X

ก.แรงงาน ย้ำ ไทยส่งเสริมงานที่มีคุณค่า พร้อมสนับสนุนบทบาทไตรภาคี

“รองปลัดแรงงาน” กล่าวถ้อยแถลงการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 334 ของ ILO ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ย้ำ ประเทศไทยส่งเสริมวาระงานที่มีคุณค่า (Decent Work) สนับสนุนโครงสร้างไตรภาคีเป็นหุ้นส่วนเชื่อมโยงการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมศักดิ์ อภิวันทนกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางสาวชุลีรัตน์ ทองทิพย์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์ และนางสาววรลักษณ์ ธีรนันทากุล นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 334 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

นายสุรเดช เผยว่า หวังว่าการปฏิรูปสหประชาชาติและระบบการพัฒนาสหประชาชาติที่ ILO มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันตลอดกระบวนการจะเป็นหลักประกันต่อการบรรลุวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งเชื่อมั่นว่าการพัฒนาศักยภาพขององค์ประกอบไตรภาคีของ ILO ในระดับชาติในการเจรจาทางสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การที่องค์ประกอบไตรภาคีระดับชาติมีศักยภาพสูงขึ้นจะช่วยให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเข้มแข็งและสร้างสรรค์ในการสร้างงานที่มีคุณค่า

และจะให้หลักประกันต่อการดำเนินการที่ประสบผลสำเร็จของกรอบงานความช่วยเหลือด้านการพัฒนาของสหประชาชาติในระยะยาวต่อไป เราขอให้ ILO พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาในหน่วยงานสหประชาชาติ ภาคเอกชน และประชาสังคมต่อไป ประเทศไทยจะให้การสนับสนุนและร่วมมือในความพยายามปฏิรูปสหประชาชาติ และเราเชื่อว่าความพยายามอย่างต่อเนื่องของ ILO ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปจะให้ความมั่นใจว่าองค์ประกอบไตรภาคีจะมีบทบาทในการสร้างระบบร่วมกันที่ตอบสนองความจำเป็นได้อย่างแท้จริง และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สำหรับการที่ประชุม GB สมัยที่ 334 นั้นได้รับทราบข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการพัฒนา (United Nation Development System: UNDS) ที่ได้รับการรับรอง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 และนัยยะของข้อมติดังกล่าวต่อการดำเนินงานของ ILO โดยข้อมติดังกล่าวมีชื่อว่า “Repositioning of the United Nations development system in the context of the quadrennial comprehensive policy review of operational activities for development of the United Nations system”

ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถสนับสนุนความพยายามของประเทศสมาชิก ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และการเข้าไปมีส่วนของ ILO ในทุกขั้นตอนของการปฏิรูป UN จะช่วยให้ ILO สามารถ แสดงบทบาทได้อย่างเข้มแข็งในการดำเนินงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในระบบสหประชาชาติและประเทศสมาชิก เพื่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ILO จะต้องสร้างหลักประกันว่า โครงสร้างไตรภาคี ขององค์กรจะยังคงความสำคัญและมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาในระดับประเทศ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน