X

ทางรอดสื่อยุคใหม่…ต้องทำการบ้าน-ปรับตามคนดู

นักวิชาการ และนักนิเทศศาสตร์ ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่ายุคปัจจุบันผู้ชมมีอำนาจในการกำหนดบทบาทของสื่อมากขึ้น ชี้ผู้ผลิตสื่อต้องปรับตัวให้ทันความต้องการของคนดูหากยังอยากอยู่รอด

คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “พลังของผู้ชม กระตุกธุรกิจสื่อรอด/ร่วง?” โดยวงเสวนาประกอบด้วย นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, นายอนุวัต เฟื่องทองแดง ผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ 7HD และนายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการเว็บไซต์ The Matter ร่วมบรรยายในวงเสวนาที่มีผู้เข้าร่วมฟังกว่าร้อยชีวิต

ต้องยอมรับว่าในยุคปัจจุบันการผลิตสื่อเพื่อนำเสนอล้วนมีการแข่งขันที่สูง เพราะมีคู่แข่งที่เยอะขึ้นประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้ผู้ผลิตสื่อต้องวิ่งตามพฤติกรรมผู้บริโภค และผู้บริโภคสื่อในยุคนี้ก็มีอำนาจในการกำหนดคอนเทนต์ต่างๆ ของสื่อด้วยเช่นกัน

พลังของผู้ชมมีผลต่อการสร้างรายได้และเนื้อหาสื่อ

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า ย้อนไปในยุคที่ธุรกิจสื่อยังไม่มีการแข่งขันสูงเช่นทุกวันนี้ผู้บริโภคเป็นเพียงแค่ตัวเลขที่ใช้ประกอบการวัดเรตติ้งของรายการ รายการหนึ่งเท่านั้น ซึ่งลูกค้าหลักของสื่อในสมัยนั้นคือโฆษณา เพราะมีช่องเพียงแค่ 6 ช่อง การจะประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาอะไรล้วนต้องผ่านทีวีช่องหลักทั้ง 6 ช่องเท่านั้น

ผู้ชมจึงยังไม่มีบทบาทอะไรมากนัก แต่พอมาในยุคปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รุนแรง ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นเพราะมีช่องทางอื่นมากมายให้ผู้บริโภคเลือกเสพสื่อมากกว่าทีวีหลักทั้ง 6 ช่องในสมัยก่อนแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคค่อยๆมีอำนาจในการกำหนดสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้บริโภคจะเลือกบริโภคสื่อตามที่ตนเองชอบเท่านั้น

ขณะที่นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ กล่าวเสริมว่า หลังจากที่ผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะขึ้น เป็นการบีบบังคับให้ผู้ผลิตสื่อต้องหมั่นพัฒนาคอนเทนต์ของตนเอง ต้องใช้ทักษะต่างๆในการนำเสนอเพิ่มมากขึ้นหลายช่วงตัวเลยทีเดียว พร้อมทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกๆด้าน นอกจากนี้วิธีในการนำเสนอจะต้องต่างจากเดิมหรือคู่แข่งอีกด้วยจึงจะได้รับความสนใจ

ส่วนนายอนุวัต เฟื่องทองแดง ทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า สถานการณ์ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนดูทีวีน้อยลงมากหรือบางคนอาจไม่ได้เปิดทีวีเลยเป็นปีก็มี เพราะคนดูส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันหันไปดูคอนเทนต์ต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือกันหมดแล้ว นั่นหมายความว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว

จากประสบการณ์ที่ไปทำข่าวเด็ก 13 คนติดอยู่ภายในถ้ำหลวงที่ จ.เชียงราย มีสื่อมากมายทุกแพลตฟอร์มไปปักหลักรายงานข่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างจากในยุคเก่าอย่างมาก ที่เกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจก็จะมีแค่สื่อมวลชนจาก 6 ช่องหลักเท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่คอยรายงานข่าว

แต่ยุคปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมากการมีโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง หรือแทบเลต 1 เครื่อง ก็สามารถรายงานข่าวให้คนทั้งประเทศรับทราบได้แล้ว ซึ่งนักข่าวในลักษณะจะเป็นนักข่าวในแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่คนดูให้ความสนใจและติดตามมากกว่านักข่าวจากทีวีช่องหลัก เพราะมีการรายงานที่ไม่เป็นทางการ

ทำให้เข้าถึงคนดูได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันการมาของการรายงานข่าวแบบนี้ก็สร้างทั้งกระแสในแง่บวกและแง่ลบในเวลาเดียวกัน เพราะสามารถสร้างการสื่อสาร 2 ทางขึ้นได้ผ่านคอมเมนต์ในขณะที่กำลังรายงานข่าว ซึ่งผู้ชมก็จะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับการายงานข่าวเช่นอยากให้คนที่กำลังรายงานข่าวอยู่ทำอะไร หรือพาเดินไปดูจุดไหนก็สามารถสั่งการได้ผ่านคอมเมนต์

ซึ่งบทบาทของผู้ชมเปลี่ยนไปอย่างมาก นอกจากนี้พวกผู้ชมยังสามารถตำหนิหรือชื่นชมผู้ประกาศได้แบบทันทีทันใด และเกิดเป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวได้ทันทีอีกด้วย นี่คือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ชมในยุคนี้เป็นผู้ที่มีอำนาจกำหนดสื่อได้อย่างแท้จริง

ผู้ชมฉลาดมากขึ้น สื่อต้องทำการบ้านหนักตาม

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ เผยว่า สิ่งที่มีอำนาจในการทำลายล้างในยุคปัจจุบันคือการแคปหน้าจอและแชร์ทันที นี่คือพลังของผู้บริโภคในยุคนี้ กลายเป็นว่าผู้บริโภคในยุคนี้ฉลาดขึ้นมาก และหาข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นดาบสองคมที่บางครั้งมันก็สามารถทำร้ายคนที่อยู่หน้าจอได้เช่นกัน โดยที่ผู้บริโภคยุคนี้พร้อมจะจับผิดทุกอย่างตลอดเวลาและเลือกที่จะแชร์ทันทีเพื่อให้เกิดกระแสดราม่า

ส่วนนายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ กล่าวว่า ผู้ชมเปลี่ยนพฤติกรรมไปมากในยุคนี้ กลายเป็นว่าพวกเขาไม่ได้เสพข่าวอย่างเดียว แต่บางทีกลายเป็นว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลผู้ผลิตสื่ออีกต่างหาก และทำให้เกิดคอนเทนท์ใหม่ๆขึ้นด้วย แต่ข้อเสียก็ยังมีเช่นผู้บริโภคมักชอบตำหนิอะไรเล็กน้อย เช่นคำเขียนผิดก็อาจโดนคอมเมนต์ต่อว่าให้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้เช่นกัน

ด้านนายอนุวัต เฟื่องทองแดง เสริมว่า ปัจจุบันฝั่งทีวีกำลังเจอกับวิกฤติเพราะมีข้อจำกัดทาง กบว. เยอะมาก แต่ทางออนไลน์มีการนำเสนอที่อิสระกว่า ซึ่งจริตของผู้ชมชอบความอิสระมากกว่าอยู่ในกฏเกณฑ์ข้อบังคับอยู่แล้ว จึงเป็นจุดที่ออนไลน์ได้รับความนิยมมากกว่าทีวีในยุคนี้ ผู้ชมหันไปเสพคอนเทนต์ออนไลน์กันเยอะขึ้นหลายเท่าตัว

โฆษณาเองก็เปลี่ยนเป้าวิ่งไปหาออนไลน์มากขึ้น ทำให้ทีวีขาดทุนอย่างที่เห็น และเกิดการรัดเข็มขัดขึ้น ดังนั้นแล้วคอนเทนต์ดีๆในทีวีก็ลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อน เพราะค่าเวลาในช่องทีวีเท่าเดิม แต่ไปขายให้เอเจนซี่กลับได้ราคาที่น้อยลง ทำให้ทีวีค่อยๆล้มจากพฤติกรรมของผู้ชมซึ่งเป็นปัจจัยหลักนั่นเอง

ปลาเล็กเริ่มกินปลาใหญ่

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ หล่นความเห็นไว้ว่า ผู้บริหารสื่อใหญ่กำลังเจอวิกฤติ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ผู้ทำสื่อขนาดเล็กได้สร้างรายได้ เช่นยูทูป หรือ เฟซบุ๊ค ที่มีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าหลายเท่าตัวนัก ทำให้ทีวีเกิดอาการขาดทุนและต้องอยู่รอดด้วยการประหยัดทุกอย่างหนึ่งในนั้นคือการเลย์ออฟพนักงาน ให้เห็นกันเยอะแยะในยุคปัจจุบัน

ยังเป็นคำถามว่าออนไลน์จะไปได้ไกลไหม

ด้านนายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ เปิดเผยว่า หลายคนมองว่าคอนเทนท์ออนไลน์เป็นโอกาส แต่การนำเสนอของสื่ออนไลน์ยุคนี้ต่างพึ่งพิงเฟซบุ๊ค ซะส่วนใหญ่ ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมา เฟซบุ๊คก็ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนมาแล้วเมื่อปรับลดการมองเห็นโพสของสำนักข่าว หรือเพจต่างๆ ที่ใช้เฟซบุ๊คดึงคนเข้าอ่าน

ทำให้ผู้ผลิตสื่อเองก็ต้องคอยปรับเปลี่ยนนโยบายของตัวเองให้สอดรับกับการมองเห็นของเฟซบุ๊คที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ทำให้การเข้าถึงของผู้ชมไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ต้องปรับตัวตลอดเวลาเพราะต้องไปพึ่งแพลตฟอร์มที่ตนเองไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย ทำให้ยังเป็นคำถามว่าในระยะยาวออนไลน์จะไปได้ไกลไหม

ทางรอดธุรกิจสื่อทีวี

นายอนุวัต เฟื่องทองแดง เปิดเผยว่าสื่อทีวีในยุคปัจจุบันเริ่มปรับตัวกันมากขึ้น เช่นมีแพลทฟอร์มคู่ขนานให้ผู้ชมสามารถติดตามได้อีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเปิดทีวี และยังเป็นตัววัดกระแสโดยสามารถทำการสื่อสาร 2 ทางกับผู้ชมได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการปรับตัวเบื่องต้นในยุคปัจจุบัน

ส่วนนายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ หล่นความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า วันนี้พลังของผู้บริโภคมีมากขึ้นและผู้ผลิตสื่อเริ่มเอาผู้บริโภคมาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งความชอบของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ผลิตสื่อต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นสื่งที่เหนื่อยมากแต่ก็ต้องทำไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน