X

“นักวิชาการ-ผู้ค้า”เรียกร้องรัฐบาลฟังเสียงหาบเร่แผงลอย

คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนานำนักวิชาการและผู้ค้าหาบเร่แผงลอยร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาหาบเร่ในกรุงเทพมหานคร ชี้นโยบายเปลี่ยนบ่อย อัดรัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหา เรียกร้องฟังเสียงผู้ค้าก่อนออกนโยบาย

คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ”จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยร่วมกันคิดสู่แนวทางปฏิบัติ” โดยวงเสวนาประกอบด้วยนายประภาส ปิ่นตบแต่ง ตัวแทนสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ, นางสาวพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงาน, นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ตัวแทนศูนย์การออกแบบและพัฒนาผังเมือง และนายณัฏฐ์ดนัย กุลธัชยศนันต์ ตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจากย่านสีลม ร่วมวงเสวนา

รัฐควรมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้

นางสาวพูลทรัพย์ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานได้ศึกษาข้อมูลของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมาตั้งแต่ปี 60 และก็รู้ว่ามีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยจากรัฐบาลทำให้ผู้ค้าได้ผลกระทบที่รุนแรงจากนโยบายดังกล่าว ทางมูลนิธิจึงได้เร่งศึกษาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งต้องย้อนไปในปี 57

ได้มีนโยบายคืนทางเท้าให้ประชาชนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความเดือดร้อนของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจำนวนมาก ซึ่งหลังเกิดปัญหาดังกล่าวเหล่าผู้ค้าได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มในแต่ละพื้นที่เพื่อกดดันให้กรุงเทพมหานครหาทางออกให้กับพวกเขา และในวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี

และก็ได้คำคอบว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาหาบเร่แผงลอยแล้ว แต่ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นยังไม่เคยมีการประชุมหารือกำหนดนโยบายแนวทางการแก้ไขปัญหาเลย ส่งผลให้วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ทำจดหมายไปยังกรุงเทพมหานคร

เพื่อผ่อนปรนให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยได้ค้าขายยังพื้นที่เดิมของแต่ละคนไปก่อนจนกว่าจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยส่วนตัวคิดว่าประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือรัฐบาลจะต้องมีความจริงใจที่จะรับฟังปัญหาของประชาชนจริงๆ เสียก่อน ซึ่งทางผู้ค้ามีความหวังอยากให้ทางรัฐบาล

จัดพื้นที่ให้พวกเขาใช้ประกอบการค้าขายเพื่อที่จะสามารถมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ โดยทางผู้ค้าไม่ได้ปฏิเสธการจัดระเบียบของรัฐบาล แต่อยากให้ออกข้อกำหนดที่ชัดเจนและมีพื้นที่สำหรับรองรับที่จะค้าขายได้ เพราะที่กรุงเทพมหานครมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกว่า 3 แสนคน โดยการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยผู้ค้ามีความเห็นที่อยากให้รัฐบาลหาทางแก้ไขในระยะยาวมากกว่า

นโยบายควบคุมมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป

ขณะที่นายอดิศักดิ์ กล่าวเสริมว่า พื้นที่ทางเท้านั้นถูกตีความหมายว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้พื้นที่สาธารณะดังกล่าวถูกใช้งานได้อย่างเหมาะสมและหลากหลายมากขึ้น โดยที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้โดยอยู่ในกฎระเบียบที่มีการควบคุมจัดการอย่างสอดคล้องกัน

ถ้ามองบริบทของหาบเร่แผงลอยในเมืองไทยก็เปรียบได้กับเหรียญ 2 ด้าน ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น ถ้ามีหาบเร่แผงลอยก็จะทำให้บางพื้นที่ไม่เกิดความเปลี่ยว และยังเป็นแหล่งเติมเต็มความเป็นท้องถิ่นของที่นั้นๆ อีกด้วย ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมไปถึงคนไทยออกมาจับจ่ายกันง่ายขึ้น

ส่วนฝั่งที่เป็นด้านลบอาจจะเป็นบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม ซึ่งมีหาบเร่แผงลอยอยู่ด้านล่างสถานีหนาแน่นมาก ในกรณีที่บนสถานีเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้หรือใดๆ ที่ต้องมีการอพยพคนลงมาข้างล่างอย่างรวดเร็ว และบางทีอาจเกิดความแตกตื่นของผู้ประสบเหตุ ทำให้เกิดอันตรายจากความหนาแน่นของร้านค้าที่อยู่ด้านล่างด้วยก็ได้

เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ฉะนั้นเราจึงต้องมาหาแนวทางประยุกต์สิ่งต่างๆเหล่านี้และใช้งานให้สอดคล้องกับสภาพเมืองในปัจจุบันให้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะจัดการสิ่งเหล่านี้คือนโยบายการจัดการ ซึ่งที่ผ่านมานโยบายในการจัดการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในชั่วข้ามคืน และมักให้ความสำคัญกับเรื่องประชานิยมมากกว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาว

สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเชื่อถือได้ นี่คือความยากในการจัดการ แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากหาบเร่ แผงลอยเพราะพื้นที่เดินเท้ามีพื้นที่เพียง 1.5 เมตรเท่านั้น และก็มีหาบเร่มาขวางทางแคบๆนี้อีก แต่ความจริงแล้วเราควรให้พื้นที่ทางเท้ามากกว่า 1.5 เมตร

เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทวงทางเท้าคืนจากหาบเร่แผงลอย แต่ต้องเอาพื้นที่จากถนนมาใช้เป็นทางเท้าได้ แต่จากการสังเกตการแก้ไขปัญหาคือกฎหมายมักไม่สอดคล้องกันและไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น การไล่รื้อ หรือการนำหาบเร่ออกไปเลย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เพราะการทำแบบนั้นเป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น เพราะถ้าไล่วันนี้เขาก็ไปขายที่อื่นหรืออาจลักลอบขายที่เดิมอยู่ดี แต่ภาพลักษณ์ที่คนมองหาบเร่ในเชิงลบคือ เอาเปรียบสังคม ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นบ่อเกิดของความสกปรก และเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราต้องร่วมจัดการไปด้วยกัน

ผู้ค้าขอโอกาสพร้อมปรับตัว

ขณะที่นายณัฏฐ์ดนัย เปิดเผยว่า การบริหารงานของภาครัฐยังคงขาดวิสัยทัศน์และไม่เป็นมืออาชีพ ซึ่งหาบเร่แผงลอยมีมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ถูกจัดระเบียบให้เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับจริงๆเสียที ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร มักนำเอานโยบายของรัฐบาลมาบังคับใช้กับหาบเร่แผงลอย

พอเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายการจัดการก็ถูกเปลี่ยนตามของรัฐบาลใหม่ที่เข้ามา ทำให้เหล่าผู้ค้าต้องคอยปรับตัวตามนโยบายอยู่เสมอ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ขณะที่นโยบายการจัดระเบียบของ คสช.ก็เปรียบดั่งการไล่ผู้ค้าออกจากพื้นที่ โดยนำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดในปี 59

ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรัฐบาลไม่จัดระเบียบอย่างจริงจัง พอถามเจ้าหน้าที่ก็ได้คำตอบว่าหาบเร่แผงลอยเป็นตัวก่อให้เกิดสิ่งสกปรก ซึ่งนโยบายของรัฐคือการจัดการพื้นที่ ซึ่งการนำผู้ค้าออกไปเลยคือวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดเพราะไม่ต้องเสียเวลามาดูแลหรือจัดการใดๆทั้งนั้น

แต่ทางผู้ค้าก็หวังว่าจะได้กลับมาทำการค้าขายอีกครั้งโดยมีการรวมกลุ่มกันของผู้ค้า และมีการกำหนดกรอบว่าจะไม่ขวางทางเท้า และก่อให้เกิดสิ่งสกปรก เพื่อที่จะทำให้ได้มีอาชีพอีกครั้ง ซึ่งทางผู้ค้าอยากจะขอร้องรัฐบาลให้โอกาสกับผู้ค้าอีกครั้ง ซึ่งผู้ค้าทั้งหมดพร้อมปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน

รัฐบาลควรร่วมแก้ไขปัญหากับผู้ค้า

ส่วนนายประภาส เผยว่า ที่ผ่านมาผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต่อสู้กันมาอย่างยาวนานซึ่งก็เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีอาหารบริโภคในราคาถูก ซึ่งทางรัฐบาลควรมาร่วมหาทางออกกับผู้ค้า ไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งให้พวกเขาออกไปอย่างเดียว สถานการณ์ปัจจุบันเราอยู่กันในบริบทแบบใหม่ แต่ผู้บริหารประเทศยังคงมองอะไรแบบเดิมๆ อยู่

เมืองปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมากเชื่อมโยงกับทุนนิยมมากขึ้น และสิ่งที่ผู้ค้าเรียกร้องมานั้นมันแสดงให้เห็นว่าเมืองสลับซับซ้อนมาก สิ่งเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องใหญ่มากด้วยเช่นกัน ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญซึ่งผู้คนในเมืองต่างได้รับผล กระทบด้วยกันทั้งนั้น มีการไล่รื้อ ไล่ถอนพื้นที่ต่างๆมากมาย

ธุรกิจการค้าขายที่ต้องการพื้นที่จึงเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยสิ่งผ่อนผันต่างๆที่รัฐบาลเสนอ ทุกคนถูกลิดรอนสิทธิการใช้พื้นที่ ซึ่งการเข้าใจต่อชีวิตที่สัมพันธ์ของผู้คนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง และต้องสร้างสังคมการเจรจาแบบเสมอภาคให้เกิดขึ้นให้ได้

เพื่อหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะปัญหาไม่ได้ถูกจัดการโดยการฟังปัญหาจากเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งกรณีแผงลอยคือตัวอย่างชั้นดีในการร่วมกันจัดการผังเมือง ซึ่งมีคนจำนวนมากที่ถูกลดทอนสิทธิจากนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ได้มองเห็นวิถีชีวิตความยากลำบากของประชาชนเป็นที่ตั้งในการกำหนดกรอบนโยบาย หรือการแก้ไขปัญหาต่างๆเลย

แนะแนวทางแก้ไขปัญหา

ส่วนนายอดิศักดิ์ ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า เรามีการนำเสนอการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยกัน 2 วิธี คือ 1.ทำแผงลอยอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการใช้การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหา และเปลี่ยนลักษณะรถเข็นที่ออกแบบมาตั้งแต่ 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่รัฐบาลมองว่าล้าหลัง

ซึ่งการออกแบบที่ดีจะช่วยจัดการเรื่องปัญหาความปลอดภัย ความสะอาด จากหาบเร่แผงลอยได้ เพราะสามารถใส่นวัตกรรมต่างๆเข้าไปจัดการได้ หรือแม้กระทั่งคิดค้นเมนูที่ทำให้สามารถเดินรับประทานโดยไม่ต้องนั่ง ก็จะเป็นการจัดการลดพื้นที่ลงได้อีกด้วย

และข้อ 2 คือ การบริหารพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ควรรวมตัวกันเช่าพื้นที่ที่มีแนวทางการจัดการที่ดี โดยมี 3 พื้นที่นำร่องอย่างบริเวณซอยอารีย์ ถนนข้าวสาร และปากซอยอ่อนนุช 70 ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่มีลักษณะที่ต่างกันออกไป โดยจะได้ทฤษฎีแก้ไขให้พื้นที่อื่นนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้คนเดินทางเท้าและหาบเร่แผงลอยได้เป็นอย่างดี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน