล ดีไพร (23 มีนาคม พ.ศ. 2551 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: